ภัยเงียบของอาการปวดศีรษะ

โดยทั่วไป อาการปวดศีรษะและมึนงง อาจเกิดจากสาเหตุโดยตรงจากความผิดปกติของระบบสมองและประสาท ซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับการรักษาโดยอายุรแพทย์ระบบประสาท แต่มีอีกหลายกรณีที่ไม่พบความผิดปกติของสมองและระบบประสาท อาการข้างต้นมักเกิดจากความแข็งเกร็งของระบบกล้ามเนื้อ คอ ไหล่ และศีรษะ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้วิธีการรักษาด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัดร่วมด้วย

การรักษาโดยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด มีจุดประสงค์เพื่อปรับระบบกล้ามเนื้อคอ ไหล่ และศีรษะให้เกิดการสมดุล ไม่แข็งเกร็งจนก่อให้เกิดการปวดศีรษะและมึนงง โดยอาจใช้ร่วมกับยาหรือไม่ก็ได้

การรักษาดังกล่าวประกอบด้วยวิธีการต่อไปนี้

1.กรณีที่มีอาการไม่มากและเพิ่งเป็นไม่นาน แพทย์มีวิธีรักษาโดยใช้อัลตราซาวด์ในการบำบัดคลายกล้ามเนื้อที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการปวดหัว ปวดตึงต้นคอ บ่า ไหล่ และมึนศีรษะ การรักษาโดยวิธีนี้ มีความจำเป็นต้องทำหลายครั้งและต่อเนื่อง เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว

2.กรณีที่มีอาการมากและเป็นมานานเรื้อรัง แพทย์จะใช้การปรับสมดุลของกล้ามเนื้อ โดยใช้การลงเข็ม (Dry needing) ซึ่งเป็นการรักษาในแนวแพทย์แผนปัจจุบันเพื่อคลายกล้ามเนื้อชั้นที่ลึกๆ โดยใช้ในกรณีที่การคลายกล้ามเนื้อโดยอัลตราซาวด์ไม่ได้ผลอย่างที่คาดหวัง การลงเข็มสามารถเข้าถึงจุดปมกล้ามเนื้อ (Trigger point) อยู่ลึกๆ ที่เป็นตัวการทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ปวดตึงต้นคอ บ่า ไหล่ และมึนศีรษะ ซึ่งมักจะอยู่ลึกมาก เกินกว่าที่อัลตราซาวด์จะสามารถเข้าถึงได้

การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเพื่อไม่ให้กลับมามีอาการปวดศีรษะและมึนงงอีก ควรทำดังนี้

  1. การยืดเส้นยืดสายกล้ามเนื้อบ่อยๆ เป็นการป้องกันภาวะกล้ามเนื้อหดรัดและแข็งเกร็งช่วยให้กล้ามเนื้อชั้นตื้นๆ คลายตัว เพิ่มความยืดหยุ่นของข้อต่อของร่างกาย
  2. หลีกเลี่ยงท่าทางที่ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหดรัดและแข็งเกร็ง เช่น ไหล่ห่อ นั่งชะโงกหน้า (หรือนั่งศีรษะยื่น) นั่งเอียงข้างใดข้างหนึ่งเป็นเวลานานๆ ยืนลงน้ำหนักขาเดียวเป็นประจำ สะพายกระเป๋าหนักๆ เป็นเวลานาน ฯลฯ