“บิ๊กตู่” ทุ่มหมื่นล้าน ส่งท้ายปี กระตุ้นเศรษฐกิจทุกชนชั้น

แพ็กเกจช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาลทหาร-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถูกขั้วการเมืองนักเลือกตั้งดาหน้าถล่ม จนหัวหน้ารัฐบาล-พล.อ.ประยุทธ์ ต้องออกมาแก้ต่าง-แก้ตัว

“ขอร้องว่ามาตรการดังกล่าวอย่าใช้คำว่า รัฐบาลแจกเงิน เป็นมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย…ในส่วนของมาตรการวันขึ้นปีใหม่นั้น ต้องรอฟังอีกครั้ง ทั้งเรื่องการจับจ่ายใช้สอย การท่องเที่ยว การใช้จ่ายเงินในการซื้อของ จะมีการประกาศออกมา”

มาตรการที่ออกมาก่อนหน้านี้มีทั้งการต่ออายุรถเมล์-รถไฟฟรีอีก 6 เดือน หรือสิ้นสุดในเดือนเมษายน 2560 และขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในรอบ 4 ปี 5-10 บาท จำนวน 69 จังหวัด เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 60

ทั้งมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยกว่า 5.4 ล้านคน วงเงินรวม 12,750 ล้านบาท แบ่งออกเป็นผู้มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี คนละ 3,000 บาท จำนวน 3.1 ล้านคน วงเงิน 9,300 ล้านบาท ผู้มีรายได้ตั้งแต่ 30,000 บาทต่อปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี คนละ 1,500 บาท จำนวน 2.3 ล้านคน วงเงิน 3,450 ล้านบาท

โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย โอนเงินเข้าบัญชีผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนตามโครงการรัฐสวัสดิการ ระหว่างวันที่ 1 ธ.ค.-31 ธ.ค. 59

ก่อนหน้านี้รัฐบาลออกมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อยกว่า 2.9 ล้านคน เช่นกัน โดยผู้ที่ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี จะได้รับเงินโอน 3,000 บาทต่อคน และผู้ที่มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี จะได้รับเงินโอน 1,500 บาทต่อคน

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการดูแลผู้สูงอายุ 4 มาตรการ อาทิ 1.การจ้างงานผู้สูงอายุ โดยนายจ้าง บริษัท ห้างหุ้นส่วน นิติบุคคล สามารถนำมาหักภาษีเงินได้นิติบุคคลจากรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายประเภทเงินเดือน หรือค่าจ้างบุคคลผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่มีค่าจ้างไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน 2.การสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุบนที่ราชพัสดุ 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี นครนายก เชียงราย เชียงใหม่ และบนพื้นที่อื่น ๆ ที่การเคหะแห่งชาติ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ได้พิจารณาแล้วว่ามีความเหมาะสม คิดค่าเช่าอยู่ที่ 1 บาทต่อตารางวาต่อเดือน ระยะเวลาเช่าได้เป็นเวลา 30 ปี และสามารถต่ออายุได้อีก 30 ปี

รวมถึงสนับสนุนสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรนของธนาคารออมสิน และ ธอส. แก่ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการพัฒนาโครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Prefinance) วงเงินรวมไม่เกิน 4,000 ล้านบาท 3.สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ โดยให้ผู้สูงอายุนำสินทรัพย์ที่ตนมีกรรมสิทธิ์มาเปลี่ยน (จำนอง) เป็นรายได้เพื่อใช้ในการดำรงชีวิต

นอกจากนี้ ในช่วงปลายปีกระทรวงการคลังเตรียมแพ็กเกจ “ช้อปช่วยชาติภาค 2” เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของคนชั้นกลาง-สูง ไตรมาสสุดท้ายของปี และเป็นของขวัญในช่วงเทศกาลปีใหม่ประกอบด้วย มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวได้ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท

มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ จากผู้ประกอบกิจการจดทะเบียนภาษี VAT ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท

มาตรการยกเว้นภาษีเพื่อสนับสนุนการค่าซื้อสินค้าประเภทเครื่องใช้สำอาง และน้ำหอม (ช็อปปิ้งพาราไดส์) เป็นมาตรการทางภาษีที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ด้วยการยกเว้นภาษีศุลกากรและภาษีสรรพสามิต 

หากเป็นสินค้านำเข้ามาจำหน่ายภายในประเทศ ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีจากกรมศุลกากรให้เหลือ 0% แต่หากเป็นการผลิตภายในประเทศก็จะได้รับการยกเว้นภาษีในอัตราเดียวกัน

ไม่รวมมาตรการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรปลูกข้าว ทั้งข้าวขาว ข้ามหอมมะลิ และข้าวเหนียว ไม่ต่ำกว่าตันละ 13,000 บาท วงเงินเบ็ดเสร็จ 41,090 ล้านบาท

มาตรการแจกเงิน-จำนำยุ้งฉางของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ถึงแม้จะถูกมองว่าเป็นนโยบายประชานิยม ไม่ต่างจากรัฐบาลทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ แม้กระทั่ง “เช็คช่วยชาติ” สมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ทว่าแตกต่างกันที่ทุกชนชั้นได้อานิสงส์กันถ้วนหน้า