กรมควบคุมโรค เตือน ช่วงหน้าฝนระวัง เห็ดพิษ หากไม่แน่ใจอย่าเก็บมากิน

กรมควบคุมโรค เตือน ช่วงหน้าฝนระวัง เห็ดพิษ หากไม่แน่ใจอย่าเก็บมากิน
กรมควบคุมโรค เตือน ช่วงหน้าฝนระวัง เห็ดพิษ หากไม่แน่ใจอย่าเก็บมากิน

กรมควบคุมโรค เตือน ช่วงหน้าฝนระวัง เห็ดพิษ หากไม่แน่ใจอย่าเก็บมากิน

วันที่ 15 ส.ค. กรมควบคุมโรค เผยแพร่ “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์” ฉบับที่ 275 ประจำสัปดาห์ที่ 33 (วันที่ 16-22 ส.ค. 63) โดย นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค

จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดพิษ ปี 2563 (วันที่ 1 ม.ค.-13 ส.ค. 63) พบผู้ป่วยแล้ว 1,093 ราย ใน 43 จังหวัด เสียชีวิต 7 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับแรก คืออายุมากกว่า 65 ปี (24.43%) รองลงมาคืออายุ 45-54 ปี (23.06%) และอายุ 55-64 ปี (20.13%) โดยมีเหตุการณ์ที่เข้าเกณฑ์การตรวจสอบข่าวการระบาดของกรมควบคุมโรค (ผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อน) 13 เหตุการณ์ รวมผู้ป่วยทั้งสิ้น 63 ราย ซึ่งเหตุการณ์ส่วนใหญ่เกิดในเดือน มิ.ย. รองลงมาคือ ก.ค. และ ส.ค. ส่วนภูมิภาคที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือภาคเหนือ ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานพบผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจากเห็ดพิษเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันและมีอาการป่วยรุนแรง 9 ราย ในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี

การพยากรณ์โรค และภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าจะพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดพิษเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเห็ดหลายชนิด โดยเฉพาะเห็ดป่าในพื้นที่ธรรมชาติ เห็ดป่า มีทั้งเห็ดที่รับประทานได้และเห็ดพิษ โดยมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดได้ ประกอบกับความเข้าใจ และความเชื่อในการลดพิษของเห็ด หรือวิธีทดสอบเห็ดพิษ ซึ่งยังไม่สามารถพิสูจน์ให้แน่ชัดได้ว่าเป็นจริงหรือไม่ตามหลักทางวิทยาศาสตร์

ทั้งนี้ การจำแนกเห็ดพิษไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่สามารถทำลายพิษได้ด้วยความร้อน ประชาชนจึงควรตระหนักและระมัดระวังในการนำเห็ดมารับประทาน อาการที่สังเกตได้หลังรับประทานเห็ดพิษ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ปวดท้อง เป็นตะคริวที่ท้อง ภายใน 6-24 ชั่วโมง หากเกิน 24 ชั่วโมงจะทำให้เกิดภาวะไต/ตับวาย จนอาจทำให้เสียชีวิตได้

กรมควบคุมโรค ขอแนะนำว่า หากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หลังรับประทานเห็ด ควรรีบปฐมพยาบาลให้ผู้ป่วยอาเจียนเอาเศษอาหารที่ตกค้างออกมาให้มาก และทำการช่วยดูดพิษจากผู้ป่วยโดยวิธีใช้น้ำอุ่นผสมผงถ่าน (activated charcoal) และดื่ม 2 แก้ว โดยแก้วแรกให้ล้วงคอให้อาเจียนออกมาเสียก่อนแล้วจึงดื่มแก้วที่ 2 แล้วล้วงคอให้อาเจียนออกมาอีกครั้ง หากผู้ป่วยอาเจียนออกยากให้ใช้เกลือแกง 3 ช้อนชาผสมน้ำอุ่นดื่ม จะทำให้อาเจียนได้ง่ายขึ้น แต่วิธีนี้ห้ามใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และห้ามล้างท้องโดยการสวนทวารโดยเด็ดขาดเพราะอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้หากผู้ป่วยขาดน้ำ แล้วให้รีบนำไปพบแพทย์โดยเร็ว และให้ประวัติการรับประทานอาหารย้อนหลัง พร้อมนำตัวอย่างเห็ดและอาหารที่เหลือจากการรับประทานไปตรวจวิเคราะห์ด้วย

ทั้งนี้ ขอเตือนประชาชนว่าหากไม่แน่ใจ ไม่รู้จัก หรือสงสัยว่าจะเป็นเห็ดพิษ ไม่ควรเก็บหรือซื้อมาปรุงอาหาร ควรเลือกเห็ดจากแหล่งที่มีการเพาะพันธุ์เพื่อความปลอดภัย หลีกเลี่ยงเห็ดจากธรรมชาติ และควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับเห็ด ประชาชนสอบถามข้อมูลได้ที่ศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี โทร. 1367 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422