สธ.ยันกฎหมายไม่ขวาง ‘พยาบาล’ เปิดคลินิกร่วมกับแพทย์ แต่ห้ามรักษาคนไข้

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน นพ.ธงชัย กีรติหัถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ได้รับการสอบถามจากประชาชนจำนวนมากเกี่ยวกับการให้บริการของคลินิกตรวจรักษาประชาชน โดยเฉพาะผู้เป็นแพทย์และพยาบาล ซึ่งประชาชนจะคุ้นเคยและมักเรียกว่า ‘หมอ’ เหมือนกัน

จึงขอชี้แจงทำความเข้าใจว่า แพทย์พยาบาลสามารถเปิดคลินิกร่วมกันได้ ดำเนินการในพื้นที่เดียวได้ในลักษณะสหคลินิก แต่ต้องแยกบริการเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจนว่า เป็นการบริการด้านเวชกรรมหรือการพยาบาลและผดุงครรภ์ ส่วนผู้ดำเนินการคลินิกนั้น จะเป็นแพทย์หรือพยาบาลก็ได้ ในกรณีที่เป็นคลินิกเวชกรรม ซึ่งผู้ดำเนินการเป็นแพทย์และพยาบาลประจำคลินิกด้วย พยาบาลประจำคลินิกนี้จะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ผู้ช่วยแพทย์เท่านั้น ไม่สามารถประกอบอาชีพร่วมและไม่สามารถทำหน้าที่ตรวจรักษาแทนแพทย์ได้ในทุกกรณี เนื่องจากผิด พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 เข้าข่ายหมอปลอม มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ยกเว้นเพียงกรณีเดียว คือ กรณีที่เป็นคลินิกไตเทียม ซึ่งตามกฎหมายกำหนดต้องมีผู้ประกอบอาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นหนึ่งที่ผ่านการอบรมการฟอกเลือดด้วยไตเทียม มีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 1 คน ต่อผู้ป่วยที่รับการฟอกเลือด ด้วยเครื่องไตเทียม 4 คน

“หากประชาชนพบเห็นคลินิกที่มีการกระทำไม่ถูกต้อง เช่น ให้พยาบาลหรือผู้ที่ไม่ใช่แพทย์มาทำหน้าที่ตรวจรักษาแทนแพทย์ ขอให้งดรับบริการ และแจ้งที่สายด่วน 0 2193 7999 ทันที หรือส่งข้อมูลมาทางเฟซบุกสารวัตรออนไลน์ เฟซบุกสถานพยาบาลเถื่อน จากนั้น สบส.จะดำเนินการทางกฎหมายทันที” นพ.ธงชัย กล่าว

ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนออกใบอนุญาตให้คลินิกต่างๆ จะออกตามลักษณะของสถานพยาบาลและการให้บริการ ซึ่งมี 10 ประเภท ได้แก่ 1.คลิเวชกรรม 2.คลินิกเวชกรรมเฉพาะทางดำเนินการโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติจากแพทยสภาในสาขานั้นๆ 3.คลินิกทันตกรรม 4.คลินิกทันตกรรมเฉพาะทาง 5.คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ 6.คลินิกกายภาพบำบัด 7.คลินิกเทคนิคการแพทย์ 8.คลินิกการแพทย์แผนไทย 9.คลินิกการแพทย์แผนไทยประยุกต์ และ 10.สหคลินิกให้บริการตั้งแต่ 2 ลักษณะขึ้นไป ดำเนินการโดยผู้มีที่มีใบประกอบวิชาชีพ เช่น บริการเวชกรรมและทันตกรรม เป็นต้น

 

ที่มา มติชนออนไลน์