กรมควบคุมโรค เตือน ปชช. ระวังจมน้ำช่วงน้ำท่วม พบเดือนเดียวเสียชีวิตแล้ว 11 ราย

ภาพจาก มติชนสุดสัปดาห์ออนไลน์
ภาพจาก มติชนสุดสัปดาห์ออนไลน์

กรมควบคุมโรค เตือน ปชช. ระวังจมน้ำช่วงน้ำท่วม พบเดือนเดียวเสียชีวิตแล้ว 11 ราย

กรมควบคุมโรค เผยแพร่ “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์” ฉบับที่ 280 ประจำสัปดาห์ที่ 39 (วันที่ 27 ก.ย. – 3 ต.ค. 63) โดย นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า

จากข้อมูลการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์การจมน้ำเสียชีวิตในเดือนกันยายน 2563 (ตั้งแต่วันที่ 1-22 ก.ย. 63) พบทั้งหมด 10 เหตุการณ์ เสียชีวิตรวม 11 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว (ในช่วงเวลาเดียวกันปี 62 พบผู้เสียชีวิต 2 ราย จาก 2 เหตุการณ์) โดยในจำนวนผู้เสียชีวิตของปีนี้ 8 ราย (ร้อยละ 89) เป็นเด็กอายุระหว่าง 2-14 ปี ส่วนอีก 3 รายอายุระหว่าง 38-60 ปี เฉพาะในช่วงวันที่ 19-22 ก.ย. 63 มีเหตุการณ์ทั้งสิ้น 7 เหตุการณ์พบผู้เสียชีวิต 8 ราย เกิดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ เลย อุบลราชธานี เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก โดยเกิดขึ้นที่แหล่งน้ำบริเวณใกล้บ้าน ฝายน้ำล้น และคลองชลประทาน

การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง อาจส่งผลให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการจมน้ำเสียชีวิตได้

กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำประชาชนให้ระวังการจมน้ำในช่วงน้ำท่วม โดยไม่ลงไปเล่นน้ำบริเวณที่มีน้ำท่วมขังหรือน้ำเชี่ยว งดการเดินทางหรือกิจกรรมที่ไม่จำเป็นบริเวณที่มีน้ำป่าไหลหลาก หากจำเป็นต้องเดินทางหรือทำกิจกรรมทางน้ำควรเตรียมอุปกรณ์ชูชีพให้พร้อม เช่น เสื้อชูชีพ ห่วงยาง แกลลอนเปล่า ขวดน้ำพลาสติกเปล่า ลูกมะพร้าว เพื่อช่วยในการลอยตัว

นอกจากนี้ ควรสำรวจและเฝ้าระวังพื้นที่บริเวณบ้าน รอบบ้านและชุมชนที่เสี่ยงต่อการพลัดตกและจมน้ำ เฝ้าระวังและแจ้งเตือนประกาศเสียงตามสาย จัดการแหล่งน้ำให้ปลอดภัย สร้างรั้ว ติดป้ายคำเตือน ให้มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำเสี่ยง เช่น ถังแกลลอนเปล่าผูกเชือก ขวดน้ำพลาสติกเปล่าและไม้ เป็นต้น

ทั้งนี้ ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมไม่ควรดื่มของมึนเมา เพราะอาจเกิดการพลัดตกน้ำได้ ส่วนผู้ประกอบอาชีพทางน้ำควรเตรียมสุขภาพร่างกายให้พร้อม ไม่ควรอยู่ตามลำพัง สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวและผู้ที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ เช่น โรคอัมพาต โรคลมชัก โรคทางจิตเวช รวมถึงเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ควรมีผู้ปกครองดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ควรอยู่ตามลำพัง ที่สำคัญหากพบเห็นคนตกน้ำ ไม่ควรกระโดดลงไปช่วยเพราะอาจจมน้ำพร้อมกันได้ ขอให้ช่วยด้วยการใช้มาตรการ “ตะโกน โยน ยื่น” ดังนี้ ตะโกน คือเรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วย และโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669  โยน คือโยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัว ช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว และยื่น คือยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