ไอร่า ลีสซิ่ง เตรียมวงเงินสินเชื่อ 500 ล้านบาท หนุน SMEs คู่ค้ารัฐ

ไอร่า ลีสซิ่ง เตรียมวงเงินสินเชื่อ 500 ล้านบาท หนุน SMEs คู่ค้ารัฐ

เอสเอ็มอี มีเฮ ไอร่า ลีสซิ่ง เตรียมเงินกว่า 500 ล้านบาท ปล่อยสินเชื่อโครงการทั้งสินเชื่อหมุนเวียนและสินเชื่อลีสซิ่ง ให้ผู้ประกอบการที่รับงานหน่วยราชการรัฐวิสาหกิจทำงานสำเร็จ

นายธีรธร ธุวานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอร่า ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AIL เปิดเผยว่า จากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกและรุนแรงกว่าที่คาด เป็นเหตุให้ภาวะเศรษฐกิจไทยหดตัวมากกว่าที่ประมาณการ แม้ภาครัฐจะมีมาตรการช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ตั้งแต่มาตรการการเงินที่ผ่อนคลาย มาตรการการคลัง มาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อสำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ รวมไปถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังแข็งแรงและสามารถทำธุรกิจได้เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการ SMEs ที่รับงานหรือเป็นคู่ค้ากับหน่วยงานภาครัฐ หรือที่มีสัญญากับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ที่อาจจะประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินหรือปัญหาการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนในระบบ หรือเนื่องจากความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อของระบบธนาคาร

นายธีรธร ธุวานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอร่า ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AIL
นายธีรธร ธุวานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอร่า ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AIL

นายธีรธร กล่าวว่า บมจ. ไอร่า ลีสซิ่ง มีนโยบายสนับสนุนช่วยเหลือและให้บริการผู้ประกอบการ SMEs โดยได้เตรียมวงเงินสินเชื่อโครงการ (Project Finance) ทั้งสินเชื่อหมุนเวียนเพื่อเสริมสภาพคล่อง (Short Term Loan) และสินเชื่อลีสซิ่ง (Leasing & Hire-Purchase) กว่า 500 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเงินทุนให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือมีสัญญาซื้อขายสินค้าและบริการกับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่เพื่อให้มีเงินทุนเตรียมผลิตสินค้าหรือบริการเพื่อดำเนินการในการส่งมอบ หรือมีแผนขยายธุรกิจ หรือที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนสำรองเพื่อการดำเนินงานเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง

“ตอนนี้การลงทุนภาครัฐในโครงการอภิมหาโปรมากมาย ซึ่งโครงการงานของหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ จะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว เราต้องการช่วยให้ผู้ประกอบการซึ่งเป็น SMEs ที่ได้งานหรือรับงาน เพื่อจัดซื้อวัตถุดิบและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับงานโครงการก่อสร้างภาครัฐ อย่างผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้าง และผู้ประกอบการ SMEs ที่รับงานจัดซื้อจัดจ้างจากหน่วยราชการ ให้มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอเพื่อดำเนินการตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นโครงการจนจบงานการก่อสร้างเสร็จ”

ที่ผ่านมา บมจ.ไอร่า ลีสซิ่ง ได้มีการปล่อยสินเชื่อโครงการ (Project Finance) ให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่รับงานของหน่วยราชการไปบ้างแล้ว อย่างเช่น ผู้รับเหมาก่อสร้างถนน หรือ งานจัดซื้อจัดจ้างรถพยาบาลนวัตกรรม ของโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งอาจจะยังไม่มากนัก แต่หลังจากนี้ ทางบริษัทจะเน้นสนับสนุนให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นคู่ค้าของหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และบริษัทเอกชนขนาดใหญ่มากขึ้น

นายธีรธร กล่าวอีกว่า ผลิตภัณฑ์สินเชื่อหมุนเวียนเพื่อเสริมสภาพคล่องของ ไอร่า ลีสซิ่ง นี้ มีความยุ่งยากน้อยกว่า เนื่องจากไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้เหมือนสินเชื่ออื่นๆ ของธนาคารพาณิชย์ ทำให้สามารถเพิ่มกระแสเงินสดหมุนเวียนในโครงการต่างๆ ของผู้ประกอบการ SMEs อีกทั้งบริษัทยังช่วยกำหนดเงื่อนไขการผ่อนชำระคืนเงินกู้ให้สอดคล้องกับขั้นตอนการรับชำระเงินของโครงการนั้นๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถบริหารเงินทุนและกระแสเงินสด ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีสัญญาจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าว และสนใจขอสินเชื่อจะต้องเป็นนิติบุคคล ดำเนินธุรกิจมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในการรับงานโครงการของหน่วยงานภาครัฐ มีประวัติทางการเงินที่ดี ผลประกอบการที่แสดงในงบการเงินมีกำไรและส่วนทุน (net worth) เป็นบวก ไม่มีประวัติการทิ้งงานหรือสร้างความเสียหายให้กับโครงการ หรือหน่วยงานภาครัฐ และต้องมีเอกสารสัญญาการรับงานเพื่อมาประกอบการพิจารณา

ที่ผ่านมา บมจ.ไอร่า ลีสซิ่ง ให้บริการทางการเงินโดยทำธุรกิจให้สินเชื่อประเภทลีสซิ่งและเช่าซื้อ (Leasing & Hire-Purchase) สำหรับยานพาหนะ เครื่องจักร และอุปกรณ์สำหรับทุกอุตสาหกรรม โดยมีโมเดลการทำธุรกิจร่วมกับคู่ค้าที่เป็นดีลเลอร์ขนาดใหญ่ในลักษณะเป็น Business Partner ที่จะมีการทำการตลาดร่วมกัน แนะนำลูกค้าให้กันและกัน และมีโครงการสินเชื่อสวัสดิการเช่าซื้อรถยนต์ให้กับพนักงานบริษัทที่เป็นคู่ค้าและลูกค้าของ บมจ.ไอร่า ลีสซิ่ง โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเพิ่มเติมความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ทั้งนี้ เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น สัดส่วนกลุ่มลูกค้าในพอร์ตทั้งหมด 70% เป็นผู้ประกอบการ SMEs และที่เหลือ 30% เป็นลูกค้ารายย่อย โดยปัจจุบันมีสินเชื่อคงค้างประมาณ 1,200 ล้านบาท