ผู้ประกอบการรู้ไว้ 5 เทคนิค เลือกช่องทางขายอย่างไร ให้เหมาะกับสินค้า

ผู้ประกอบการรู้ไว้ 5 เทคนิค เลือกช่องทางขายอย่างไร ให้เหมาะกับสินค้า

คนทำธุรกิจใครๆ ก็อยากขายดิบขายดีกันทั้งนั้น ซึ่งการเพิ่มช่องทางการขายก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการขายให้ผู้ประกอบการได้ เพราะยิ่งมีช่องทางการขายมากเท่าไหร่ ก็เท่ากับเพิ่มโอกาสให้ผู้บริโภคเห็นและซื้อสินค้าของเรา แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีผู้ประกอบการอื่นมากมายที่คิดแบบเดียวกัน

เว็บไซต์ ธนาคารกสิกร ได้แนะนำเคล็ดลับการเลือกช่องทางที่เหมาะกับสินค้าแต่ละธุรกิจเอาไว้ 5 ข้อ ดังนี้

1. รู้ว่าสินค้าของตัวเองเหมาะกับลูกค้าแบบไหน นั่นก็เพราะการกำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของธุรกิจให้ชัดเจนจะช่วยกำหนดแนวทางในการทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น ช่วยให้ผู้ประกอบการรู้ว่าควรทำอะไร เพื่อใคร และทำอย่างไร เช่น สินค้าเพื่อสุขภาพ ลูกค้าเป้าหมายของเราก็คือคนที่รักสุขภาพ ดังนั้น วัตถุดิบก็ควรเป็นส่วนผสมที่ดีต่อสุขภาพ บรรจุภัณฑ์ต้องสื่อถึงการมีสุขภาพดี ช่องทางการขายก็ต้องเป็นร้านที่ลูกค้าของเราจะไปเลือกซื้อสินค้า แล้วยังรวมไปถึงช่องทางในการทำตลาดและช่องทางสื่อสารกับลูกค้าด้วย ดังนั้น หากผู้ประกอบการรู้ว่าสินค้าของตัวเองเหมาะกับใคร ก็จะมีแนวทางในการทำธุรกิจชัดเจนขึ้นนั่นเอง

2. รู้จักกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของช่องทางจัดจำหน่าย นอกจากผู้ประกอบการจะต้องรู้จักลูกค้าเป้าหมายของตัวเองแล้ว ก็ต้องรู้จักลูกค้าเป้าหมายของช่องทางการขายที่เราสนใจจะนำสินค้าของเราเข้าไปวางขายด้วย ว่าใช่ลูกค้ากลุ่มเดียวกันหรือไม่ เพราะถ้าหากไม่ใช่ลูกค้ากลุ่มเดียวกัน นั่นแสดงว่าสินค้าของเราไม่เหมาะสมจะวางขายในช่องทางจัดจำหน่ายนั้น โดยวิธีที่จะรู้จักกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของช่องทางก็คือ ผู้ประกอบการควรไปเดินสำรวจดูสถานที่จริง ดูสินค้าที่วางขายในช่องทางจัดจำหน่ายนั้นๆ แล้วลองพิจารณาดูว่าสินค้าของเราเหมาะจะวางเอาไว้ตรงไหนบนชั้นวาง และสังเกตพฤติกรรมของผู้บริโภค เป็นต้น

3. อายุสินค้านานเท่าไหร่ เนื่องจากในการนำสินค้าเข้าไปขายในแต่ละช่องทางจัดจำหน่ายนั้น ต้องมีระยะเวลาตั้งแต่การขนส่งไปจนถึงลูกค้าบริโภคสินค้า ทำให้ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงการเลือกช่องทางที่จะนำสินค้าไปขาย ซึ่งต้องมีระยะเวลาสัมพันธ์กับอายุของสินค้าด้วย เช่น ผักและผลไม้สด ต้องมีการขนส่งที่รวดเร็ว ระยะทางในการไปถึงจุดขายควรสั้นที่สุด เพื่อให้สินค้าคงความสดใหม่เอาไว้ให้ได้ หรือถ้าเป็นน้ำผลไม้แปรรูปบรรจุขวด หากสนใจจะวางขายในโมเดิร์นเทรดควรมีอายุสินค้ามากกว่า 12 เดือน เป็นต้น

