“อาจารย์ต้นไผ่” เคยใฝ่ฝันอยากทำงานออฟฟิศ เพราะคิดว่าเหมือนในซีรีส์จีน

“อาจารย์ต้นไผ่” เคยใฝ่ฝันอยากทำงานออฟฟิศ เพราะคิดว่าเหมือนในซีรีส์จีน

สิ่งที่ ต้นไผ่-ธีรพล มุละสีวะ มีเป็นสิ่งแรกในการเริ่มต้นเรียนภาษาจีน คือ ‘ความกล้า’  เขาจบปริญญาโท สาขาวิชาการสอนภาษาจีนสำหรับชาวต่างชาติ จากมหาวิทยาลัยหลู่ตง  เมืองเยียนไถ มณฑลชานตง สาธารณรัฐประชาชนจีน และปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่สาขาวิชาภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

“ที่มาเรียนภาษาจีนได้ อาจเป็นเพราะ พรหมลิขิต เพราะไม่เคยคิดจะเรียนภาษาจีนเลย เนื่องจากตอนมัธยมฯปลาย ผมเรียนสายปวช.มาเรียนเกี่ยวกับช่างคอมพิวเตอร์ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับภาษาเลย ตอนนั้นตามเพื่อนไปสมัครสอบรอบโควต้าของมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ที่นั่นมีสาขาวิชาภาษาจีนเพิ่งเปิดใหม่ เราคิดว่าสอบไม่ได้แน่ เพราะไม่มีพื้นฐานทางด้านภาษาจีนเลย แต่ปรากฏว่าสอบติด เลยตัดสินใจลองเข้าไปเรียน  จนได้ทุนไปเรียนปริญญาตรีที่ประเทศจีน นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้มาเรียนภาษาจีนครับ” อาจารย์ต้นไผ่ ย้อนความเป็นมา

ก่อนเล่าต่อ ตอนแรกไม่ได้อยากมาเป็นครู อยากทำงานบริษัท เพราะดูซีรี่ส์จีน รู้สึกว่าบรรยากาศในการทำงานในออฟฟิศสนุก ตอนนั้นคุณพ่อคุณแม่แนะให้เป็นครู ปฏิเสธอย่างเดียว ตอนเรียนชั้นปีที่ 4 ที่ประเทศจีน ได้ฝึกงานที่บริษัทแห่งหนึ่ง ช่วงฝึกงาน มีบรรยากาศการทำงานออฟฟิศแบบจีนเหมือนในซีรีส์ที่เคยดู    แต่ไม่สนุก ไม่เหมือนในซีรีส์ เป็นการทำงานที่พนักงานในบริษัทไม่พูดคุยกันเลย เวลาทำงานเขาจะทำงาน และเวลาที่สั่งงานสั่งผ่านโปรแกรมแชต และ บริษัทมีกฎว่าถ้าพูดคุยกันนอกเหนือจากเรื่องงาน ในเวลาทำงานโดนปรับทันที ครั้งละ 100 หยวน หรือ 500 บาทไทย

อาจารย์ต้นไผ่-ธีรพล มุละสีวะ อาจารย์ประจำอยู่ที่สาขาวิชาภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

“บรรยากาศในออฟฟิศ เงียบมาก ไม่มีใครคุยกันเลย หลังจากที่ฝึกงานเสร็จ รู้สึกว่าทำงานบริษัทคงไม่ใช่ทาง เลยไม่อยากทำงานออฟฟิศแล้ว ช่วงกลับไปที่มหาวิทยาลัย มีเด็กแลกเปลี่ยนที่มาเรียนภาษาจีน  อาจารย์ให้ผมไปช่วยสอนภาษา ซึ่งนักเรียนแลกเปลี่ยนเป็นชาวกัมพูชาและชาวเวียดนาม เป็นครั้งแรกที่ได้มีโอกาสไปสอน อาจารย์ให้ผมเข้าไปสอนในช่วงปิดเทอม เป็นระยะเวลาประมาณ 2 เดือน ระหว่างที่สอนรู้สึกสนุก ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่อยากเป็นครูภาษาจีน” อาจารย์ต้นไผ่ เล่าน้ำเสียงอารมณ์ดี

