ผ่าทางตันหลังโควิด! เร่งผลักดันไทยเข้าสู่ “เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลก”

ผ่าทางตันหลังโควิด! เร่งผลักดันไทยเข้าสู่ “เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลก”

จากการสัมมนา “การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หลังวิกฤตโควิด-19” ของคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยววุฒิสภา เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการเชิญหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมสัมมนากว่า 100 คน ซึ่งมีหลายประเด็นน่าสนใจ โดยเฉพาะความคิดเห็นของ “กูรู” ด้านการท่องเที่ยว และด้านสุขภาพ ที่ได้แบ่งปันประสบการณ์และให้ข้อเสนอแนะไว้

พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ประธานกรรมาธิการท่องเที่ยววุฒิสภา

เริ่มต้นที่ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ประธานกรรมาธิการท่องเที่ยววุฒิสภา ซึ่งเป็น “หัวเรือใหญ่” ในการจัดงานครั้งนี้ มองว่า “การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ” เป็นอุตสาหกรรม มีอนาคต การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จึงควรมองในภาพรวมของผลิตภัณฑ์และการบริการด้านการท่องเที่ยวอย่างครบวงจร และนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้ามา สนับสนุนการดำเนินงาน เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกได้ง่ายขึ้น อาทิ การสร้างแพลตฟอร์มเชิงสุขภาพที่มิได้มุ่งเน้นเพียงด้านบริการทางการแพทย์เท่านั้น แต่อาจเพิ่มแอพพลิเคชั่นแนะนำการท่องเที่ยวในประเทศไทย การวางแผนค่าใช้จ่ายสำหรับการท่องเที่ยว ตลอดจนถึงแผนการท่องเที่ยวที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นที่นิยมและเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย นอกจากนี้ยังสามารถรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามารับบริการด้านสุขภาพในรูปแบบของครอบครัวได้อีกด้วย

ด้าน คุณศรีสุดา วนภิญโญศักดิ์ รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกาตะวันออก และอเมริกา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้สรุปตัวเลขการท่องเที่ยวปี 2562 ว่ามีนักท่องเที่ยวถึง 40 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศถึง 1.9 ล้านล้านบาท ในส่วนของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ มีการสำรวจเมื่อปี 2561 พบว่า มีรายได้ประเทศถึง 45,000 ล้านบาท ก่อนเกิดวิกฤตโควิด นักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่ แพทย์หญิงวรรณา หาญเชาว์วรกุล แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้สรุปตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดแล้วกว่า 14 ล้านคน เสียชีวิตกว่า 6 แสนคน และยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในทวีปอเมริกา ยุโรป เอเชีย ในส่วนของประเทศไทยนั้นได้ทำแผนความร่วมมือพหุภาคี โดยมีเป้าหมายเพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อเข้าสู่ประเทศไทย ทุกคนในประเทศไทย ต้องปลอดภัยจากโควิด-19 และลดผลกระทบทางสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม เพิ่มความมั่นคงของประเทศ โดยปัจจุบันเข้าสู่ในระยะผ่อนปรนระยะที่ 5

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์ ที่ปรึกษาสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ได้แสดงความกังวลต่อสถานการณ์โควิด 19 ที่อยู่ในสถานการณ์ยังไม่ปลอดภัย เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันและรักษา โดยระบุว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันนี้ เชื้อไวรัสโควิด-19 ได้กลายพันธุ์มาแล้วถึง 5 รอบ นอกจากนี้เชื้อไวรัสยังทำลายภูมิคุ้มกันของมนุษย์ และขณะนี้ก็ไม่พบภูมิคุ้มกันระยะยาวในผู้ติดเชื้อแล้วด้วย จึงทำให้มีคำถามว่า วัคซีนที่กำลังวิจัยกันอยู่นั้น จะทันต่อการกลายพันธุ์ของไวรัสหรือไม่ และ ไวรัสโควิด-19 จะเป็น “อมตะ” ทำลายชีวิตผู้คนบนโลกนี้ไปอย่างไม่มีทางรักษาใช่หรือไม่ อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ประเทศไทยได้ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ส่งผลให้ได้รับคำยกย่องจากทั่วโลก โดยล่าสุด สำนักข่าว CNN ได้ยกย่องว่าประเทศไทย คือ 1 ใน 4 ประเทศ ร่วมกับ ฟินแลนด์ กรีซ นิวซีแลนด์ ที่ผู้นำประเทศและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ดูแล เอาใจใส่ และบริหารจัดการ ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้มีประสิทธิภาพสูงสุด

