สรรพสามิต ชี้แจง การปรับขึ้น อัตราภาษียาเส้น ขยายเวลาบังคับใช้ ลดความเดือดร้อน

สรรพสามิต ชี้แจง การปรับขึ้น อัตราภาษียาเส้น ขยายเวลาบังคับใช้ ลดความเดือดร้อน
สรรพสามิต ชี้แจง การปรับขึ้น อัตราภาษียาเส้น ขยายเวลาบังคับใช้ ลดความเดือดร้อน

สรรพสามิต ชี้แจง การปรับขึ้น อัตราภาษียาเส้น ขยายเวลาบังคับใช้ ลดความเดือดร้อน

นายวรวรรธน์ ภิญโญ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ตามที่เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จะนำชาวไร่ยาสูบ ร้อง ป.ป.ช. เอาผิดกระทรวงการคลัง เอื้อประโยชน์ให้บริษัทบุหรี่นอก สามารถมีระยะเวลาในการปรับตัว เพื่อการแสวงหากำไรจากประกาศกระทรวงการคลัง

กรมสรรพสามิตขอเรียนชี้แจงว่า จาก พ.ร.บ.ภาษียาสูบ พ.ศ. 2509 จนถึง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มีการปรับขึ้นอัตราภาษียาเส้นเพียงหนึ่งครั้งเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2555 จากอัตราที่ 0.001 บาทต่อกรัม เป็น 0.01 บาทต่อกรัม นอกจากนี้ ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ได้ปรับลดอัตราภาษีตามปริมาณเป็น 0.005 บาทต่อกรัม เพื่อการขยายฐานภาษีให้ครอบคลุมถึงยาเส้นพันธุ์พื้นเมือง เพื่อเป็นการนำยาเส้นเข้าสู่ระบบสร้างความเท่าเทียม และเยียวยาให้แก่ผู้เสียภาษีรายใหม่ที่ต้องเข้าสู่ระบบ

นายวรวรรธน์ ภิญโญ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต
นายวรวรรธน์ ภิญโญ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต

ดังนั้น การขึ้นอัตราภาษียาเส้นตามกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 ถือเป็นการขึ้นภาษีครั้งที่ 2 ในรอบกว่า 50 ปี ในขณะที่ตลอดช่วงระยะเวลาดังกล่าว มีการปรับขึ้นภาษีบุหรี่ซิกาแรตอย่างเดียวรวม 16 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม บุหรี่ซิกาแรตยังคงมีภาระภาษีมากกว่ายาเส้นถึง 18 เท่า กล่าวคือ บุหรี่ซิกาแรตมีภาระภาษี 1.75 บาทต่อกรัม ในขณะที่ยาเส้นมีภาระภาษีเพียง 0.10 บาทต่อกรัม ทั้งที่สินค้าทั้งสองประเภทต่างมีผลเสียต่อสุขภาพเหมือนกัน

สำหรับการออกกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2563 นั้น กรมสรรพสามิตยังคงยึดหลักความเท่าเทียมระหว่างสินค้ายาสูบ ทั้งบุหรี่ซิกาแรตและยาเส้น กล่าวคือ ด้วยการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยและทั่วโลก กระทบต่อการบริโภคภายในประเทศ การจ้างงาน ภาคการเกษตร และภาคการส่งออก

กรมสรรพสามิตจึงมีนโยบายเพื่อการเยียวยาสินค้ายาสูบ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบและยาเส้น และเกษตรกร ได้รับการเยียวยาจากปัญหาการขาดสภาพคล่อง ตลอดจนเพื่อให้การยาสูบแห่งประเทศไทยได้มีการปรับตัวทางธุรกิจให้สามารถแข่งขันได้และยังคงมีการรับซื้อใบยาสูบจากเกษตรกรต่อไป โดยเสนอขยายเวลา การบังคับใช้อัตราภาษีปัจจุบันของบุหรี่ซิกาแรตและยาเส้นออกไปถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 และเลื่อนการบังคับใช้อัตราภาษีใหม่ของบุหรี่ซิกาแรตและยาเส้นออกไป โดยให้เริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  1. เลื่อนเวลาการบังคับใช้อัตราภาษีบุหรี่ซิกาแรตตามมูลค่าแบบอัตราเดียวที่ร้อยละ 40 และอัตราภาษีตามปริมาณที่ 1.20 บาทต่อหนึ่งมวน จากเดิมที่จะมีการบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป ออกไปเป็นวันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป
  2. เลื่อนเวลาการบังคับใช้อัตราภาษียาเส้นตามมูลค่าที่ร้อยละ 0 และอัตราภาษีตามปริมาณที่ 0.10 บาทต่อหนึ่งกรัม จากเดิมที่จะมีการบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป ออกไปเป็นวันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป

โฆษกกรมสรรพสามิต กล่าวทิ้งท้ายว่า ดังนั้น การขยายเวลาบังคับใช้อัตราภาษีบุหรี่ซิกาแรต และยาเส้นออกไป จึงเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกรผู้ปลูกใบยาทั้งสองกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน