งานวิจัยพร้อมใช้ ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจหมุนเวียน 500 ล้านบาท

งานวิจัยพร้อมใช้ ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจหมุนเวียน 500 ล้านบาท

ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก.เป็นหน่วยงานบริหารจัดการทุนวิจัยด้านการเกษตรของประเทศ โดยเน้นการสนับสนุนทุนวิจัยที่จะก่อให้เกิดประโยชน์เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เป็นไปตามเป้าหมาย และตัวชี้วัด (OKR) ระดับประเทศตามนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ในโปรแกรมที่ 7 โจทย์ท้าทายด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และการเกษตร และโปรแกรมที่ 10 ยกระดับความสามารถการแข่งขันและวางรากฐานทางเศรษฐกิจ โดยกรอบ การวิจัยภายใต้แผนงาน Smart farming เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนงบประมาณด้านการวิจัย และพัฒนา เพื่อยังคงรักษาโอกาส และความสามารถในการแข่งขันสินค้าเกษตรของประเทศไทย โดยใช้เกษตรสมัยใหม่ หรือเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming หรือ Intelligent Farming) เป็นการทำเกษตรโดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย ที่มีความแม่นยำสูง เข้ามาช่วยในการทำงาน ตั้งแต่การปรับปรุงพันธุ์ ไปจนถึงกระบวนการแปรรูป

ผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย

ที่ผ่านมา สวก. ได้สนับสนุนทุน วิจัยในด้านที่เกี่ยวข้องกับ Smart Farming อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังให้ความสำคัญในการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย เมื่อเร็วๆ นี้ จึงได้จัดกิจกรรมเผยแพร่ผลงานวิจัยสู่กลุ่มเป้าหมาย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และกลุ่มเกษตรกร ผลสำเร็จของงานวิจัยที่ได้นำเสนอนั้น นับเป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เกษตรสมัยใหม่ (Smart Farming) เพื่อส่งเสริมศักยภาพ การค้า เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกร โดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม สมัยใหม่เป็นเครื่องมือในการพัฒนาให้สามารถยกระดับเกษตรกรรายย่อย เป็นผู้ประกอบการ สินค้าเกษตรได้ รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิต และยังมีผลิตภัณฑ์ผลงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง เช่น น้ำนม ข้าวยาคู คอลลาเจนสกัดจากหอยเป๋าฮื้อ เครื่องสำอางจากข้าวแดง รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตร จากนักเรียนทุนของ สวก. ภายใต้ โครงการทุนปริญญาตรี Smart Farmer

ฝีมือคนไทย
เตรียมออกสู่ตลาด

“นอกจากนี้ สวก. ยังได้ลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิผลงานวิจัยแก่ผู้ประกอบการ จำนวน 6 บริษัท ได้แก่ 1) บริษัทโรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด 2) บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 3) บริษัท มิตรผลวิจัยพัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัด 4) บริษัท เซปเป้ จำกัด (มหาชน) 5) บริษัท นวมินทร์ 2019 จำกัด และ 6) บริษัท นิเคโอะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่เล็งเห็นและให้ความสำคัญ พร้อมทั้งรับ ถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม การแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตรสู่การจำหน่ายเชิงพาณิชย์ สามารถเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรในการจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรในท้องถิ่น เพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการในการ จำหน่ายผลิตภัณฑ์ ทดแทนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เพิ่มทางเลือกในการบริโภคสินค้า ในประเทศที่มีคุณภาพ รวมถึงการเพิ่มคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Bio Circular Economy) ภายในประเทศ คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 500 ล้านบาท” ดร.สุวิทย์ กล่าว