คลังกระตุ้นบริโภค”กิน-เที่ยว-ช็อป” เล็งขอมติครม.-ปัดฝุ่นมาตรการภาษีจูงใจกลางธ.ค.

คลังปัดฝุ่นภาษี “กิน-ช็อป-เที่ยว” กระตุ้นบริโภค 9-10 วันช่วงกลาง ธ.ค.นี้ พร้อมอัดกว่า 1 หมื่นล้านบาทเติมเงินคนจนกว่า 8 ล้านราย

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 22 พ.ย. เห็นชอบมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่ได้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐไว้อีก 5.4 ล้านราย ใช้เงินทั้งสิ้น 12,750 ล้านบาท โดยให้เริ่มจ่ายตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.นี้ ส่วนมาตรการยกเว้นภาษีเครื่องสำอางและน้ำหอม ตนยังไม่ได้พิจารณา

ส่วนจำเป็นจะต้องมีมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยออกมาในช่วงที่เหลือของปีนี้หรือไม่นั้น นายอภิศักดิ์กล่าวว่า สัปดาห์หน้าจะมีความชัดเจน อย่างไรก็ดี เท่าที่ดูตัวเลขที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศ ก็จะเห็นว่าการบริโภคเริ่มกระเตื้องขึ้นแล้ว

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวด้วยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รวบรวมมาตรการของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชนเหมือนกับปีที่ผ่านมา โดยบางส่วนอาจจะนำมาตรการเดิมมาปรับปรุง และบางส่วนอาจเป็นมาตรการใหม่

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ กระทรวงการคลังเตรียมเสนอมาตรการทางภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการบริโภคภายในประเทศปลายปี 2559 โดยจะนำมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับการ “กิน-ช็อป-เที่ยว” มาใช้ช่วงกลางเดือน ธ.ค.นี้ ประมาณ 9-10 วัน หลังก่อนหน้านี้เคยจะออกมาตรการนี้ช่วงเดือน ต.ค. 2559 แต่เนื่องจากสถานการณ์ไม่เหมาะสมจึงเลื่อนระยะเวลาออกมา

“ตอนนี้มีการสั่งให้ทางกรมสรรพากรเตรียมมาตรการภาษี กิน-ช็อป-เที่ยวไว้แล้ว โดยจะให้ประชาชนที่ซื้อสินค้าและบริการช่วง 9-10 วัน ที่กำหนดในช่วงกลางเดือน ธ.ค. นำใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบที่ร้านค้าออกให้มาลดหย่อนภาษีได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท”

นอกจากนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬายังเรียกร้องให้ต่ออายุมาตรการลดหย่อนภาษีจากการใช้จ่ายเป็นค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว (ค่าจ้างไกด์) หรือที่ได้จ่ายเป็นค่าโรงแรมภายในประเทศ ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2559 นี้ด้วย

ทั้งนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ต้องการให้ดูแลเรื่องค่าสาธารณูปโภคแก่ผู้มีรายได้น้อยด้วย โดยกรณีค่าน้ำ-ค่าไฟฟ้าน่าจะทำได้ก่อนค่ารถเมล์-รถไฟ เนื่องจากเพิ่งต่ออายุมาตรการรถเมล์ฟรี-รถไฟฟรีเดิมออกไปอีก 6 เดือน ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะจัดทำบัตรผู้มีรายได้น้อยแจกให้ผู้ที่ลงทะเบียนไว้ กรณีค่าน้ำ ค่าไฟฟ้านั้น อาจกำหนดว่า ถ้าใช้ไม่เกินกี่ยูนิต จะได้รับการยกเว้น

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการดูแลเศรษฐกิจช่วงปลายปีที่เตรียมไว้ ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะทำอะไรบ้าง อีก 1-2 สัปดาห์จะได้ข้อสรุป สำหรับมาตรการด้านสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยพิจารณาอยู่หลายมาตรการ ซึ่งต้องทำให้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น คือผู้ที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐไว้ เช่น รถเมล์ฟรี รถไฟฟรีที่ปัจจุบันใครก็ขึ้นรถได้ เป็นต้น ส่วนการยกเว้นภาษีสนับสนุนการซื้อสินค้าเครื่องสำอางและน้ำหอม จะทำหรือไม่ทำขึ้นอยู่กับภาคเอกชนเป็นหลัก

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์