แพทย์หญิงประภา วงศแพทย์ นายกสมาคมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพไทย (TMTA) สรุปถึงอุปสรรคและปัญหาในการดำเนินงานในช่วงวิกฤตโควิด-19 ว่า สมาชิกของสมาคมฯ ยกเว้นโรงพยาบาลเอกชนจะเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเกือบทั้งหมด อาทิ คลินิกเฉพาะทางต่างๆ บริษัทธุรกิจท่องเที่ยว สปา แพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ฯลฯ ซึ่งมีปัญหาคือ มีเงินทุนหมุนเวียนค่อนข้างจำกัด ทำให้ขาดความมั่นคงในการดำเนินธุรกิจระยะยาวได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งมีสินทรัพย์ค้ำประกันไม่เพียงพอสำหรับการค้ำประกันสินเชื่อทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ จึงมีความอ่อนไหวต่อความเสี่ยงเรื่องรายได้มาก รวมทั้งขาดความสามารถในการแข่งขันกับกลุ่มทุนที่ใหญ่กว่าและไม่มีภูมิคุ้มกันต่อปัจจัยเสี่ยงอื่น เช่น สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 และการประกาศภาวะฉุกเฉินที่ทำให้การท่องเที่ยวและการบริการสุขภาพ หลายสาขาต้องปิดกิจการลงอย่างกะทันหันและมีความจำเป็นต้องเลิกจ้างพนักงานลูกจ้าง ทำให้ลูกจ้างจำนวนมากไดรับผลกระทบไปด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในสาขาการท่องเที่ยวบ้างแล้ว เช่น โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่ให้คูปองส่วนลดโรงแรม 40% คูปองอาหาร 600 บาท/วัน และคืนเงินค่าตั๋วเครื่องบิน 40% ซึ่งคาดว่าจะสามารถกระตุ้นการใช้จ่ายให้กับธุรกิจโรงแรม รีสอร์ตร้านอาหารและสายการบิน ได้ ทางสมาคมฯ จึงขอเสนอให้รัฐบาลเพิ่มการสนับสนุนการท่องเที่ยวรูปแบบโปรแกรมทัวร์สุขภาพ จะทำให้เกิดการจับคู่ธุรกิจต่างๆ โดยมีโรงแรม/รีสอร์ตจับคู่กับโรงพยาบาล/คลินิก สปา แพทย์แผนไทย/แพทย์ทางเลือก และ ผู้ให้บริการอื่นๆ ฯลฯ ทั้งนี้จะเป็นอีกช่องทาง ที่สามารถช่วยกระตุ้นรายได้ในช่วงเวลาที่ยังไม่สามารถเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ตามปกติและยังมีประโยชน์ต่อประชาชนในการดูแลสุขภาพและสอดคล้อง กับสังคมผู้สูงอายุในปัจจุบัน

ส่วน คุณกรด โรจนเสถียร คณะกรรมาธิการท่องเที่ยววุฒิสภา ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ธุรกิจบริการเพื่อสุขภาพ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมสปาไทย ได้หยิบยกถึง เป้าหมายและกลไกขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยใช้ บีซีจีโมเดลของรัฐบาล  ซึ่งเป็นโมเดลการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่สามารถกระจายรายได้สู่เมืองรอง ลดการเหลื่อมล้ำมุ่งสู่ความยั่งยืน สร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว สามารถเที่ยวได้สนุกและปลอดภัย และจะกลายเป็นตลาดที่สำคัญของโลก เมื่อท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเติบโต จะสามารถเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเชิงอื่นได้