ก่อนบอกอีกว่า  ที่เลือกมาเป็นครูสอนระดับมหาวิทยาลัยเพราะไม่ชอบเด็กตัวเล็กๆ รู้สึกว่าคุยกันไม่รู้เรื่อง ตอนที่ได้สอนเด็กโต เวลาที่บอกให้ทำอะไรเขาเชื่อฟัง ให้ไปทำอะไรก็โอเค และนี่ก็คือเหตุผลที่เลือกมาเป็นอาจารย์ในระดับมหาวิทยาลัย

อาจารย์ต้นไผ่ เล่าต่อถึงอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญชีวิตการเป็นครู นั่นคือ รายการโทรทัศน์ชื่อดัง ของประเทศจีน

“ฮีโร่ครูจีน เป็นรายการทีวีดังของจีน เป็นรายการสำหรับชาวต่างชาติและคนจีนเองที่เรียนการสอนในระดับปริญญาโทเข้ามาแข่งขัน  ในขณะที่ผมกำลังจะเรียนจบ กำลังเตรียมตัวกลับมาประเทศไทย มีรายการนี้มาในช่วงนั้นพอดี เขาจะมีการคัดเลือก แบ่งเป็นเขต โดยเราต้องอัดคลิปการสอน ส่งไปยังรายการ แต่ระหว่างที่คัดเลือกในระดับประเทศ ก่อนหน้านั้นต้องคัดเลือกในมหาวิทยาลัยก่อน ทุกคนที่เรียนการสอนจะต้องไปสอบสอนให้กับคณะกรรมการดู หลังจากนั้นผลการตัดสินออกมาว่าผมได้ที่ 1 ตอนนั้นมี 3 คน มีประเทศเกาหลี ประเทศเวียดนามและประเทศไทย ทางมหาวิทยาลัย เลือกประเทศไทยไปเข้าร่วมการแข่งขัน ก็คือผมเอง ผมก็ต้องส่งคลิปไปที่รายการนั้น หลังจากที่ผ่านเข้ารอบแรก ต้องไปแข่งต่อที่กว่างโจว ถ้าเทียบกับที่ประเทศไทยก็น่าจะเป็นในระดับภาค แต่ในรอบชิงชนะเลิศต้องไปแข่งที่ปักกิ่ง มีทั้งหมด 60 กว่าคน หลังจากนั้นต้องคัดอีก จนเหลือรอบ 32 คนครับ หลังจากที่ผมไปแข่งก็รู้สึกว่ามันยังมีอีกหลายๆ อย่างที่เราเองยังไม่รู้ ซึ่งต้องไปค้นหาอีกเยอะเกี่ยวกับวัฒนธรรมจีน รู้สึกว่าการที่ไปรายการนี้เหมือนกับว่าตัวผมเองได้ไปเปิดหูเปิดตาอย่างมาก”

เมื่อถามถึงเทคนิคในการเข้าสู่รอบ 32 คนสุดท้ายในรายการดังของประเทศจีน อาจารย์ต้นไผ่ เผยว่า เขาเองเป็นคนรุ่นใหม่ ที่ต้องมีความวาไรตี้บ้าง เวลาสอนเลยใส่ความเป็นธรรมชาติของตัวเองเข้าไป คือ ไม่ได้สอนแบบท่องจำ หรือต้องเป๊ะทุกอย่าง เลยปรับให้เหมาะสม อย่าง ตอนไปแข่ง ใส่ชุดงิ้วไปแข่งก็จริง แต่ผสมผสานเพลงในปัจจุบันเข้าไปด้วย คิดว่าคณะกรรมการน่าจะชอบในจุดนี้

เกี่ยวกับเทคนิคเรียนภาษาจีน อาจารย์ต้นไผ่ แนะว่า การเรียนภาษาต้องเรียนไปเพื่อพูด เพื่อสื่อสาร เป้าหมายเดียว คือ ต้องทำอย่างไรก็ได้ ให้อีกฝ่ายฟังรู้เรื่อง และถ้าอีกฝ่ายพูดอะไรมาเราเองก็ต้องฟังรู้เรื่องเช่นกัน

“อยากจะฝากถึงคนที่อยากเรียนภาษาจีน แต่ยังไม่มีความกล้าว่า  ความไม่กล้า เกิดจากความกลัว เราแค่กลัว ตอนแรก ผมก็กลัวที่จะต้องเรียนภาษาจีน แต่ทำอะไรไม่ได้ ต้องเดินหน้าต่อ ต้องลองสักตั้ง ถึงจะก้าวผ่านความกลัวนั้นได้” อาจารย์ต้นไผ่ บอกทิ้งท้าย