ตำรวจน้ำดี ยศ พ.ต.ท. ผู้ตั้งคำถาม ปัญหาอาชญากรรมจะป้องกันได้อย่างไร

ตำรวจน้ำดี ยศ พ.ต.ท. ผู้ตั้งคำถาม ปัญหาอาชญากรรมจะป้องกันได้อย่างไร

พ.ต.ท.เขมชยุตม์ โภคินจารุเสถียร นักวิชาการจากรั้วโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ผู้ไม่เคยหยุดที่จะเรียนรู้ เรียนจบปริญญา 6 ใบในหลากหลายสาขาวิชา ภายในเวลาไม่กี่ปี ทั้งปริญญาตรี โท และเอก ด้านวิชาชีพ เขา คือ ตำรวจน้ำดี  ที่ผ่านประสบการณ์การทำงานทั้งด้านสอบสวนและสืบสวนมาหลายปี ได้รับรางวัลพนักงานสอบสวนดีเด่น รางวัลเจ้าหน้าที่สืบสวนดีเด่นด้านการปราบปรามยาเสพติด ระดับภาค 8 และรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี 2555

ขณะเดียวกัน ด้านการศึกษาเขาไม่เคยหยุดเรียนรู้หลังจากจบปริญญาเอกมาแล้ว 1 ใบ ได้ตัดสินใจเรียนต่อปริญญาเอกอีกใบทางด้านอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม เพื่อนำองค์ความรู้ กระบวนการคิด วิเคราะห์ ไปต่อยอดและปรับใช้ในการทำงานด้านการสอน และปัจจุบัน พ.ต.ท.เขมชยุตม์ โภคินจารุเสถียร   เป็นอาจารย์สอนคณะนิติวิทยาศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ

“ก่อนที่จะเข้าสู่สายงานวิชาการอย่างเต็มตัว ได้เริ่มต้นการทำงานในวิชาชีพตำรวจมากว่า 10 ปี ซึ่งเกี่ยวข้องกับงานด้านอาชญากรรม ในวันที่เราเป็นร้อยเวร เป็นเจ้าหน้าที่สืบสวน เคยทำงานทั้งสอบสวนและสืบสวนมาก่อน ในวันนั้นเรารู้แค่ว่าปลายทางของการเกิดอาชญากรรมมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง จึงเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าแล้วสาเหตุของปัญหาอาชญากรรมในสังคมที่เกิดขึ้นทุกวันนี้มีสาเหตุมาจากอะไร ปัญหาเหล่านี้จะสามารถแก้ไขและป้องกันได้อย่างไรบ้าง ทั้งยังเชื่อว่าการเริ่มต้นจะทำอะไรก็ตามนั้น ก้าวแรกมีความสำคัญ แต่ที่สำคัญกว่าคือ ก้าวที่ถูกต้องหรือก้าวให้ถูกทาง ดังนั้น หากสนใจจะศึกษา สาเหตุ การแก้ไข และการป้องกันของปัญหาอาชญากรรมในสังคม จึงจำเป็นจะต้องศึกษาหาความรู้ในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวโดยตรง จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเลือกศึกษาต่อทางด้านอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ในระดับปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยรังสิต ส่วนหนึ่งเพราะการเรียนการสอนทางด้านนี้ไม่ได้เปิดสอนอย่างแพร่หลายในประเทศไทย ประกอบกับผู้เรียนส่วนใหญ่อยู่ในแวดวงตำรวจ รวมทั้งคณาจารย์ที่สอนล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีชื่อเสียง ทำให้ได้รับองค์ความรู้อย่างรอบด้าน” พ.ต.ท.เขมชยุตม์ บอกอย่างนั้น

พ.ต.ท.เขมชยุตม์ โภคินจารุเสถียร

 

และว่า การเรียนในระดับปริญญาเอกไม่ได้มุ่งเน้นเพียงเพื่อทำวิจัยเท่านั้น แต่เรียนเพื่อให้ถึงแก่นของอาชญาวิทยา เพราะเรื่องของกระบวนการทำวิจัยเป็นโจทย์ที่เรานำไปต่อยอดเพิ่มเติมว่าได้นำกระบวนการเหล่านี้ไปทำวิจัยเพื่อตอบโจทย์สิ่งที่เราอยากรู้เรื่องอาชญาวิทยาในบริบทต่างๆ ได้อย่างไร แน่นอนว่าปลายทางของความสำเร็จไม่ว่าจะเป็นการทำงานหรือการเรียน เรื่องราวระหว่างทาง คือ ประสบการณ์ที่ดีที่จะเก็บเกี่ยวให้ได้มากที่สุด เพราะชีวิตของเราสามารถออกแบบเองได้ว่าจะให้เป็นแบบไหน และเชื่อว่าความรู้ทุกวันนี้มีหลากหลายด้าน หากรู้ลึกเพียงอย่างเดียวหรือแค่เรื่องเดียว ก็จะรู้ไม่รอบด้าน แต่ถ้าเพิ่มเติมความรู้ในด้านกว้างให้รู้หลายอย่างไปพร้อมกัน ทางที่จะไปถึงความสำเร็จย่อมมีมากขึ้น

“กับชีวิตที่ผ่านมาเชื่อว่าไม่มีใครไม่เคยทำเรื่องผิดพลาด ผมเองพยายามเรียนรู้อยู่เสมอ ไม่ใช่แค่เรียนรู้ในห้องเรียนเท่านั้น แต่ค่อยๆ เรียนรู้ชีวิตไปพร้อมๆ กัน จากการมองโลกด้วยความจริง เรียนรู้จากความผิดพลาด เพราะในแง่ของประสบการณ์แล้ว ไม่ว่าจะทุกข์หรือสุข เราต้องสมดุลชีวิตและผ่านไปให้ได้ และหากก้าวข้ามความรู้สึกเหล่านั้นไปได้ ย่อมจะได้บทเรียนและแง่คิดที่ดีกลับมาเสมอ” นายตำรวจหนุ่ม เจ้าของเรื่องราวบอกอย่างนั้น

ก่อนส่งท้าย

“วันนี้ผมอยู่ในแวดวงวิชาการ ในฐานะอาจารย์ ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้สอน แต่ต้องเป็นได้ทั้ง Coaching นัก Motivate หรือเป็นหลายๆ อย่างให้กับนักศึกษา ในการที่จะผลักดันให้เขาได้ดึงศักยภาพของตัวเองออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ และปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก อย่าหยุดเรียนรู้…เพราะชีวิตไม่เคยหยุดสอนเรา”