“พิเชฐ” คว้ารางวัลผู้นำนโยบายสตาร์ทอัพระดับชาติของโลก ดันสตาร์ทอัพไทย ผงาดสู่สากล

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำสตาร์ทอัพไทยก้าวสู่สากล ด้วยการคว้ารางวัลผู้นำนโยบายสตาร์ทอัพระดับชาติ เฉือนผู้บริหารระดับรัฐมนตรีจากอีก 6 ประเทศ ในเวทีประชาคมสตาร์ทอัพระดับโลก ซึ่งจัดโดย Global Entrepreneurship Network ในงาน Startup Nations Summit ที่เมืองคอร์ค สาธารณรัฐไอร์แลนด์

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ที่เมืองคอร์ค สาธารณรัฐไอร์แลนด์ มีการประกาศผลผู้ได้รับรางวัล ในงาน Startup Nations Summit ประจำปี 2559 เวทีนี้ถือเป็นเวทีแห่งประชาคมสตาร์ทอัพระดับโลก จัดโดย Global Entrepreneurship Network ซึ่งมีการมอบรางวัลใน 3 สาขา ได้แก่ 1) สาขาผู้ขับเคลื่อนสตาร์ทอัพระดับชุมชนเมือง 2) สาขาผู้นำด้านนโยบายสตาร์ทอัพระดับชาติ และ 3) สาขาผู้ริเริ่มกิจกรรมสตาร์ทอัพใหม่ๆ ผลปรากฎว่า นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย ได้รับการประกาศให้เป็นผู้ได้รับรางวัลในสาขาผู้นำด้านนโยบายสตาร์ทอัพระดับชาติ ซึ่งสาขานี้มีผู้เข้ารอบสุดท้ายระดับรัฐมนตรี 7 คนจากหลายประเทศในโลก อาทิ ออสเตรีย และโปรตุเกส เป็นต้น ทั้งนี้ผู้คว้ารางวัลอันทรงเกียรตินี้ในปีที่ผ่านมาคือ ดร. ชอย ยาง ฮี รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการสื่อสาร และการวางแผนอนาคต จากเกาหลีใต้

นายพิเชฐฯ กล่าวหลังจากการขึ้นรับรางวัลดังกล่าวว่า “รู้สึกเป็นเกียรติแก่ประเทศไทยมากที่สตาร์ทอัพไทยได้ก้าวขึ้นมาในเวทีระดับโลกในช่วงระยะเวลาไม่นาน รางวัลนี้แสดงถึงความยอมรับในสตาร์ทอัพของไทยในสายตาของประชาคมสตาร์ทอัพจากทั่วโลก ต้องขอขอบพระคุณนายกรัฐมนตรี ท่านรองนายกฯสมคิด ที่ได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง และให้โอกาสพวกเราผลักดันขับเคลื่อนอย่างเต็มกำลัง ต้องขอบคุณผู้บริหารและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคลากรระดับต่างๆ ในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่ทุ่มเท และทำงานประสานกับกระทรวงต่างๆ และสตาร์ทอัพไทยได้อย่างเหนียวแน่นและมีความก้าวหน้าเป็นที่ประจักษ์ จนกระทั่งได้รับการยอมรับในระดับสากล”

โดยก่อนหน้านี้ มีอีกภารกิจสำคัญในการเดินทางมาสาธารณรัฐไอร์แลนด์ครั้งนี้คือ การเข้าร่วมงาน Startup Nations Summit และการบรรยายในการประชุม Policy Priorities for 2017 เพื่อช่วยกันกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายสตาร์ทอัพและเตรียมการก่อนการประชุมใหญ่ Global Entrepreneurship Congress (GEC) ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนมีนาคม ปีหน้าที่นครโยฮันเนสเบิร์ก ประเทศอาฟริกาใต้ คาดว่าจะมีผู้นำและผู้เกี่ยวข้องในสาขาต่างๆมารวมตัวกันราว 10,000 คน จาก 165 ประเทศทั่วโลก

นอกจากนี้ยังมีโอกาสร่วมหารือกับ นายโจนาธาน ออร์สมานส์ ประธานและผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายพัฒนาผู้ประกอบการโลก (Global Entrepreneur Network) ในเรื่อง ภาวะผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) ของโลก ซึ่งตนได้นำเสนอในสิ่งที่ประเทศไทยได้ทำมา เช่น การจัดงานสตาร์ทอัพไทยแลนด์ (Startup Thailand) และสตาร์ทอัพไทยแลนด์ระดับภูมิภาค (Regional Startup Thailand) ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากรัฐบาล เนื่องจากมีการเล็งเห็นความสำคัญที่จะให้สตาร์ทอัพเป็นอีกหนึ่งกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และตนได้แบ่งปันแนวนโยบายว่า ประเทศไทยมองเรื่องสตาร์ทอัพและภาวะผู้ประกอบการมากไปกว่าในกลุ่มของไอทีหรือไฮเทคเท่านั้น แต่จะใช้เป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาเดิมๆ ที่ประเทศไทยมีโดยเฉพาะในภาคการเกษตร และจะใช้เพื่อช่วยลดช่องว่างระหว่างชนชั้นในสังคม

กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ต้องการใช้กลไกของสตาร์ทอัพเป็นแรงดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้มาช่วยแก้ปัญหาด้านการเกษตร รวมถึงเพิ่มคุณค่าของการเกษตร เพื่อเป็นแรงดึงดูดให้คนรุ่นใหม่กลับไปทำงานที่บ้านเกิด แทนที่จะต้องมาเป็นลูกจ้างในบริษัทในเมืองหลวง ซึ่งขณะนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กำลังทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยกว่า 30 แห่งทั่วประเทศ ในการนำหลักสูตรเรื่องผู้ประกอบการเข้าไปสอนในมหาวิทยาลัย

รวมถึงการช่วยสร้างระบบนิเวศให้กับระบบสตาร์ทอัพของไทยเพื่อให้การศึกษาในมหาวิทยาลัยนั้น กลับมีชีวิตชีวาเพิ่มมากขึ้น โดยนายโจนาธานได้แสดงเจตนารมณ์ในการช่วยทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศชั้นแนวหน้าในการผลักดันนโยบายในด้านผู้ประกอบการ ด้วยเห็นว่าสตาร์ทอัพและ ผู้ประกอบการจะเป็นกุญแจสำคัญเพื่อให้เกิดการเติบโตของเศรษฐกิจและมีความมั่นคงทางสังคม แต่ก็มีปัญหาใหญ่ๆ ที่สตาร์ทอัพไม่สามารถแก้ไขได้เอง แต่ต้องการการสนับสนุนและนโยบายที่เหมาะสมจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านการศึกษา หรือปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำ รวมถึงการแก้กฎหมายให้เหมาะสม และการสนับสนุนให้สตาร์ทอัพสามารถขยายตลาดในเวทีระดับประเทศ และระดับนานาชาติต่อไปได้

s__6594587-682x1024

 

ที่มา มติชน