เผยแพร่ |
---|
เศรษฐกิจตะวันออกชะงัก ท่องเที่ยวหายวูบ -อีอีซียังไร้คู่ค้า เสนอรัฐวางมาตรการให้ตรงกับพื้นที่ที่แต่ละภาคความเดือดร้อนต่างกัน
นายจิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในงานเสวนาเวที “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” ภาคกลาง ว่า ผลจากวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวลงติดลบ 7.8 จากการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ -0.9 แต่ในปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวลดลงกว่าประมาณการเดิมคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3.6
ทั้งนี้อุปสงค์อุปทานในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุน ภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี และมีความเสี่ยงที่จะเลวร้ายกว่าที่ประเมินไว้ เนื่องจากความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ที่ไม่ทราบว่าจะจบเมื่อไหร่กว่าจะกลับสู่ระดับเดิม ส่งผลต่อจำนวนผู้ว่างงานที่เพิ่มมากขึ้น
“โดยเห็นว่ารัฐต้องมีมาตรการช่วยให้ตรงจุดและทันการณ์มากขึ้น และต้องมีนโยบายที่ลงรายละเอียดในเชิงพื้นที่ให้มากขึ้น ต้องสนับสนุนการจ้างงาน รักษาศักยภาพการเติบโต และควรมีนโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อเนื่องและดำเนินการมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อเพิ่มเติม รัฐควรมีนโยบายและใช้ทรัพยากรที่มีอย่างคุ้มค่ามีประสิทธิภาพสูงสุดและเตรียมสำรองกรณีเลวร้ายที่สุด และเห็นว่า ไทยอาจต้องยอมให้มีการติดโควิดในประเทศบ้างเพื่อให้เศรษฐกิจเดินได้ นโยบายของภาครัฐต้องมีการประสานกันเพื่อลดผลกระทบระยะยาวของเศรษฐกิจและเอื้อต่อการปรับตัวของธุรกิจหลังโควิด”
ทั้งนี้เขาเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีความพร้อมเปราะบางจากการได้รับผลกระทบจากโควิดต่อตลาดแรงงาน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ โดยระบุว่า โควิด-19 ทำให้มีแรงงานกลุ่มเสี่ยงตกงานเกือบ 9 ล้านคน และส่วนใหญ่เป็นแรงงานทักษะต่ำ อยู่นอกระบบ บริษัทเกือบทั้งหมดเป็นเอสเอ็มอี เป็นแรงงานที่เสี่ยงในภาคบริการ 8.3 ล้านคน ภาคการผลิต 5 แสนคน โดยแรงงานที่มีการย้ายถิ่นฐานกลับมากที่สุดคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ คือจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งในเดือน ส.ค.มีตัวเลขคนตกงานและเสมือนตกงานประมาณ 3.6 ล้านคน ในขณะที่กทม.มีแรงงานย้ายกลับออกไปยังจังหวัดอื่นประมาณ 1.3 ล้านคน
สำหรับภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาต่อเนื่อง 5 เดือน นอกจากนั้นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวไม่ได้ผลตามคาด เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน มีการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียง 3 พันล้านบาท จากที่คาดไว้ 45 พันล้านบาท โดยมีการใช้สิทธิ์โรงแรมในการจองเพียง 870,000 คำสั่งจองหรือ 17% มีการใช้สิทธิ์ตัวบิน 5,189 บุ๊กกิ้งหรือ 0.25% ใช้จ่ายผ่านวอร์เชอร์กินเที่ยว 423 ล้านบาท และเห็นว่านโยบายการเปิดรับท่องเที่ยวต่างชาติแต่จำกัดพื้นที่เดินทางทำให้รายได้กระจุกตัวอยู่กับโรงแรมขนาดใหญ่ ในขณะที่มาตรการช่วยเหลือของรัฐที่ออกมาส่วนใหญ่เน้นการลดต้นทุนและกระตุ้นความต้องการซื้อ แต่พบว่าผู้ประกอบการจำนวนมากเข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือเพราะไม่มีใบอนุญาตโรงแรม โดยตัวเลขจากสมาคมโรงแรมพบว่ามีโรงแรมถูกกฏหมายประมาณ 26% และผิดกฎหมาย 74% ของจำนวนทั้งหมด 6.6 หมื่นแห่ง เนื่องจากกฎหมายการอนุญาตโรงแรมของไทยล้าสมัยและขั้นตอนการขออนุญาตมากเกินไป
ดร.สาโรจน์ วสุวานิช ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก กล่าวว่าภาคตะวันออกโดยเฉพาะชลบุรีเก็บภาษีได้อันดับ 1 ของประเทศ รองจากกทม. เพราะมีฐานธุรกิจยานยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และการท่องเที่ยว มีโรงงาน 5 พันกว่าแห่ง และเป็นหนึ่งในจังหวัดในกลุ่มอีอีซี แต่ที่ผ่านมาต้องบอกว่านับแต่รัฐส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี รัฐแต่งตัวแล้วแต่ยังไม่เห็นคู่ค้า หรือเป็นไปได้ว่าภาคเอกชน รอให้โครงสร้างพื้นฐานแล้วเสร็จ
