กรมวิทย์ฯ แนะประชาชนโหลดแอพพลิเคชั่นเห็ด ตรวจสอบเห็ดพิษ

กรมวิทย์ฯ แนะประชาชนโหลดแอพพลิเคชั่นเห็ด ตรวจสอบเห็ดพิษ
กรมวิทย์ฯ แนะประชาชนโหลดแอพพลิเคชั่นเห็ด ตรวจสอบเห็ดพิษ

กรมวิทย์ฯ แนะประชาชนโหลดแอพพลิเคชั่นเห็ด ตรวจสอบเห็ดพิษ

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นฤดูเห็ดหลาก ชาวบ้านนิยมเข้าไปเก็บเห็ดป่าเพื่อนำมาประกอบอาหารรับประทาน และขายในตลาดท้องถิ่น ส่งผลให้สถานการณ์อาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดพิษในช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีรายงานผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตสูงในแต่ละปี โดยในปี พ.ศ.2563 (เดือนมกราคม-เดือนมิถุนายน) มีรายงานผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากเห็ดพิษที่มาจากป่าธรรมชาติมากถึง 275 ราย

โดยจังหวัดอุบลราชธานีพบผู้ป่วยสะสมสูงสุด เห็ดที่มีรายงานการเกิดเหตุ ได้แก่ เห็ดหมวกจีน เห็ดคันร่มพิษเห็ดก้อนฝุ่น และเห็ดระงาก ซึ่งเห็ดพิษเหล่านี้มีลักษณะรูปร่างหน้าตาหรือเรียกว่าลักษณะทางสัณฐานวิทยาที่คล้ายกับเห็ดรับประทานได้ เช่น เห็ดหมวกจีนและเห็ดคันร่มพิษคล้ายกับเห็ดปลวก (เห็ดโคน) เห็ดระงากพิษคล้ายกับเห็ดระโงกขาวกินได้ และเห็ดก้อนฝุ่นคล้ายกับเห็ดเผาะ ซึ่งอาจทำให้ชาวบ้านเข้าใจผิด และเก็บมารับประทานจึงได้รับสารพิษเข้าไป

นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาสารคามในการจัดทำฐานข้อมูลและพัฒนาแอพพลิเคชั่น ชื่อว่า “คัดแยกเห็ดไทย” เพื่อใช้ตรวจสอบเห็ดมีพิษ และเห็ดที่รับประทานได้ในประเทศไทย โดยรวบรวมภาพถ่ายของเห็ดทั้งเห็ดพิษและเห็ดที่รับประทานเพื่อใช้ประมวลผลด้วยโปรแกรมจดจำรูปภาพและแสดงผลชนิดของเห็ด และร้อยละของความถูกต้อง โดยแอพพลิเคชั่นในเวอร์ชั่น V1.2R3  ปัจจุบัน มีฐานข้อมูลรูปภาพเห็ดพิษที่พบบ่อยเพื่อประมวลผล ได้แก่ กลุ่มเห็ดระงากพิษ กลุ่มเห็ดหมวกจีน เห็ดคันร่มพิษ เห็ดหัวกรวดครีบเขียวพิษ  เห็ดถ่านเลือด เป็นต้น นอกจากข้อมูลภาพถ่ายแล้วในฐานข้อมูลได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมของเห็ดแต่ละชนิด เช่น ชื่อพื้นเมือง พิษที่พบในเห็ด อาการที่แสดงหลังจากได้รับสารพิษดังกล่าว เป็นต้น

สำหรับการใช้งานโปรแกรมดังกล่าว  ต้องทำการดาวน์โหลดโปรแกรมมาติดตั้งไว้บนโทรศัพท์มือถือสมาร์ตโฟนแบบแอนดรอยด์เท่านั้น โดยเข้าถึงแอพพลิเคชั่นได้ 2 ช่องทาง คือ 1. เลือกจากเพลย์สโตร์ ค้นหาคำว่า “คัดแยกเห็ดไทย” และ 2. สแกนคิวอาร์โค้ด  จากนั้นทำการลงทะเบียนและใช้งานโปรแกรม ด้วยการเปิดกล้องและสแกนดอกเห็ดที่ต้องการทราบชนิด โปรแกรมจะเริ่มประมวลผลแบบ real time และจะหยุดเมื่อความถูกต้องของชนิดเท่ากับร้อยละ 95 หรือเราสามารถกดปุ่มเพื่อหยุดได้  และนอกจากนี้โปรแกรมนี้ยังสามารถตรวจสอบชนิดของเห็ดจากภาพถ่ายที่เก็บไว้ในโทรศัพท์มือถือได้เช่นกัน” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว