สวนทุเรียนลุงแกละ อีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จ การทำเกษตรสมัยใหม่

สวนทุเรียนลุงแกละ อีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จ การทำเกษตรสมัยใหม่

ปัญหาหลักของเกษตรกรยุคเก่า คือ ราคาผลผลิตตกต่ำ เนื่องจากเมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ผลผลิตออกสู่ตลาดในระยะเวลาใกล้เคียงกันจำนวนมาก ทำให้ราคาผลผลิตต่ำ ตามกลไกของดีมานด์ซัพพลาย คือ มีมาก ราคาก็ถูก มีน้อยราคาก็แพง ขณะเดียวกันเกษตรยุคก่อน ไม่สามารถคำนวณต้นทุนการผลิตที่แท้จริง ขาดการเรียนรู้เรื่องการลดต้นทุนภาคผลิต พึ่งพาตลาดเดียว ยิ่งทำให้เกษตรกรประสบปัญหาเรื่องรายได้ สุดท้ายเกิดเป็นปัญหาระดับชาติ คือ ความยากจนในภาคเกษตร

ปัจจุบันวงการเกษตรไทย มีการพัฒนามากขึ้น เกิดเป็นภาพลักษณ์ใหม่ที่เรียกว่า ‘เกษตรปราดเปรื่อง’ หรือ Smart Farming แนวคิดการทำเกษตรแบบใหม่ โดยเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีใจรักการเกษตร หรือ Young Smart Farmer ส่งเสริมให้รู้จักบริหารจัดการเกษตร โดยนำ Agriculture Technology (Agritech) นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิต

คุณโอ๋ ทายาท สวนลุงแกละ

คุณโอ๋-นิธิภัทร์ ทองอ่อน เจ้าของ สวนทุเรียนลุงแกละ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง หนึ่งในเกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer นำแนวคิดสมัยใหม่มาปรับเปลี่ยนสวนทุเรียนที่รับสืบทอดจากคุณพ่อ คือ ‘ลุงแกละ’ หรือ คุณสำรวย ทองอ่อน ซึ่งแต่เดิมทำการเกษตรในแปลงแบบผสมผสาน ทั้งทุเรียน เงาะ ลองกอง ขนุน และยางพารา บนผืนดินขนาด 60 ไร่ ซึ่งเป็นมรดกของตระกูล

เมื่อเข้ามารับไม้ต่อจากคุณพ่อ สิ่งแรกที่ทำคือ การเคลียร์แปลง โดยเก็บเฉพาะต้นทุเรียนและจัดการแปลงใหม่ให้มีพื้นที่เป็นสัดส่วน เพื่อให้การนำเครื่องจักรเข้ามาใช้งานในแปลงทำได้สะดวกขึ้น และกำหนดเป้าหมายในการทำให้ทุเรียนออกผลผลิตนอกฤดูกาล ซึ่งมีราคาสูงกว่าผลผลิตตามฤดูกาลนั่นเอง

โดยหลักการทำให้ทุเรียนออกผลผลิตนอกฤดูกาลนั้น ไม่ซับซ้อน คือ ดินดี น้ำดี ปุ๋ยดี สิ่งเหล่านี้สามารถนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ในแปลงปลูกได้ อาทิ การใช้แอพพลิเคชั่นพยากรณ์อากาศที่มีฟังก์ชั่นตรวจสภาพพื้นดินในแปลงว่าผืนดินตรงไหนมีความสมบูรณ์ ตรงไหนแห้งแล้งควรบำรุงดิน ตรวจความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ แถมยังมีฟังก์ชั่นคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนล่วงหน้าได้ ข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์ในการกำหนดเวลาให้ฮอร์โมน ปุ๋ย และน้ำที่เหมาะสมสำหรับทุเรียน เมื่อต้นทุเรียนมีความสมบูรณ์ ก็จะมีความพร้อมในการออกผลผลิตแม้จะยังไม่ใช่ฤดูกาลก็ตาม ทั้งหมดจึงขึ้นอยู่กับการวางแผน บริหารจัดการ คำนวณเวลา และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม

 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาอีกประการของเกษตรกร คือ ต้นทุนแรงงาน ขณะที่การนำเครื่องจักรมาใช้ทดแทนแรงงานคนในปัจจุบันต้องลงทุนสูง แต่ คุณโอ๋ มองว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า แถมตนยังเรียนจบในสาขาการจัดการ อุตสาหกรรม ทำให้มีความรู้ด้านเครื่องจักรที่สามารถนำมาใช้ทดแทนแรงงานคนได้ เลยลงทุนซื้อเครื่องจักรเพื่อใช้งานในสวนทุเรียน โดยเครื่องจักรที่นำมาใช้หลักๆ คือรถพ่นยา รถกระเช้า และรถตัดหญ้า   รถพ่นยา สามารถลดแรงงานคนได้มาก จากเดิมต้องใช้แรงงานอย่างน้อย 3 คน พอมีรถพ่นยาก็ใช้แค่คนเดียว แถมประสิทธิภาพของรถพ่นยาก็ดีกว่าใช้แรงงานคน

นำรถกระเช้ามาใช้ในสวนทุเรียน

ส่วนการนำรถกระเช้ามาใช้ในสวนทุเรียน  คุณโอ๋ มองเรื่องความปลอดภัย ทุเรียนเป็นไม้ยืนต้นสูง การเก็บเกี่ยวจึงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องทำงานบนที่สูง จึงนำรถกระเช้ามาใช้ในการตัดแต่งกิ่ง ตัดแต่งพุ่มทรง แต่งดอก รวมถึงการเก็บผลทุเรียน  สำหรับรถตัดหญ้า หากเปรียบเทียบกับการใช้แรงงานคน สวนทุเรียนพื้นที่ 60 ไร่ ต้องใช้แรงงานตัดหญ้าอย่างน้อย 4 คน และต้องใช้เวลาถึง 10 วัน กว่าจะเสร็จ แต่เมื่อนำรถตัดหญ้ามาใช้งาน สามารถทำงานคนเดียวได้ ตัดหญ้าได้วันละ 20 ไร่ พื้นที่ 60 ไร่ใช้เวลาแค่ 3 วันเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยลดต้นทุนแรงงาน ยังลดเวลาทำงาน สามารถนำเวลาที่เหลือไปทำงานอย่างอื่นได้อีก

“การนำเทคโนโลยีและเครื่องจักรมาใช้ในการเกษตร จึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะในอนาคตแรงงานในภาคเกษตรจะน้อยลง และเมื่อเกิดสถานการณ์นั้นจริง  ก็ยังมีเครื่องจักรที่ทดแทนแรงงานคนมาทำงานได้ต่อ” คุณโอ๋ บอกอย่างนั้น

สำหรับปัญหาหลักๆ ของเครื่องจักรคือ การดูแลรักษา และซ่อมบำรุง โชคดีที่คุณโอ๋มีความรู้ด้านนี้ เนื่องจากเรียนจบด้านเครื่องจักรโดยตรง ทำให้สามารถจัดการดูแลรักษาและซ่อมบำรุงในเบื้องต้นได้  ทั้งมองว่าปัญหาเรื่องเครื่องจักรนั้น มีน้อยกว่าปัญหาแรงงานคนเสียด้วยซ้ำ

ส่วนด้านการบริหารเงินทุนในสวนทุเรียนลุงแกละ คุณโอ๋ บอกว่า ต้องเตรียมเงินหมุนเวียนไว้  7 เดือน เพราะในช่วงพักต้นทุเรียนจะใช้เวลาประมาณ 6-7 เดือน ดังนั้นเงินก้อนที่ได้จากการขายทุเรียน 40% จะนำไปเป็นเงินสำรอง ปันส่วนอีก 40% เป็นค่าใช้จ่ายทั่วไป อาทิ ค่าปุ๋ย ฮอร์โมน ยา ค่าแรงงานคน และยังแบ่งไปในการลงทุนด้านเครื่องจักรอีกด้วย

ขณะที่ด้านการตลาดมีการวางแผนไว้ 2 แบบ โดย 80% ยังเป็นการทำตลาดแบบออฟไลน์ ขายส่งให้พ่อค้าในประเทศ และส่งออกไปขายที่ประเทศจีน ส่วนอีก 20% เน้นทำการตลาดออนไลน์ ในรูปแบบการเปิดรับจองทุเรียนผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊กสวนทุเรียนลุงแกละ

ผลผลิตจากสวนลุงแกละ

สำหรับลูกค้าที่สั่งจองทุเรียนออนไลน์ ทางสวนจะแขวนป้ายชื่อ และรูปลูกค้าเอาไว้ที่ผลทุเรียน รวมถึงมีสมุดคู่มือแนะนำ การเช็กระยะการสุกของทุเรียน ควรเก็บอย่างไร และวิธีเคาะฟังเสียง แยกเสียงทุเรียนว่าสุกถึงระยะไหน เพื่อให้ตรงกับความชอบของลูกค้า โดยจะอธิบายไว้ในสมุดคู่มือส่งให้ลูกค้าในแบบฉบับที่เข้าใจง่าย

คุณโอ๋ ได้แนะนำเกษตรกรที่มีแนวคิดนำเทคโนโลยีมาใช้ในสวนว่า อยากให้เกษตรกรย้อนกลับไปมองปัญหาที่สวนก่อนว่ามีอะไรบ้าง และตีโจทย์ให้แตก ถ้าอยากใช้เครื่องจักร อาจเริ่มต้นจากการศึกษาหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตก่อนว่า เครื่องจักรนั้นทำงานอย่างไร เหมาะสมกับแปลงปลูกของเราหรือไม่ สามารถนำมาปรับใช้ได้ไหม และที่สำคัญ ยังไม่ต้องเริ่มลงทุนในเครื่องจักรราคาแพง อาจเริ่มจากเครื่องมืออย่างใดอย่างหนึ่งก่อน แล้วเมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น ค่อยลงทุนด้านเครื่องจักรเพิ่มเติม ทั้งนี้ต้องใช้ความต่อเนื่องและการวางแผนที่รอบคอบ