รู้ไว้ใช่ว่า แบรนด์ OTOP ออนไลน์ สร้างได้ไม่ยาก ทำได้ภายใน 4 ขั้นตอน

รู้ไว้ใช่ว่า แบรนด์ OTOP ออนไลน์ สร้างได้ไม่ยาก ทำได้ภายใน 4 ขั้นตอน

คำว่า OTOP หรือ โอท็อป เป็นชื่อที่มาจากภาษาอังกฤษคำว่า One Tambol One Product หรือที่แปลว่า หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ เป็นสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่นที่โดดเด่นของแต่ละหมู่บ้านหรือตำบลนั้นๆ ซึ่งเรามักจะเห็นสินค้าประเภทนี้มาออกบู๊ธขายตามงานมหกรรมต่างๆ เป็นจำนวนมาก

การจะมาเป็นแบรนด์โอท็อป ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน เพราะผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับทุกรายละเอียด รวมถึงการทำการตลาดต่างๆ เพื่อให้แบรนด์ไปต่อได้ และยิ่งการซื้อขายบนโลกออนไลน์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ผู้ประกอบการสินค้าโอท็อปเอง ก็คงมองเห็นโอกาสในการขายเช่นกัน

แต่จะทำให้แบรนด์โอท็อปแบบออฟไลน์ เข้าสู่ตลาดออนไลน์ นั้นทำอย่างไรล่ะ? หนังสือ SMEs : Speed Up To The New Game (สสว.) ได้เผยแพร่ข้อมูลที่น่าสนใจ เกี่ยวกับขั้นตอนในการสร้างแบรนด์โอท็อปออนไลน์ ไว้ด้วยกัน 4 ข้อ ดังนี้

  1. การกำหนดภาพลักษณ์ของแบรนด์ : ผู้ประกอบการต้องระบุจุดขายที่แตกต่าง เช่น สินค้ามีการใช้วัสดุคุณภาพ สุดพิเศษจากยอดเขาหิมาลัย เป็นต้น นอกจากนั้น ควรระบุจุดเหมือนและจุดต่างจากแบรนด์คู่แข่งด้วย รวมถึงการเชื่อมโยงแบรนด์ ทำอย่างไรให้ลูกค้ารู้ว่า นี่คือสินค้าของแบรนด์เรา เช่น หากพูดถึงสิ่งนี้ ต้องนึกถึงแบรนด์เรา (ความหลากหลาย ความสดใหม่ ราคาถูกแต่ดี เป็นต้น)
คู่แข่ง ปัจจัยเหมือนคู่แข่ง ปัจจัยต่างจากคู่แข่ง
สินค้า A 1. ราคา  2. สินค้า 1. ความหลากหลาย  2. ความสะดวก
สินค้า B 1. ราคา  2. สินค้า   3. ความหลากหลาย 1. ความสะดวก

 

2. การออกแบบโปรแกรมทางการตลาด เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์ของแบรนด์ : ได้แก่ การสร้างองค์ประกอบของแบรนด์ อาทิ ชื่อแบรนด์ ชื่อที่ใช้ในออนไลน์ โลโก้และสัญลักษณ์ คาแร็กเตอร์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ และสโลแกน รวมถึงการออกงานแสดงสินค้า กิจกรรมเพื่อสังคม ก็เป็นอีกช่องทางที่ไม่ควรมองข้าม รวมถึงการสื่อสารแบรนด์ที่ชัดเจน เช่น การออกแบบและเผยแพร่สื่อโฆษณา การกำหนดคีย์เวิร์ดที่ใช้ เพื่อการค้นหาในกูเกิ้ล เป็นต้น

3. การวิจัยและวัดผลงาน : เป็นขั้นตอนการสำรวจยอดขาย ยอดวิว ยอดการแชร์เนื้อหาจากหน้าเว็บไซต์ รวมถึงการสอบถามความพึงพอใจหลังจากการใช้บริการจากร้านค้า

4. การพัฒนาแบรนด์อย่างต่อเนื่อง : แบ่งเป็น 2 ข้อย่อย คือ 4.1 การสรรหาหรือออกแบบสินค้าใหม่ๆ ซึ่งอาจจะมีแบรนด์ย่อยสำหรับสินค้าแต่ละประเภท  4.2 การปรับภาพลักษณ์ใหม่ เพื่อความทันสมัย โดยผ่านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น