มาดามแมงโก้ ผู้ผลิตผลไม้แปรรูป คว้าแชมป์ นักธุรกิจนวัตกรรม จาก NSP

มาดามแมงโก้ ผู้ผลิตผลไม้แปรรูป คว้าแชมป์ นักธุรกิจนวัตกรรม จากอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ

นายราเมศ  รัตยันตรกร ผู้ก่อตั้งบริษัท มาดามแมงโก้ จำกัด เกษตรกรผู้ไม่ย่อท้อจากจังหวัดเชียงใหม่ พัฒนาสินค้าเกษตรของไทย ด้วยแนวคิดสินค้าเกษตร 4.0 นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจยกระดับการผลิต ทั้งกระบวนการ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปที่มีคุณภาพ เพิ่มมูลค่า พร้อมโชว์หมัดเด็ดเอาชนะใจกรรมการ ด้วยแผนดำเนินธุรกิจ สร้างการรับรู้ และทำการตลาดแบบ “Triple O” (3โอ)

ซึ่งเป็นแนวทางการทำตลาดสำคัญที่ธุรกิจ SMEs ในหลายอุตสาหกรรม สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าและเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้มาก  ทั้งยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่า สร้างความโดดเด่นและเอกลักษณ์ให้กับผลผลิตทางการเกษตรในท้องถิ่นภาคเหนือ สู่การเติบโตที่ยั่งยืน

นายราเมศ  รัตยันตรกร ผู้ก่อตั้งบริษัท มาดามแมงโก้ จำกัด เกษตรกรผู้ไม่ย่อท้อจากจังหวัดเชียงใหม่

โดย Triple O นี้ หมายถึง 1. Online การทำธุรกิจหลักผ่านช่องทางการตลาดออนไลน์ทั้งในและต่างประเทศ, 2. OEM การรับผลิตและแปรรูปผลไม้ภายใต้แบรนด์สินค้าของลูกค้า และ 3. Offline หรือการขายหน้าร้านผ่านช่องทางจำหน่ายต่างๆ เช่น ร้านค้า Outlet และพันธมิตรทางธุรกิจ โดยตอบโจทย์ที่ท้าทายกับสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ในปัจจุบัน และสร้างความเป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติสูงสุดพร้อมแก้ปัญหาทางธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม

ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทมาดามแมงโก้ ได้เริ่มต้นนำแนวคิดการทำตลาดแบบออนไลน์มาใช้ควบคู่กับการให้บริการแบบครบวงจร โดยใช้วิธีเป็นเสมือนหลังบ้านให้ลูกค้าได้เติบโตไปพร้อมกัน จากการให้บริการแปรรูปสินค้า (ผลไม้) อย่างมีคุณภาพ ให้คำปรึกษาและอบรมเรื่องการตลาด รวมถึงการสร้างแบรนด์ เพื่อประชาสัมพันธ์และส่งเสริมภาพลักษณ์ ซึ่งนับเป็นกลยุทธ์หลักที่ทำให้ธุรกิจของมาดามแมงโก้ ประสบผลสำเร็จ จนสามารถคว้ารางวัลสำคัญอันทรงเกียรติของภาคเหนือจากเวทีนี้ และเป็นอีกหนึ่งย่างก้าวความสำเร็จที่ภาคภูมิใจของเกษตรกรยุคใหม่ที่ใช้แนวคิด เกษตร 4.0 แบบครบวงจร

ผศ.ดร.ชนม์เจริญ แสวงรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผศ.ดร.ชนม์เจริญ แสวงรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผศ.ดร.ชนม์เจริญ แสวงรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในฐานะหน่วยงานหลักในการดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือและผู้จัดการประกวดรางวัล NSP INNOVATION AWARDS 2020 ว่า การประกวดดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจที่รับบริการจากมหาวิทยาลัยเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ได้แสดงศักยภาพทางธุรกิจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผ่านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

รวมถึงการเป็นนักธุรกิจนวัตกรรมที่ดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 พร้อมปรับเปลี่ยนวิธีการจัดงานรูปแบบใหม่ โดยจัดประกวดในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ผ่าน VDO Conference เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมในวิถี New Normal สำหรับผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัลและโล่ประกาศเกียรติคุณ โดยบริษัท มาดามแมงโก้ มีกำหนดขึ้นรับรางวัลในงาน NSP INNOVATION FAIR 2020 ณ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมเป็นตัวแทนภาคเหนือเข้าร่วมประกวดแข่งขัน RSP INNOVATION AWARDS 2020 ระดับประเทศในช่วงเดือนกันยายนนี้

สำหรับมาดามแมงโก้ เป็นหนึ่งในธุรกิจผู้ประกอบการ ที่ร่วมโครงการการจัดหลักสูตรฝึกอบรมเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจอาหารในภาคเหนือ ด้วยแนวคิดนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) กับอุทยานฯ ในปี 2561 โดยสามารถต่อยอดองค์ความรู้ พัฒนาตนเอง และสะสมประสบการณ์จากการโครงการไปสู่เวทีต่างๆ  จนมีโอกาสได้รับคัดเลือกจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ให้เป็นหนึ่งในตัวแทนผู้ประกอบการกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มพร้อมรับประทาน จากประเทศไทย และเป็นหนึ่งเดียวของเชียงใหม่ในหมวดนี้

โดยนำเสนอแนวคิด “รักในท้องถิ่น หรือ โลคัล เลิฟ”  กับผลงานผลิตภัณฑ์ “ข้าวป๊อป” ที่ทำจากข้าวหอมมะลิและผลไม้ท้องถิ่นแปรรูป สู่งานมหกรรมระดับโลกในงาน World Expo 2020 ณ มหานครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ ล่าสุด มาดามแมงโก้ ยังจะได้เข้าร่วมในงาน THAIFEX-ANUGA ASIA 2020 ในงานใหญ่ประจำปีของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มระดับโลกของไทย  ระหว่างวันที่ 22-26 กันยายน 2563 ด้วยการได้รับการคัดเลือก เพื่อเป็นตัวแทนไปร่วมงาน 3 ปี ติดต่อกัน จากหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ  โดยในปีนี้ ผ่านการคัดเลือก จาก สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)  และสถาบันอาหาร