“กรุงศรี” เตรียมแผนฉบับใหม่ รับมือ “เมกะเทรนด์-นิวนอร์มอล” เดินหน้าเป็นสถาบันการเงินทรงพลังในอาเซียน

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) สถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นและหนึ่งในกลุ่มสถาบันการเงินชั้นนำของโลก ปักหมุดเดินหน้าสู่เป้าหมายการเป็นสถาบันการเงินที่ทรงพลังในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Financial Powerhouse) พร้อมเตรียมแผนธุรกิจระยะกลางฉบับใหม่ปี 2564-2566 (Medium Term Business Plan 2021-2023) สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้หลักการดำเนินธุรกิจโดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เพื่อสร้างประสบการณ์เหนือระดับและความผูกพันผ่านแผนธุรกิจ ที่ตอบรับเมกะเทรนด์และวิถีชีวิตผู้บริโภคในยุคนิวนอร์มอล

นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงานแถลงข่าว “STRATEGIC AGILITY AMID UNCERTAINTY” ณ อาคารกรุงศรี สำนักงานเพลินจิต เมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา ว่า แผนธุรกิจระยะกลางฉบับปัจจุบันที่ครอบคลุมการดำเนินงานปี 2561-2563 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปนั้น กรุงศรีได้ก้าวสู่การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงธุรกิจการเงินในยุคดิจิทัล ด้วยการผลักดันแผนเชิงยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ได้แก่

  1. การเสริมสร้างประสบการณ์ลูกค้าผ่านกระบวนการพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Customer Experience Enhancement)

2. การขับเคลื่อนธุรกิจด้วยศักยภาพด้านข้อมูล (Data-Driven Capabilities)

3. กลยุทธ์ความร่วมมือกับพันธมิตร (Partnership Strategy)

4. การขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ (Overseas Business Expansion) ซึ่งกรุงศรีสามารถดำเนินตามแผนเชิงยุทธศาสตร์สู่เป้าหมายที่วางไว้ได้เป็นอย่างดี

เห็นได้จากความสำเร็จของการเปิดตัว “Kept” นวัตกรรมบริหารเงินบนช่องทางออนไลน์ที่ได้รับการตอบรับอย่างสูงจากกลุ่มเป้าหมาย การพัฒนา “Krungsri Biz Online Mobile App” แอพพลิเคชั่นสำหรับธุรกิจ SME ที่ช่วยจัดการธุรกรรมการเงินให้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น บริการกรุงศรี ออโต้ โบรกเกอร์ ที่เลือกสรรประกันภัยรถยนต์ให้กับลูกค้าด้วยระบบวิเคราะห์ข้อมูลตามความต้องการ การพัฒนาระบบการอนุมัติสินเชื่อโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) การลงทุนและสร้างพันธมิตรทางธุรกิจกับ Grab และความสำเร็จของ Hattha Kaksekar Ltd. บริษัทไมโครไฟแนนซ์เครือกรุงศรีในกัมพูชาในการยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์ Hattha Bank Plc. เป็นต้น

“กรุงศรีพยายามเน้นในเรื่องของการผลิต Product & Service ให้เป็น New ways of working มากกว่า ไม่ใช้แค่เทคโนโลยีอย่างเดียว แต่เน้นเรื่องการทำงานร่วมกับหลายส่วนงาน ในช่วงเวลาแบบนี้ต้องสร้างกลยุทธ์ที่คล่องตัว แผนระยะสั้นที่ต่อยอดไปถึงระยะยาวนั้น จึงต้องสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว ขณะนี้กรุงศรีก็เริ่มที่จะเอาเดต้ามาเป็นข้อมูลในการพัฒนาบริการ พัฒนาหลังบ้านให้มี Productive ที่มากขึ้น เอาเดต้ามาทำให้กรุงศรีเป็น Proactive มากขึ้น ป้องกันและดูแลความเสี่ยงดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องทำต่อในปีต่อๆ ไป”

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก ส่งผลต่อเนื่องถึงปัจจุบันต่อเศรษฐกิจมหภาคและภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนพฤติกรรมผู้บริโภคในทุกเซ็กเมนต์ กรุงศรีจึงขับเคลื่อนการดำเนินงานเชิงรุกพร้อมฝ่าวิกฤตโดยปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งได้เน้นย้ำ 3 หลักการดำเนินงาน คือ 1. การช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่องทั้งลูกค้าบุคคล ผู้ประกอบการรายย่อย และลูกค้าธุรกิจ ให้สามารถผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้ 2. การรักษาคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง และ 3. การควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ การปรับกลยุทธ์ให้สามารถรับมือกับความท้าทายอย่างทันท่วงทีท่ามกลางวิกฤตแห่งความไม่แน่นอนนี้ ส่งผลให้กรุงศรีสามารถลดผลกระทบด้านการดำเนินงานปฏิบัติการ และสามารถให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างทั่วถึง

