อย. ออกประกาศ แนะ ปชช. ซื้อปลาหมึกแห้ง จากแหล่งน่าเชื่อถือ ลดเสี่ยง แคดเมียม

อย. ออกประกาศ แนะ ปชช. ซื้อปลาหมึกแห้ง จากแหล่งน่าเชื่อถือ ลดเสี่ยง แคดเมียม

เว็บไซต์ สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยข่าว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเผยผลตรวจสอบปลาหมึกแห้งพบการปนเปื้อนของแคดเมียม อย. ร่วมกับ สสจ. เข้าตรวจสอบและเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลตรวจวิเคราะห์ แนะผู้บริโภคซื้อปลาหมึกแห้งจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เพื่อความปลอดภัย

นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เผยผลการตรวจสอบปลาหมึกแห้ง จำนวน 13 ตัวอย่าง พบ 7 ตัวอย่าง มีการปนเปื้อนของแคดเมียมในปริมาณ 2.003, 2.393, 2.537, 3.006, 3.303, 3.432 และ 3.872 มก./กก. ตามลำดับนั้น

อย. ขอชี้แจงว่า แคดเมียมเป็นโลหะหนักที่พบปนเปื้อนได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อมทั้งดิน และน้ำ จึงพบการปนเปื้อนในปลาหมึกซึ่งเป็นสาเหตุของการปนเปื้อนโดยไม่ตั้งใจและหลีกเลี่ยงได้ยาก ด้วยเหตุนี้ อย. จึงออกประกาศ สธ. ว่าด้วยเรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน โดยกำหนดปริมาณการปนเปื้อนสูงสุดของแคดเมียมในปลาหมึกสดได้ไม่เกิน 2 มก./กก. (น้ำหนักเปียก) ซึ่งคำนวณเป็นปริมาณการปนเปื้อนในปลาหมึกแห้งได้ไม่เกิน 4.88 มก./กก. (น้ำหนักแห้ง)

นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา
นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา

ทั้งนี้ อย. ได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเข้าตรวจสอบและเก็บตัวอย่าง ณ สถานที่จำหน่ายแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างส่งตรวจวิเคราะห์ที่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หากได้รับรายงานผลการตรวจ ทาง อย. จะแจ้งให้ผู้บริโภคทราบต่อไป อย่างไรก็ดี อย. ได้มีการเฝ้าระวัง ตรวจสอบติดตามคุณภาพของปลาหมึกแห้งและปลาหมึกสดอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งหากตรวจพบผลิตภัณฑ์อาหารมีปริมาณโลหะหนักเกินมาตรฐานกำหนด จะมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท และหากตรวจพบการปนเปื้อนโลหะหนักในปริมาณที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

รองเลขาธิการ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า อย. ขอให้ผู้บริโภคเลือกซื้อปลาหมึกแห้งจากสถานที่จำหน่าย (ตลาด/ร้านค้า) ที่สะอาดและน่าเชื่อถือ สามารถให้ข้อมูลแหล่งที่มาของสินค้านั้นได้ และควรบริโภคปลาหมึกแห้งอย่างพอเหมาะ ไม่บ่อยครั้งจนเกินไป เนื่องจากปลาหมึกแห้งเป็นอาหารที่มีคอเลสเตอรอล และโซเดียมค่อนข้างสูง หากบริโภคมากเกินเป็นประจำ อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ ที่สำคัญ ควรรับประทานอาหารให้หลากหลายในปริมาณที่พอเหมาะ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้สุขภาพแข็งแรง หากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภค สามารถร้องเรียนมาได้ที่ สายด่วน อย. โทร. 1556 หรือ สํานักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อ อย. จะดําเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ที่กระทําผิดต่อไป