4. บรรจุภัณฑ์เหมาะสม คือ มีความเหมาะสมกับช่องทางการขายที่เราสนใจนำสินค้าเข้าไปขาย ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์ความสวยงามที่เหมาะสม เช่น ช่องทางจัดจำหน่ายที่มีตำแหน่งทางการตลาด (Positioning) เป็นระดับพรีเมี่ยม มีลูกค้าเป้าหมายเป็นกลุ่มไฮเอนด์ที่มีกำลังซื้อ ลักษณะบรรจุภัณฑ์ของสินค้าก็ควรมีความสวยงาม ดูหรูหรามีราคา เพราะหากบรรจุภัณฑ์ดูไม่เหมาะสม ก็ยากที่ฝ่ายจัดซื้อจะเลือกสินค้านั้นเข้าไปวางขาย

นอกจากนี้ ขนาดของบรรจุภัณฑ์ก็เป็นอีกเรื่องที่ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญ เช่น ช่องทางการจำหน่ายที่เป็นร้านสะดวกซื้อ ขนาดของบรรจุภัณฑ์ก็ควรมีขนาดเล็ก ไม่ใช่ขนาดใหญ่ที่ใช้กันทั้งครอบครัว เพื่อให้เหมาะสมกับพฤติกรรมของลูกค้าที่เข้าไปซื้อสินค้าในร้านสะดวกซื้อ รวมถึงบรรจุภัณฑ์ต้องสามารถป้องกันความเสียหายหรือช่วยยืดอายุให้แก่สินค้าได้ เช่น เครื่องดื่มที่บรรจุในขวดแก้ว อาจทำให้สินค้าดูมีราคา แต่ก็เสียหายระหว่างขนส่งง่าย ผู้ประกอบการอาจต้องมีการออกแบบลังที่ใช้ขนส่งเป็นพิเศษ หรือเปลี่ยนวัสดุจากขวดแก้วเป็นขวดพลาสติกสี่เหลี่ยมที่มีดีไซน์ให้ความรู้สึกเทียบเท่าขวดแก้ว แต่ขนส่งง่ายและสามารถจัดเรียงให้ประหยัดพื้นที่ในการขนส่งได้ เป็นต้น

5. ศึกษาเงื่อนไขค่าใช้จ่ายให้ครบถ้วน เนื่องจากการนำสินค้าเข้าไปขายในช่องทางการขายนั้นมีค่าใช้จ่ายที่ผู้ประกอบการต้องนำมาคำนวณเป็นต้นทุนให้ครบถ้วนก่อนจะเสนอราคาไปให้ฝ่ายจัดซื้อของช่องทางการขายพิจารณา โดยเงื่อนไขค่าใช้จ่ายของช่องทางจัดจำหน่ายแต่ละแห่งก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป แต่ค่าใช้จ่ายหลักๆ ก็จะประกอบไปด้วย ค่าเปิดบัญชีหรือค่าแรกเข้า ค่าชั้นวางสินค้า รายได้จากการขายสินค้า (GP) ค่ากระจายสินค้า (DC) ค่ากิจกรรมการตลาด ค่าสินค้าคืน และที่สำคัญ ผู้ประกอบการต้องพิจารณาเงื่อนไขเครดิตเทอมของช่องทางการขายด้วยว่าสัมพันธ์กับวงจรเงินสดของธุรกิจหรือไม่ ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ผู้ประกอบการต้องนำมาคำนวณให้ครบก่อนตั้งราคา และพิจารณาว่าคุ้มทุนที่จะนำสินค้าเข้าไปขายหรือไม่

หากผู้ประกอบการเลือกช่องทางการขายที่เหมาะสมกับสินค้าของเรา ก็เท่ากับเพิ่มโอกาสที่จะชนะใจฝ่ายจัดซื้อ นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มโอกาสในการขาย เพราะสินค้าของเราจะถึงมือกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เราตั้งเอาไว้จริงๆ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรใส่ใจในการเลือกช่องทางการขายสักนิด เพราะสุดท้ายแล้วคนที่ได้ประโยชน์ไปเต็มๆ ก็คือผู้ประกอบการนั่นเอง