“เราให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงเชิงรุก ขณะนี้ก็ใช้ AI มาช่วยทำให้เราทรงพลังมากขึ้น เพื่อช่วยให้เราสามารถสื่อสารและสร้างผลงานได้ดีมากขึ้น การติดตามลูกค้าก็สามารถที่จะสร้างประสบการณ์ที่ดีได้มากขึ้น ตรงนี้ก็จะเป็นไฮไลต์ที่จะนำมาใช้ในคราวต่อๆ ไปด้วย เราไม่อยากเป็นแค่ธนาคารให้กับลูกค้า แต่จะเป็นระบบที่พยายามไปต่อยอดพาร์ตเนอร์ จึงเห็นได้ว่ามีเรื่องของ Partnership Strategy ด้วย”

ล่าสุด กรุงศรีได้อยู่ในระหว่างการขออนุมัติแผนธุรกิจระยะกลางฉบับใหม่ที่จะใช้เป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจในปี 2564-2566 ซึ่งเป็นการต่อยอดความสำเร็จการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา โดยจะใช้ประโยชน์ด้านข้อมูลที่กรุงศรีมีในฐานะผู้นำตลาดการเงินเพื่อรายย่อย (Consumer Finance) และผู้นำตลาดลูกค้าบริษัทญี่ปุ่นในไทย (Japanese Corporate Market) และการใช้ประโยชน์ด้านผลิตภัณฑ์และเครือข่ายระดับโลกของ MUFG การผสานศักยภาพและความแข็งแกร่งอันเป็นเอกลักษณ์ของกรุงศรี โดยคำนึงถึงแนวโน้มแรงขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงระดับโลกหรือเมกะเทรนด์ (Megatrend) และสอดรับกับวิถีการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่หรือนิวนอร์มอล (New Normal) เพื่อทำให้กรุงศรีมีตำแหน่งทางการตลาดและความสามารถในการแข่งขันที่โดดเด่น ทั้งในเวทีระดับประเทศและในภูมิภาคอาเซียน

“เป็น New Business Model ที่สร้าง Ecosystem ให้ลูกค้าของเราได้รับบริการ ไม่ใช่แค่การเงินอย่างเดียว แต่ยังขยายไปยังเรื่องอื่นๆ ได้ด้วย เป็นการสร้างคุณค่าที่ดีขึ้น โดยเราจะเริ่มสร้าง Ecosystem ที่ Automobile ก่อน เพราะเรามีจุดแข็งอยู่ที่ MUFG ที่ให้บริการด้านนี้ค่อนข้างแข็งแรง จากนั้นจึงเริ่มลงไปที่ตัวแอพพลิเคชั่น เพื่อให้สามารถทำหลายๆ อย่างได้อย่างครบวงจรในแอพพลิชั่น และที่เป็นไฮไลต์ที่เราพยายามมุ่งเน้นให้มากที่สุด ก็คือการขยายไปยังกลุ่มประเทศ CLMV กรุงศรีและ MUFG กำลังมองว่าจะทำอย่างไรให้ ESG แข็งแรง แล้วมีการให้สินเชื่อกับลูกค้าที่เป็นการดีต่อสภาพแวดล้อมด้วย ซึ่งปีนี้จะเห็นว่าเป็นปีที่เราได้เข้าร่วมกับ Green bond

“เราจะวิ่งไปสองเลน เลนที่หนึ่งเพื่อให้จบแผนระยะกลางในปีนี้ เลนที่สองเป็นเลนที่สามารถให้การดูแลลูกค้า ไม่ว่าจะเจอเมกะเทรนด์ที่เปลี่ยน นิวนอร์มอล หรือความไม่แน่นอนของโควิด-19 ก็สามารถปรับเปลี่ยนและเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่องในทุกๆ วิกฤต ที่สำคัญต้องเป็นสถาบันการเงินที่ออกไปในอาเซียนได้อย่างแข็งแรงและสามารถขยายหรือให้บริการกับลูกค้าในอาเซียนได้ หรือพาลูกค้าคนไทยไปในอาเซียนได้” นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ กล่าวทิ้งท้าย