ห่วง ‘5 จังหวัด’ ไข้หวัดใหญ่พุ่ง! ปี 59 ป่วยสูงกว่า 2.3 เท่า คร่าชีวิตแล้ว 41 ราย

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ในประเทศไทยเริ่มมีอากาศเย็นส่งผลให้ประชาชนเจ็บป่วยจากโรคฤดูหนาวได้ง่าย ประกอบกับมีประชาชนจำนวนมากติดต่อสอบถามข้อมูลจากสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 เรื่องโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งในช่วงนี้พบผู้ป่วยจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วประเทศ กรมควบคุมโรค จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคไข้หวัดใหญ่ รวมถึงลดอัตราป่วยและการแพร่กระจายของโรคในประเทศไทย ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ 1 มกราคม – 14 พฤศจิกายน 2559 มีรายงานผู้ป่วย 147,962 ราย เสียชีวิต 41 ราย ซึ่งพบผู้ป่วยสูงกว่าปี 2558 ประมาณ 2.3 เท่า กลุ่มอายุผู้ป่วยที่พบมากที่สุด คือ 25-34 ปี หรือร้อยละ 11.9 รองลงมาอายุ 15-24 ปี พบร้อยละ 10.3 และ 7-9 ปีร้อยละ 10.2 ส่วนจังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ พะเยา อุตรดิตถ์ และระยอง

“นอกจากนี้ จากการคาดการณ์พบว่าจำนวนผู้ป่วยในช่วงฤดูหนาวในปีนี้จะสูงกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากช่วงนี้มีการเดินทางของประชาชนจำนวนมาก โดยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 – กุมภาพันธ์ 2560 จะมีผู้ป่วยประมาณ 16,500 – 24,000 รายต่อเดือน ซึ่งอาจทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นด้วย” นพ.เจษฎา กล่าว

อธิบดีคร.กล่าวอีกว่า โรคนี้พบกระจายทั่วประเทศแต่พบสูงมากในจังหวัดทางภาคเหนือและภาคกลาง โดยเฉพาะสถานที่ที่มีผู้คนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เช่น วัด โรงเรียน หรือศูนย์อพยพ หากไม่ป้องกันให้ดีแล้วอาจทำให้เกิดโรคระบาดได้ง่าย ส่วนสายพันธุ์ของโรคไข้หวัดใหญ่ที่พบในประเทศไทยในขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ A(H1N1) , A(H3N2) และสายพันธุ์ B ไม่มีรายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ติดต่อได้ง่ายโดยการไอ จาม หรือสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วย อาการของโรคไข้หวัดใหญ่ คือมีไข้ ตัวร้อนและรู้สึกหนาวทันที ร่างกายอ่อนเพลียเร็ว ปวดศีรษะ คอแห้งและเจ็บปวดตามแขนขาและที่หลัง เบื่ออาหาร อาจมีอาการไอแห้งๆ บางทีมีเวียนศีรษะ อาเจียน เลือดกำเดาไหล และแน่นหน้าอก หน้ามักจะแดงและมักมีอาการเยื่อตา เยื่อจมูกและกระเพาะอาหารอักเสบด้วย บางรายมีภาวะแทรกซ้อน ทำให้เกิดอาการที่รุนแรง เช่น ปอดบวม สมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตับอักเสบ หายใจเร็ว เหนื่อย หอบ หายใจลำบาก ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้

“การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ขอแนะนำให้ประชาชนใช้มาตรการ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ทุกสายพันธุ์ โดย 1.ปิด คือ ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จามต้องใช้ผ้าหรือกระดาษทิชชูปิดปากและจมูกทุกครั้ง หากเจ็บป่วยด้วยไข้หวัดควรใช้หน้ากากอนามัยเมื่อต้องไปในที่ชุมชน 2.ล้าง คือ ล้างมือบ่อยๆ เมื่อสัมผัสสิ่งของ เช่น กลอนประตู ลูกบิด ราวบันใด ราวบนรถโดยสาร 3.เลี่ยง คือ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย 4.หยุด คือ เมื่อป่วย ควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัด แม้ผู้ป่วยจะมีอาการไม่มากก็ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านเป็นเวลา 7 วันนับจากวันเริ่มป่วยหรือหลังจากหายเป็นปกติแล้วอย่างน้อย 1 วัน” นพ.เจษฏา กล่าว

ที่มา : มติชนออนไลน์