สินค้าราคาเดียวมะกันเฟื่อง รับเทรนด์ Gen Y ช็อปประหยัด

ร้านสินค้าราคาเดียว อาทิ ร้าน 20 บาท, 60 บาท หรือระดับราคาอื่น ๆ ถือเป็นธุรกิจที่มาแรงในไทยด้วยดีมานด์จากผู้บริโภคที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายรับมือยุคเศรษฐกิจตกสะเก็ดโดยเฉพาะเรื่องสินค้าทั่วไปในชีวิตประจำวันอย่างถ้วย-ถัง-กะละมัง-หม้อที่ของในร้านราคาเดียวก็มีฟังก์ชั่น-คุณภาพพอสำหรับใช้งานจนมีร้านรูปแบบนี้ผุดขึ้นเหมือนดอกเห็ดตั้งแต่ในห้างสรรพสินค้าจนถึงตลาดนัด

ล่าสุดแม้แต่ในที่ที่มีภาพลักษณ์อู้ฟู่อย่างสหรัฐอเมริกา ความนิยมร้านสินค้าราคาเดียว หรือที่ชาวอเมริกันเรียกว่า “ดอลลาร์สโตร์” (Dollar Store) ซึ่งขายทั้งสินค้าราคาเดียวและสินค้าราคาถูกระดับ 10 ดอลลาร์ หรือเพียงไม่กี่เซนต์ก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในกลุ่มมิลเลนเนียลซึ่งเป็นผู้บริโภครุ่นใหม่

สำนักข่าว “บลูมเบิร์ก” รายงานว่า บรรดาร้านดอลลาร์สโตร์ทั้ง “ดอลลาร์ทรี” (Dollar Tree) “ดอลลาร์เจเนอรัล” (Dollar General) “99 เซนต์โอนลี่” (99 Cents Only) และอื่น ๆ กำลังกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งหลังดีมานด์จากกลุ่มลูกค้าหลากหลายตั้งแต่ครอบครัวระดับบนที่มีรายได้เฉลี่ยมากกว่า100,000เหรียญสหรัฐต่อปีไปจนถึงกลุ่มรายได้ต่ำกว่า25,000 เหรียญสหรัฐต่อปี โดยมีกลุ่มมิลเลนเนียลหรือผู้บริโภคอายุ 26-36 ปีเป็นกลุ่มหลักเนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีรายได้ค่อนข้างน้อยประมาณ 34,100 เหรียญสหรัฐต่อปี และมีทัศนคติเปิดกว้างต่อการช็อปปิ้งในร้านค้าเหล่านี้ ต่างจากคนรุ่นพ่อ-แม่ที่มองว่าเป็นเรื่องน่าอาย

สอดคล้องกับความเห็นของ 2 ผู้บริหารเชนร้านดอลลาร์สโตร์ “ทอดด์ วาสอส” ซีอีโอของดอลลาร์เจเนอรัล ซึ่งมีสาขา 12,500 แห่งในสหรัฐ และ “เอลิน เอสเตล” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของ 99 เซนต์โอนลี่ เชนร้านดอลลาร์สโตร์จากฝั่งเวสต์โคสต์ที่ต่างมองว่ากลุ่มมิลเลนเนียลนั้นสำคัญต่ออนาคตของธุรกิจร้านดอลลาร์สโตร์เนื่องจากคนรุ่นนี้มีแนวคิดว่าการประหยัดไม่ใช่เรื่องน่าอายจึงสามารถยืดอกเดินเข้าร้านดอลลาร์สโตร์ได้เต็มที่

ขณะเดียวกัน กระแสนี้ทำให้สมรภูมิร้านดอลลาร์สโตร์ร้อนระอุขึ้น เมื่อผู้ค้าปลีกรายใหญ่เริ่มหันมาสนใจเซ็กเมนต์นี้มากขึ้น หวังชิงส่วนแบ่งเม็ดเงินจับจ่ายของเหล่ามิลเลนเนียลที่คาดว่าจะมีมูลค่า 600,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี โดย “ทาร์เก็ต” (Target) หนึ่งเชนค้าปลีกรายใหญ่ได้รีแบรนด์มุมสินค้าราคาถูกของตนเป็น “บูลส์อายเพลย์กราวนด์” (Bull′s-eye Playground) พร้อมเพิ่มพื้นที่วาง-ขยายไลน์สินค้า รวมถึงติดตั้งมาสคอตดึงดูดความสนใจ ซึ่งได้รับผลตอบรับดีจนยอดขายโตแบบดับเบิลดิจิตในโลกออนไลน์เองก็มี “ฮอลลาร์” (Hollar) เว็บอีคอมเมิร์ซสไตล์ดอลลาร์สโตร์ ที่อาศัยกระแสช็อปปิ้งออนไลน์เปิด “hollar.com” เว็บไซต์ขายสินค้าหลากหลายทั้งของเล่น ของตกแต่งบ้าน และเสื้อผ้าในราคาต่ำกว่า 10 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งด้วยการส่งสินค้าฟรีเมื่อซื้อครบ 25 เหรียญสหรัฐ “มิชเชล แอนดิโน” ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์ของฮอลลาร์อธิบายว่า จุดขายของเราคือ ความสะดวกและอิสระ ลูกค้าไม่ต้องลำบากเดินทางมาที่ร้าน ขณะเดียวกัน ก็ไม่ต้องซื้อของทีละมาก ๆ เพื่อให้ได้สิทธิ์ส่งฟรีด้วย

แม้แต่นักวิเคราะห์ของตลาดหุ้นวอลล์สตรีตเองยังมองว่าธุรกิจร้านดอลลาร์สโตร์มีโอกาสเติบโตต่อเนื่องตามพฤติกรรมของกลุ่มมิลเลนเนียลที่เน้นความประหยัดและจ่ายเงินเพื่อฟังก์ชั่นของสินค้าเป็นหลักซึ่งตรงกับจุดขายของธุรกิจนี้

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ธุรกิจร้านดอลลาร์สโตร์ในสหรัฐคึกคักขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