ก.แรงงาน เผย สถิติข้อพิพาทแรงงาน ช่วงโควิด เลิกจ้างไม่เป็นธรรมกว่า 2.6 แสน

ก.แรงงาน เผย สถิติข้อพิพาทแรงงาน ช่วงโควิด เลิกจ้างไม่เป็นธรรมกว่า 2.6 แสน

เว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ มีการรายงานว่า สำนักพัฒนามาตรฐานแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน รายงานข้อมูลเดือนกรกฎาคม 2563 พบว่า มาตรการควบคุมและป้องกันโรคระบาดทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกและไทยชะลอตัวอย่างมาก มีการประกาศปิดกิจการถาวรและชั่วคราว ส่งผลกระทบรุนแรงต่อปัญหาผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ ประเมินภายในสิ้นปี 2563 มีผู้ว่างงานอีก 3-10 ล้านคน และคาดว่าคดีลูกจ้าง-นายจ้างเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

6 หมื่นคนเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

ทั้งนี้ ข้อมูลด้านแรงงานสัมพันธ์ เดือนกรกฎาคม 2563 สถิติข้อร้องเรียนประกอบด้วย “ข้อเรียกร้อง” ให้มีการกำหนดสภาพการจ้าง การแก้ไขปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างสถานประกอบการ 7 แห่ง กระทบแรงงาน 26,816 คน เมื่อรวมข้อเรียกร้องสะสมช่วงตุลาคม 2562-กรกฎาคม 2563 มีทั้งสิ้น 419 แห่ง กระทบลูกจ้าง 324,783 คน

“ข้อพิพาทแรงงาน” มี 77 แห่ง กระทบแรงงาน 68,160 คน มีการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาท 70 แห่ง รวม 62,642 คน

นอกจากนี้มีคำร้องการกระทำ”ไม่เป็นธรรม” สูงถึง 204 เรื่อง ไกล่เกลี่ยได้ข้อยุติ 68 เรื่อง พร้อมทั้งมีคำวินิจฉัยชี้ขาดและออกคำสั่งให้ดำเนินการ 93 เรื่อง

ขณะที่การดำเนินการข้อพิพาทแรงงานที่ “ตกลงกันไม่ได้” มี 5 เรื่อง มีคำวินิจฉัยข้อพิพาทเพียง 3 เรื่อง

การดำเนินการในส่วนคณะกรรมการสวัสดิการแรงงาน กำกับให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบการเพิ่มขึ้น 1,065 แห่ง มียอดสะสมช่วงตุลาคม 2562-กรกฎาคม 2563 รวม 11,167 แห่ง วินิจฉัยคำร้องลูกจ้างตามมาตรา 120 หรือกรณีนายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 แบ่งเป็นการประนีประนอมและลูกจ้างได้รับการช่วยเหลือ 2 แห่ง เงินช่วยเหลือ 189,000 บาท และส่วนที่คณะกรรมการออกคำสั่ง 3 แห่ง เป็นเงิน 39,333,431 ล้านบาท

ช่วงพีกโควิดกระทบหนักมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำรวจข้อมูลย้อนหลังช่วงเดือนมีนาคม 2563 ยุคที่โควิด-19ระบาดอย่างหนักพบสัญญาณการเลิกจ้างเพิ่มสูงขึ้น มีข้อเรียกร้องลูกจ้าง 35 เรื่องกระทบ 31,856 คน และเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในเดือนเมษายน ข้อเรียกร้องเพิ่มเป็น 51 แห่ง ลูกจ้างกระทบ 52,245 คน

ในส่วนข้อเรียกร้องที่ยุติไม่ได้พัฒนาเป็นข้อพิพาทแรงงาน 8 แห่ง ลูกจ้างกระทบ 40,802 คน สามารถไกล่เกลี่ยได้ 6 แห่ง, คำร้องการกระทำไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้างมี 10 แห่ง

เดือนพฤษภาคม 2563 มีข้อเรียกร้อง 4 เรื่อง ข้อพิพาท 1 เรื่อง แต่คำร้องการกระทำไม่เป็นธรรมเพิ่มเป็น 89 เรื่อง โดยเอกสารข้อมูลไม่ได้รายงานจำนวนลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ อีกทั้งข้อพิพาทส่วนใหญ่ยุติลงโดยคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดและออกคำสั่ง 17 แห่งให้จ่ายชดเชยตามที่ลูกจ้างควรได้รับ

ห่วงครึ่งปีหลังข้อขัดแย้งพุ่ง

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ผลกระทบสถานการณ์โควิดทำให้เกิด “ข้อขัดแย้ง” หรือข้อเรียกร้องนายจ้าง-ลูกจ้างขยายวงกว้างขึ้น เป็นประเด็นที่กระทรวงแรงงานกังวล โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลัง 2563 จะมีสถานประกอบการ “ลดคน” มากขึ้น ส่งผลให้ปัญหาร้องเรียนการจ้างงานไม่เป็นธรรมเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“กระทรวงแรงงานพร้อมที่จะดูแลลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างหรือปัญหาถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม รวมถึงการชดเชยในช่วงที่ตกงานจะมีสำนักงานประกันสังคมรับผิดชอบในการจ่ายชดเชยเพื่อบรรเทาผลกระทบจะได้มีค่าใช้จ่ายในช่วงตกงานตามที่กฎหมายกำหนดไว้อยู่แล้ว”

นายจ้างลวงให้เซ็นลาออก

นายสุเทพ อู่อ้น ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎรเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าได้รับการร้องเรียนจากแรงงาน 30 สถานประกอบการว่าถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะประเด็นการจ่ายชดเชยเงินให้กับลูกจ้าง กระทบลูกจ้าง 40,000-50,000 คนซึ่งมาจากโรงงานขนาดใหญ่ที่มีพนักงาน 100 คนขึ้นไป

จากการหารือตัวแทนลูกจ้าง องค์กรเอกชน (NGO) สหภาพแรงงานแต่ละองค์กร เบื้องต้นพบปัญหานอกจากไม่ได้รับความเป็นธรรม ยังมีนายจ้างบางรายเตรียมปิดกิจการ ใช้ช่องว่างทางกฎหมายและความไม่รู้เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างพึงได้รับ ชักชวนให้ลูกจ้างเซ็นใบลาออกโดยหว่านล้อมเหตุผลเพื่อจะได้รับสิทธิประโยชน์จากการว่างงานในกรณีที่เป็นผู้ประกันตน สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จ่ายชดเชย75% วิธีการนี้ทำให้นายจ้างไม่ต้องรับภาระในการจ่ายสิทธิต่าง ๆ ให้กับลูกจ้างเพราะถือเป็นการลาออกเอง

ทางคณะกรรมาธิการได้ส่งข้อร้องเรียนให้กระทรวงแรงงาน และ สปส.เร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับแรงงานทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงที่อาจมีการปิดกิจการเพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ขณะเดียวกันประเทศไทยยังมีความเสี่ยงที่อาจเกิดการระบาดรอบสอง (second wave) รวมถึงปัจจัยสำคัญคือ การจ่ายชดเชยของ สปส.ให้แก่คนตกงานจากเหตุสุดวิสัยไวรัสโควิดสัดส่วน 62% หมดมาตรการตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา

จี้ กระทรวงแรงงานทำงานเชิงรุก

“เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้หารือนอกรอบกับนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงานว่าปัญหาแรงงานแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน การแก้ปัญหาต้องให้สอดคล้องกับความต้องการของแรงงาน เช่น ช่วยเพิ่มทักษะและอัพเกรดให้เป็นช่างฝีมือแรงงาน หาแหล่งงานที่มีความมั่นคง อาจเป็นการจ้างงานชั่วคราวหรือจ้างงานในรูปแบบอื่น ๆ ตามความถนัด” นายสุเทพกล่าว

อนึ่ง สถิติสถานประกอบการกิจการทั่วประเทศปัจจุบันมี 434,576 แห่ง ลูกจ้าง 10 ล้านคน มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ 48 แห่ง สมาชิก 172,213 คน, สหภาพแรงงาน (กิจการเอกชน) 1,412 แห่ง สมาชิก 456,831 คน, สหพันธ์แรงงาน (กิจการเอกชน) 21 แห่งเป็นต้น