พาณิชย์ เปิด 10 อันดับ ธุรกิจดาวเด่น ในยุคโควิด ครองเมือง

Business concept with copy space. Office desk table with pen focus and analysis chart, computer, notebook, cup of coffee on desk.Vintage tone Retro filter, selective focus.

พาณิชย์ เปิด 10 อันดับ ธุรกิจดาวเด่น ในยุคโควิดครองเมือง 

เว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ธุรกิจต่างๆ เริ่มกลับมาประกอบธุรกิจอีกครั้ง

ผู้ประกอบการทั้งรายเก่าและรายใหม่หันมาประกอบธุรกิจที่สอดรับกับการใช้ชีวิตยุค New Normal มากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัย ธุรกิจทางการแพทย์ และธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ

โดยธุรกิจดาวเด่นช่วงโควิด-19 จะมีความเกี่ยวข้องกับความต้องการขั้นพื้นฐานและเทคโนโลยีเป็นหลัก เช่น อาหาร ยารักษาโรค และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงธุรกิจขนส่งอาหารและสินค้า ประกอบด้วย 10 ธุรกิจ คือ

1) ธุรกิจการผลิตสิ่งของเครื่องใช้ด้านสุขอนามัยหรือเภสัชกรรมที่ทำจากยาง

2) ธุรกิจการขายส่งสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์

3) ธุรกิจการฆ่าเชื้อและกำจัด

4) ธุรกิจ e-Commerce

5) ธุรกิจการขายส่งอุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

6) ธุรกิจการบริการทำความสะอาดทั่วไปของตัวอาคาร

7) ธุรกิจจัดทำซอฟต์แวร์

8 ) ธุรกิจขนส่งสินค้าและพัสดุ

9) ธุรกิจการขายส่งสินค้าทั่วไป 

10) ธุรกิจเกี่ยวกับบัญชีการทำบัญชีและการตรวจสอบบัญชี การให้คำปรึกษาด้านภาษี

โดยทั้ง 10 ธุรกิจดาวเด่น สามารถจำแนกออกเป็นกลุ่มธุรกิจได้ดังนี้ 

ธุรกิจการผลิตสิ่งของเครื่องใช้ด้านสุขอนามัยที่ทำจากยางพารา การขายสินค้าทางเภสัชภัณฑ์ทางการแพทย์ และธุรกิจการฆ่าเชื้อโรค/กำจัด จากสถิติการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ พบว่า ในช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.63)

ธุรกิจกลุ่มนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 37 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ค.62) โดยเฉพาะธุรกิจที่ผลิตสิ่งของเครื่องใช้ด้านสุขอนามัยที่ทำจากยางพารา เช่น ถุงมือยาง พบว่าเพิ่มขึ้นมากกว่า 12 เท่า   

ธุรกิจ e-Commerce จากสถิติจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.63) เพิ่มขึ้นร้อยละ 35 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ค.62) เห็นได้ชัดว่าการสั่งซื้อสินค้าทางอินเตอร์เน็ตและการขนส่งทางไปรษณีย์เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคยอมรับมากขึ้น

ทั้งนี้ พฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วงเวลาอันสั้น แสดงถึงการปรับตัวและการยอมรับเพื่อเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ หรือ New Normal 

ทางกระทรวงพาณิชย์ เล็งเห็นถึงความสำคัญและมุ่งหมายในการพัฒนาส่งเสริมผู้ประกอบการกลุ่มนี้ จึงได้จัดโครงการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ได้แก่ โครงการ Offline 2 Online โครงการ Thailand e-Commerce (Hackathon) 2020 ฯลฯ เป็นต้น  

ธุรกิจจัดทำซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชั่น มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.63) เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยจำนวนที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับการเติบโตของธุรกิจ e-Commerce และพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น

แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการประกอบธุรกิจที่ผู้ค้าออนไลน์เริ่มให้ความสนใจในการพัฒนาแพลตฟอร์มช่องทางการค้าหรือประยุกต์การใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมช่องทางการค้าออนไลน์ของตัวเองมากยิ่งขึ้น  

ธุรกิจขนส่งอาหารและเอกสาร จากสถานการณ์ที่ผู้บริโภคต้องเว้นระยะห่างทางสังคม ความนิยมในการสั่งซื้อสินค้าและอาหารทางออนไลน์ ทำให้ธุรกิจขนส่งอาหาร เอกสาร และสิ่งของ เติบโตอย่างก้าวกระโดด

โดยมีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.63) ถึง 1,544 บริษัท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ค.62) ถึงร้อยละ 10  

ธุรกิจอื่นๆ เช่น บริการทำความสะอาด ขายส่งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ขายส่งสินค้าทั่วไป และธุรกิจเกี่ยวกับบัญชีการทำบัญชี การตรวจสอบบัญชี และการให้คำปรึกษาด้านภาษี

โดยธุรกิจกลุ่มนี้เป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำ เนื่องจากบริการจัดทำบัญชีและการตรวจสอบบัญชีเป็นสิ่งที่นิติบุคคลส่วนใหญ่ต้องใช้บริการ โดยมีแนวโน้มการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงขึ้นถึงร้อยละ 5 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

10 ธุรกิจดาวเด่นข้างต้น มีผู้ประกอบธุรกิจมาจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ค.62) แม้อยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประกอบด้วย

1) ธุรกิจการผลิตสิ่งของเครื่องใช้ด้านสุขอนามัยหรือเภสัชกรรมที่ทำจากยาง จำนวน 13 บริษัท เพิ่มขึ้น 12 เท่า (ม.ค.-ก.ค.62 จำนวน 1 บริษัท)

2) ธุรกิจการขายส่งสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์ จำนวน 438 บริษัท เพิ่มขึ้นร้อยละ 150 (ม.ค.-ก.ค.62 จำนวน 175 บริษัท)

3) ธุรกิจการฆ่าเชื้อและกำจัด จำนวน 67 บริษัท เพิ่มขึ้นร้อยละ 37 (ม.ค.-ก.ค.62 จำนวน 49 บริษัท)

4) ธุรกิจ e-Commerce จำนวน 508 บริษัท เพิ่มขึ้นร้อยละ 35 (ม.ค.-ก.ค.62 จำนวน 377 บริษัท)

5) ธุรกิจการขายส่งอุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 150 บริษัท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 (ม.ค.-ก.ค.62 จำนวน 126 บริษัท)      

6) ธุรกิจการบริการทำความสะอาดทั่วไปของตัวอาคาร จำนวน 123 บริษัท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 (ม.ค.-ก.ค.62 จำนวน 103 บริษัท)

7) ธุรกิจจัดทำซอฟต์แวร์ จำนวน 338 บริษัท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 (ม.ค.-ก.ค.62 จำนวน 294 บริษัท)

8 ) ธุรกิจขนส่งสินค้าและพัสดุ จำนวน 1,544 บริษัท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 (ม.ค.-ก.ค.62 จำนวน 1,400 บริษัท) 

9) ธุรกิจการขายส่งสินค้าทั่วไป จำนวน 393 บริษัท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 (ม.ค.-ก.ค.62 จำนวน 365 บริษัท) 

10) ธุรกิจเกี่ยวกับบัญชีการทำบัญชีและการตรวจสอบบัญชี การให้คำปรึกษาด้านภาษี จำนวน 498 บริษัท ลดลงร้อยละ 5 (ม.ค.-ก.ค.62 จำนวน 524 บริษัท)   

อย่างไรก็ตาม คาดว่าตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 เป็นต้นไป การประกอบธุรกิจของภาคธุรกิจจะเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นและเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น

ทั้งนี้ต้องพิจารณาถึงปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบที่ 2 ในประเทศ รวมทั้งผลกระทบจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าต่อไปได้