นายพยัพ แจ้งสวัสดิ์ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมมีผลกระทบจากปัญหางบประมาณปี 62 ที่เบิกจ่ายล่าช้า การหดตัวของภาคการส่งออก สถาบันการเงินระวังการให้สินเชื่อ ปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ปัญหาการค้าอีคอมเมิร์ซ ที่อาจทำให้ต้นทุนลดลงแต่กระทบด้านราคาอย่างรุนแรง การขาดแคลนแรงงานทั้งไทยและต่างด้าว และประการสำคัญ เมื่อมีอีอีซีแล้วรัฐบาลจะมีการพัฒนาฝีมือแรงงานอย่างไร
ทั้งนี้ข้อเสนอของอุตสาหกรรมภาคตะวันออกคือ 1. การเดินหน้าอย่างต่อเนื่องในโครงการอีอีซี และกระตุ้นให้เกิดธุรกิจต่อเนื่อง 2. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐเพื่อบรรเทาผลกระทบโควิด 3. เน้นกระตุ้นท่องเที่ยวเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวมของภาค 4. ให้การจัดซื้อของภาครัฐสนับสนุนการซื้อสินค้าไทยเมดอินไทยแลนด์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ 5. ให้ บสย.ค้ำประกันสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ ปล่อยกู้ตามวงเงินกู้ธปท. 5 แสนล้านบาทต่อหลังจากหมด พรก.เงินกู้เพื่อจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการได้ง่ายขึ้น 6. ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติม เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว 7. สนับสนุนแนวทาง F.T.I Fast Payment เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยให้มีสภาพคล่องทางการเงินให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องโดยการชำระหนี้ให้กับคู่ค้าภายใน 30 วันหรือเร็วกว่า
นายรัตนชัย สุทธิเดชานัย คณะที่ปรึกษานายกเมืองพัทยา กล่าวว่า จะมีนักท่องเที่ยวมาเมืองพัทยาปีละ 18 ล้านคน เป็นคนต่างชาติ 10 ล้านคนและคนไทย 8 ล้านคน มีรายได้ประมาณปีละ 2.2 แสนล้านบาท (ปี 2562) ดังนั้นรัฐบาลต้องมีนโยบายที่จะทำให้คนไทยอีก 8 ล้านคนออกมาท่องเที่ยวให้มาก โดยพบว่าแหล่งท่องเที่ยวใหม่เชิงนิเวศน์ได้รับการตอบรับที่ดี เช่น ชุมชนมะพร้าวเตี้ยของพัทยาที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามามาก นอกจากนั้นเห็นว่า ไทยควรจะมีการพัฒนาระบบการจองห้องพักขึ้นมาแทนการให้คนไทยจองผ่านแอพพลิเคชั่นต่างประเทศ
นายนฤพล กิ้นบูราญ เจ้าหน้าที่ศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวในจังหวัดชลบุรีลดลงอย่างมากโดยในปี 62 มีนักท่องเที่ยวในขณะนี้ประมาณ 6.6 ล้านคน มีรายได้ 1.4 แสนล้านบาท แต่ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 63 มีนักท่องเที่ยวเพียง 1.4 ล้านคน รายได้ 3.7 หมื่นล้านบาท
นายพูลลาภ อุไรงาม เกษตรและสหกรณ์จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า พบว่ามีแรงงานกลับมาภาคเกษตรเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่สามารถทำการเกษตรได้เพราะไม่ชิน และไม่เคยทำ อย่างไรก็ตามจะเห็นว่าเมื่อเกิดวิกฤตคนจะกลับบ้านเพื่อทำการเกษตร ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์เคยมีโครงการ 5 ประสานเพื่อดำเนินการเกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการปี 60-63 มีผู้เข้าโครงการ 210,000 ราย เพราะเชื่อแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ เศรษฐกิจพอเพียงคือการรอดของครัวเรือนและของประชาชนในยามที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเห็นว่าการทำการเกษตรต้องหันมาเรียนรู้การทำเกษตรที่มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้มาก เพื่อลดแรงงานและเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งสามารถทำได้ในแนวทางพอเพียง เพราะทุกธุรกิจสามารถใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางในการทำงานได้