นพ.มนูญ ชี้ องค์การอนามัยโลกกลับลำ ยอมรับ โควิด-19 ติดต่อกันทางอากาศ

นพ.มนูญ ชี้ องค์การอนามัยโลกกลับลำ ยอมรับ โรคไวรัสโควิด-19 ติดต่อกันทางอากาศ หลังนักวิทยาศาสตร์ 239 คนจาก 32 ประเทศ ส่งจดหมายเปิดผนึกยืนยันข้อมูล

เรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงเป็นโรคติดต่อที่หลายๆ ประเทศยังคงเฝ้าระวังกันอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ เผยแพร่บทความเตือนและอธิบายเรื่อง โควิด-19 ที่สามารถติดต่อกันได้ทางอากาศ ผ่านเพจ หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC โดยระบุว่า


นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ

องค์การอนามัยโลกกลับลำอีกแล้ว ยอมรับโรคไวรัสโควิด-19 ติดต่อกันทางอากาศ

ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลก คนเริ่มขาดความมั่นใจในคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่ล่าช้า และกลับไปกลับมา จากเดิมที่เคยบอกว่าไม่มีหลักฐานยืนยันมากพอว่า หน้ากากอนามัยช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาเป็นทุกคนควรใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เวลาออกไปในที่สาธารณะ จากเดิมคนที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ถ้าไม่มีอาการ โอกาสแพร่เชื้อให้ผู้อื่นน้อยมาก เปลี่ยนมาเป็น คนไม่มีอาการก็แพร่เชื้อได้

เนื่องจากองค์การอนามัยโลก ยังยืนยันต่อเนื่องว่าโรคไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายได้แค่ 2 วิธี คือโดยหายใจรับเชื้อในละอองขนาดใหญ่ (droplet) ที่คนป่วยขับออกมาเวลาพูด ไอ จามในระยะใกล้ชิด 1 เมตร เข้าร่างกายโดยตรง และผ่านละอองใหญ่ที่มีเชื้อไวรัสตกลงบนพื้นผิวเวลาผู้ป่วยพูด ไอ จาม คนอื่นไปสัมผัสพื้นผิวที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสแล้วเอามือไปจับตา จับจมูก

องค์การอนามัยโลกให้ความสําคัญกับการติดเชื้อทางมือจากพื้นผิว มากกว่าการหายใจเอาละอองน้ำลายเข้าโดยตรง เน้นให้ทำความสะอาดพื้นผิวที่มีการสัมผัสบ่อยๆ และล้างมือบ่อยๆ ขณะที่ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติของสหรัฐฯ (CDC) ได้ลดความสำคัญของการติดต่อทางสัมผัส ว่าสำคัญน้อยกว่าการติดต่อทางการขับละอองเสมหะออกมาโดยตรงเวลาพูด ตะโกน ร้องเพลง ไอ จาม

สำหรับละอองฝอยขนาดเล็กกว่า 5 ไมครอน (droplet nuclei หรือ aerosol) แพร่ทางอากาศ (airborne) ลอยไปได้ไกลกว่า 8 เมตร ตามทิศทางของลม องค์การอนามัยโลกเชื่อว่าเกิดน้อยมาก เกิดในกรณีพิเศษในโรงพยาบาลเท่านั้น เมื่อบุคลากรทางการแพทย์ทำหัตถการกระตุ้นให้ผู้ป่วยไอ เช่นเวลาดูดเสมหะ หรือใส่ท่อหายใจ

ล่าสุด หลังจากที่กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ 239 คนจาก 32 ประเทศได้รวมกลุ่มกัน ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงองค์การอนามัยโลก (WHO) เรียกร้องให้ WHO ยอมรับว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถติดต่อทางอากาศ (Airborne) และไม่จำเป็นต้องเกิดในโรงพยาบาลเท่านั้น เนื่องจากมีข้อมูลเพียงพอที่ยืนยันเชื้อติดต่อทางอากาศ ละอองฝอยขนาดเล็กสามารถแขวนลอยในอากาศ มีชีวิตได้หลายชั่วโมง และพร้อมที่จะเข้าปอดเมื่อสูดหายใจเข้าไป

นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ขอให้องค์การอนามัยโลก ปรับคำแนะนำนอกจากการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง ควรให้ความสำคัญของการหมุนเวียนของอากาศ การถ่ายเทระบายอากาศ ใช้ตัวกรองอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง และใช้โคมไฟรังสีอัลตราไวโอเลต (UVC) ฆ่าเชื้อโรคลอยในอากาศ ในสถานที่อากาศปิด ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ มาตรการเหล่านี้ควรถูกนำมาใช้เพิ่มเติมจากมาตรการป้องกันอื่นๆ ก่อนหน้านี้ เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19

ในที่สุด องค์การอนามัยโลกกลับลำอีกครั้ง ยอมรับว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายทางอากาศได้

ผมเคยออกความเห็นเมื่อมีการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ในสนามมวยลุมพินีซึ่งเป็นสถานที่ปิด ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ จากเซียนมวยหนึ่งคนที่ติดเชื้อจากคนในครอบครัว กลับจากประเทศอิตาลี เซียนมวยคนนี้เป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ สามารถแพร่กระจายเชื้อให้คนในสนามมวยวันนั้นกว่า 50 คน การแพร่เชื้อเช่นนี้เป็นไปได้วิธีเดียว คือ ติดต่อทางอากาศ ละอองฝอยขนาดเล็กล่องลอยออกมาในอากาศเวลาเซียนมวยตะโกนเชียร์ ลอยไปได้ไกลมากกว่า 10 เมตรแล้วแต่ทิศทางของลมจากเครื่องปรับอากาศพาไป ใครโชคร้ายอยู่ในทิศทางของลม หายใจเอาละอองฝอยขนาดเล็กเข้าไป ทำให้ปอดติดเชื้อ การแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 ทางอากาศจริงๆ แล้ว สำคัญยิ่งกว่าการแพร่กระจายเชื้อทางพื้นผิวผ่านมือ ตอนนั้นคนไทยด้วยกันยังไม่ยอมรับ เพราะเชื่อองค์การอนามัยโลก

ต่อไปนี้คนไทยควรฟังหูไว้หูทุกเรื่องที่องค์การอนามัยโลก ออกคำแนะนำ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องไวรัสโควิด-19 อย่างเดียว