ผู้เขียน | ไมตรี ลิมปิชาติ |
---|---|
เผยแพร่ |
อาชีพทำสวนสมรม รายได้ไม่เดือดร้อน ส่งลูกเรียนในตัวเมืองได้ 5 คน
เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา ผมกับเพื่อนๆ รุ่นเดียวกันรวม 8 คน เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปงานศพเพื่อนที่เมืองคอน (นครศรีธรรมราช)
หลังจากงานศพผ่านพ้นไป เราได้ชักชวนกันไปเยี่ยม จรูญ สุประดิษฐ ซึ่งเป็นเพื่อนชั้นมัธยมรุ่นเดียวกัน
เราเดินทางไปพบ จรูญ ด้วยความตื่นเต้น ตื่นเต้นทั้งเส้นทางที่ต้องนั่งรถไปบนถนนที่ลัดเลาะเข้าป่าของเทือกเขาหลวง (เทือกเขานครศรีธรรมราช) แล้วยังตื่นเต้นที่จะพบกับจรูญด้วย เพราะไม่ได้พบกับเขามานานมาก ก็ตั้งแต่เรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 รวมเวลาร่วม 60 กว่าปี
ไม่น่าเชื่อว่า จากวัยเด็ก มาถึงวัยแก่ ผ่านไปอย่างรวดเร็วเหลือเกิน บ้านของจรูญ อยู่ที่ ตำบลกรุงชิง อำเภอนบพิตำ
การนัดพบกันครั้งนี้ มี อนันต์ สิงหโกวินทร์ เพื่อนคนหนึ่งของพวกเราเป็นผู้ประสานงานให้ทางโทรศัพท์
จรูญ บอกมาตามสายว่าจะรอทุกคนอยู่ที่วัดบ่อน้ำพุร้อน เพราะจะสะดวกไปง่ายกว่านัดพบที่บ้าน
เมื่อได้พบกัน เราต่างจำกันไม่ค่อยได้ เพราะต่างคนต่างแก่ ทุกอย่างเปลี่ยนไป จำได้แต่ความหลังว่าเราเคยเป็นเพื่อนร่วมห้องเรียนหนังสือมาด้วยกัน
จรูญ ได้จัดอาหารเลี้ยงเราที่บ้าน ซึ่งอยู่กลางสวนผลไม้
อาหารที่นำมาเลี้ยงพวกเราเป็นอาหารอีสาน ซึ่งจรูญ บอกเองว่า ลูกสะใภ้ซึ่งอยู่ด้วยกันเป็นคนอีสาน จึงถนัดที่จะทำเลี้ยง
ถึงแม้เราไม่ได้พบกันนาน แต่เราก็พูดคุยกันอย่างสนิทสนม
จรูญ ได้เอาทุเรียนมาเลี้ยงพวกเราด้วย เป็น ทุเรียนป่า รสหวานหอมอร่อย จรูญ บอกว่า ตอนนี้เหลือแต่ทุเรียนป่าเท่านั้น ทุเรียนพันธุ์ เช่น หมอนทอง ได้วายไปหมดแล้ว
ทุเรียน ทำรายได้ให้จรูญค่อนข้างมากทุกปี ตอนนี้ได้ปลูกเพิ่มอีกกว่าร้อยต้น ส่วนทุเรียนป่า ปกติจะไม่กินสด แต่จะเอาไว้กวน เพราะทุเรียนกวนที่ทำจากทุเรียนป่ารสชาติจะดีกว่าหมอนทอง
จรูญ ไม่ได้พูดเฉยๆ ยังได้เอา ทุเรียนกวน มาให้พวกเราได้กินด้วย ทุเรียนกวนของเมืองคอน จะห่อด้วยกาบหมาก จึงทำให้มีกลิ่นหอมเพิ่มขึ้น ที่สำคัญ ทำให้สามารถรักษาคุณภาพของทุเรียนให้อยู่ได้นานด้วย
พวกเราที่เรียนหนังสือมาด้วยกัน ส่วนใหญ่พอเรียนจบมัธยมปีที่ 6 ก็จะเข้าไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ เพื่อนๆ จึงมีทั้งได้เป็นอัยการ เป็นวิศวกรรับเหมาก่อสร้าง เป็นนายด่านศุลกากร เป็นอาจารย์ เป็นทนายความ เป็นนักธุรกิจ และอื่นๆ อีกหลายอาชีพ
