ธุรกิจโรงแรม ปรับตัว รับการท่องเที่ยวในประเทศ อยากให้รัฐขยายโครงการเราเที่ยวด้วยกัน 

ธุรกิจโรงแรม ปรับตัว รับการท่องเที่ยวในประเทศ ฝากถึงรัฐ อยากให้ขยายโครงการเราเที่ยวด้วยกัน 

การท่องเที่ยว นับเป็นอุตสาหกรรมหลักและกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ แต่เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว หรือภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็น โรงแรม สายการบิน ชุมชน ตลอดจนการค้าขายที่มีกลุ่มลูกค้าเป็นชาวต่างชาติ

ปัจจุบันแม้รัฐจะคลายล็อกดาวน์ แต่ก็ยังไม่สามารถอ้าแขนรับชาวต่างชาติเข้าประเทศได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ การท่องเที่ยวตอนนี้จึงมุ่งเน้นการท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก

คุณกันตศม นพวงศ์ ณ อยุธยา กรรมการ สมาคมการค้าธุรกิจที่พักบูติกไทย และเจ้าของโรงแรมเยลโล่ รูมส์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
คุณกันตศม นพวงศ์ ณ อยุธยา กรรมการ สมาคมการค้าธุรกิจที่พักบูติกไทย และเจ้าของโรงแรมเยลโล่ รูมส์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

คุณกันตศม นพวงศ์ ณ อยุธยา กรรมการ สมาคมการค้าธุรกิจที่พักบูติกไทย และเจ้าของโรงแรมเยลโล่ รูมส์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กล่าวช่วงหนึ่งในหัวข้อสัมมนา “ฝ่าวิกฤตธุรกิจท่องเที่ยวไทยหลัง Set Zero” จัดโดย เคทีซี หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ว่า วิกฤตโควิด-19 เป็นความท้าทายของธุรกิจโรงแรมที่พักเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กต่างได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด 

“โชคดีที่มีการช่วยเหลือจากภาครัฐโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับภูมิภาค ถ้าเป็นต่างจังหวัดคนในกรุงเทพฯ ออกไปเที่ยวต่างจังหวัดได้ ส่วนโรงแรมในกรุงเทพฯ ไม่รู้ว่าจะมีคนต่างจังหวัดเข้ามาหรือไม่ จากนี้เป็นความท้าทายในการบริหารจัดการ อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลดคุณภาพการให้บริการสำหรับลูกค้า รวมถึงมาตรฐานความปลอดภัยที่ต้องเพิ่มเข้าไป”

ในส่วนของโรงแรมเยลโล่ รูมส์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อเกิดวิกฤต คุณกันตศม บอกว่า จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ กล่าวคือ เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ ต้องกลับมาเน้นการท่องเที่ยวในประเทศให้มากขึ้น

“กลยุทธ์ของโรงแรมที่เราทำและปรับได้แล้วคือ เปลี่ยนลูกค้ากลุ่มรายวันเป็นรายเดือน จำนวนหรือรายได้ไม่ได้มากมาย แต่สามารถรักษาธุรกิจให้อยู่รอดได้ ยกตัวอย่างโรงแรมอื่น หากอยู่ใกล้โรงพยาบาลก็ปรับให้เป็น State Quarantine จะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ในกลุ่มโรงแรมขนาดเล็ก อาจจะเปลี่ยนเป็น Co-Working Space ให้นั่งทำงาน หรือจัดให้มีสถานที่นั่งพักผ่อนช่วงกลางวันให้ลูกค้าสามารถเข้ามาถ่ายรูปลงโซเชียลได้”

“โรงแรมดีๆ และมีมาตรฐานในไทยเยอะมาก หลายๆ ท่านอาจไม่มีโอกาสไปเยี่ยมเยือน แต่วันนี้มองว่าเป็นโอกาสดีที่เราสามารถไปเที่ยวในประเทศไทย เข้าพักในโรงแรมมาตรฐานระดับโลกในราคาที่พักที่ถูกลงได้ หาวันว่างจัดตาราง รัฐก็ช่วยส่งเสริมนโยบายต่างๆ และมีวันหยุดยาว อยากให้ไปเที่ยวกัน ทุกโรงแรมยินดีต้อนรับ” คุณกันตศม กล่าว 

คุณพิมาน แพรวพรายกุล กรรมการและเจ้าของโฮเทลทรานซ์
คุณพิมาน แพรวพรายกุล กรรมการและเจ้าของโฮเทลทรานซ์

ด้าน คุณพิมาน แพรวพรายกุล กรรมการและเจ้าของโรงแรมโฮเทลทรานซ์ เผยว่า โรงแรมแห่งนี้เปิดให้บริการเมื่อต้นปี 2561 มีทั้งหมด 79 ห้อง ตั้งอยู่เขตพญาไท เป็นโลเกชั่นที่สะดวกต่อการเดินทาง เพราะมีทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอส แอร์พอร์ตเรลลิงก์ โดยลูกค้ากลุ่มหลักคือ ชาวต่างชาติ 70 เปอร์เซ็นต์ คนไทย 30 เปอร์เซ็นต์

ก่อนเกิดโควิดโรงแรมมีลูกค้าเข้าพักเรื่อยๆ จากการจองผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ พอมีโควิดเข้ามา หลายโรงแรมต่างได้รับผลกระทบ ช่วงกลางเดือนมีนาคมมีการแคนเซิลบุ๊กกิ้งจำนวนมาก ในที่สุดทางโรงแรมตัดสินใจปิดชั่วคราวในเดือนเมษายนโดยไม่ลดพนักงาน อาศัยประเมินสถานการณ์กันเดือนต่อเดือนว่าจะคลายล็อกดาวน์เมื่อไหร่ ต่อมามีการคลายล็อกดาวน์ และมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว เราเที่ยวด้วยกัน ของรัฐบาล ผลตอบรับดีกว่าที่คิดไว้

“เราปรับกลยุทธ์หลายอย่าง ทั้งราคาห้องพัก หรือการให้บริการอาหารจากบุฟเฟ่ต์มาจัดเป็นเซต ช่วงแรกยังมีขึ้นไปเสิร์ฟถึงห้องพัก เพิ่มมาตรการความปลอดภัย ตอนนี้ช่องทางที่เราเพิ่มการสื่อสารมากขึ้นเพื่อดึงดูดลูกค้าคนไทยคือเฟซบุ๊ก อยากให้ภาครัฐขยายระยะเวลาโครงการเราเที่ยวด้วยกันออกไปอีก เพราะเป็นประโยชน์กับหลายๆ โรงแรม โรงแรมเราได้ยอดบุ๊กกิ้งมากขึ้น และหวังว่าจะไม่มีการระบาดรอบสอง หากล็อกดาวน์อีกครั้งคงเหลือศูนย์จริงๆ” คุณพิมาน กล่าว