ทว่า จรูญ เป็นชาวสวนมาตั้งแต่ต้นจนกระทั่งมาถึงวันนี้ก็ยังเป็นชาวสวน
เพื่อนๆ คนอื่นๆ ต่างปลดเกษียณ หรือไม่ก็วางมือจากการทำงานกันหมดแล้ว แต่จรูญ ยังเป็นชาวสวนอยู่เหมือนเดิม
ถูกแล้ว ชาวสวนไม่จำเป็นต้องปลดเกษียณ หรืออย่างเก่งก็มอบหมายให้ลูกทำต่อ โดยตัวเองเป็นที่ปรึกษาอยู่ใกล้ๆ
เมื่อพวกเราอยากรู้ความเป็นมาของจรูญ ตั้งแต่ต้นจนวันนี้ จรูญไม่ขัดข้องที่จะเล่าให้เพื่อนๆ ฟังโดยคร่าวๆ ว่า
ด้วยเหตุขัดข้องทางด้านการเงิน พ่อแม่ไม่สามารถส่งให้จรูญไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ได้ ระยะแรกๆ ก็ทำให้จรูญคิดมากเหมือนกัน แต่ก็ไม่นาน เพราะเมื่อพ่อแม่ทำสวน เขาก็ควรสืบทอดการทำสวนต่อได้
ตำบลกรุงชิง สมัยโน้นห่างไกลความเจริญ ไฟฟ้าก็ไม่มีใช้ โทรศัพท์ก็ไม่มี แต่เขาก็ทนอยู่จนได้ เพราะดีกว่าไปหางานทำในตัวเมืองคอน ซึ่งเมื่อมีความรู้น้อย ก็ต้องได้งานที่ไม่ดี ทำสวนน่าจะดีกว่า ประกอบกับเขามีสวนของพ่อแม่ให้ได้ทำอยู่แล้ว ไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องหาเพิ่ม เพียงทำให้ดีขึ้น ก็อยู่ได้
ตอนที่เขาเริ่มต้นทำสวนนี้ มียางพาราเป็นหลัก นอกนั้นก็จะปลูกเงาะ ลางสาด ลองกองยังไม่มี เพิ่งมาปลูกตอนหลัง
แต่ส่วนใหญ่จะเป็นสวนสมรม หรือที่เรียกว่า สวนผสม คือ ภายในสวนจะมีทั้งมังคุด หมาก สะตอ
การทำสวนแล้วปลูกผลไม้ไว้ให้ได้หลายชนิด ดีตรงที่ บางปีถ้ามังคุดราคาตก แต่หมากจะราคาดี หรือยางพาราราคาตก ก็มีผลไม้อย่างอื่นมาช่วยให้มีรายได้ เช่น มังคุด ลางสาด เงาะ เป็นต้น
สำหรับทุเรียนนั้น แทบทุกต้นเป็นทุเรียนป่า เป็นทุเรียนที่ขึ้นเองตามป่า ต้นใหญ่และสูง ต้องรอให้ผลหล่นลงมาเอง
ต่อมา จรูญได้นำทุเรียนพันธุ์หมอนทองมาปลูก โดยต่อตาเข้ากับทุเรียนป่า ทำให้มีรายได้ดีขึ้น
ผลผลิตที่ได้ ในสมัยแรกๆ ลำบากมาก เพราะถนนที่รถยนต์แล่นได้ไม่มี มีแต่ทางเดินแคบๆ ต้องแบกหาม หรือไม่ก็ต้องใช้รถมอเตอร์ไซค์ขนส่งผลไม้ไปขาย
มาถึงวันนี้ ชาวสวนสะดวกสบาย เพราะจะมีพ่อค้าแม่ค้าขับรถกระบะมาขอซื้อถึงสวน เพื่อนำไปขายต่อ ถึงแม้บางปีได้ราคาไม่ดีเท่าไร ก็ยังดีกว่าปล่อยให้เน่าคาต้น แต่ก็มีรายได้ไม่เดือดร้อน สามารถส่งลูกๆ ไปเรียนในตัวเมืองได้ทั้ง 5 คน
ตอนกลับจากบ้านของจรูญ เขาได้ออกมาส่งพวกเราถึงรถตู้ ทั้งๆ ที่เขาอายุ 81 ปีเข้าไปแล้ว แต่ยังดูหนุ่มกว่าอายุ รูปร่างดี ไม่อ้วน
ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะอาชีพชาวสวน ทำให้ได้ออกกำลัง อีกทั้งยังได้รับอากาศดีอีกต่างหาก ที่แน่ๆ ไม่ทำให้เครียดเหมือนมีชีวิตอยู่กรุงเทพฯ