2 นักศึกษา ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ แชร์ไอเดีย สร้างธุรกิจสตาร์ตอัพ สไตล์ New Gen

2 นักศึกษา ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ แชร์ไอเดีย ทำยังไงให้เข้าวงการธุรกิจสตาร์ตอัพ

วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดกิจกรรม CIBA Live Talk ในหัวข้อ “การสร้างธุรกิจ Startup สไตล์ New Gen” ผ่านช่องทาง Live สด เพจ CIBA โดยมีผู้ประกอบการรุ่นใหม่จากรั้ว DPU มาร่วมแชร์ประสบการณ์การเริ่มธุรกิจ Startup ในวัยเรียน ประกอบด้วย นายธีริทธิ์ ศรีคล้าย (มาร์ค) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ เจ้าของผลงานเครื่องฝึกเดินกายภาพบำบัด และนางสาวกัลยรัตน์ พิกุลน้อย (พลอย) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) ตัวแทนทีม JElder เจ้าของธุรกิจเพื่อผู้สูงอายุ ทั้งนี้มีนายนิติ มุขยวงศา ผู้ช่วยรองอธิการบดีสายงานวิชาการ DPU และผู้เชี่ยวชาญด้าน Startups เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายนิติ มุขยวงศา ผู้ช่วยรองอธิการบดีสายงานวิชาการ DPU กล่าวว่า จากการจัดเสวนาผ่านช่องทาง Facebook Live ในหัวข้อ “การสร้างธุรกิจ Startup สไตล์ New Gen” มีผู้ให้ความสนใจส่งคำถามมาเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้สิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่สนใจ คือ การมองหาไอเดียธุรกิจ Startup และแหล่งเงินทุนในการเริ่มต้นธุรกิจ ซึ่งความจริงแล้ว ไอเดียของการทำธุรกิจแนวนี้จะเกิดจากปัญหาที่อยู่รอบตัวของคนเราหรือผู้บริโภคนั่นเอง หากสามารถมองเห็นปัญหาและเข้าใจปัญหานั้นอย่างแท้จริง ก็จะเกิดไอเดียสร้างสินค้าหรือธุรกิจที่ช่วยแก้ปัญหาให้ผู้บริโภคได้ ส่วนแหล่งเงินทุนนั้นหากผู้ที่สนใจทำธุรกิจเป็นนักศึกษา แนะนำให้มองหาทุนจากรัฐบาลผ่านโครงการแข่งขันต่างๆ โดย CIBA สามารถให้คำปรึกษาในเรื่องดังกล่าวได้ หรือที่บริษัท ไทยแองเจิลอินเวสเตอร์ คอนซัลแตนท์ จำกัด ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางด้านธุรกิจ รวมถึงที่ปรึกษาด้านการลงทุน สำหรับน้องมาร์คและน้องพลอย ถือเป็นตัวแทนของ Startup  ที่เริ่มต้นวางแผนทำธุรกิจตั้งแต่วัยเรียน โดยใช้เงินที่ได้จากการแข่งขันในเวทีต่างๆ มาลงทุน ซึ่งถือเป็นแบบอย่างที่ดีของ New Gen  ในยุคนี้

นางสาวกัลยรัตน์ พิกุลน้อย (พลอย) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการบัญชี วิทยาลัย CIBA มธบ. กล่าวว่า เริ่มรู้จักธุรกิจ Startup ตอนเรียนชั้นปีที่ 3 ผ่านการแข่งขันในโครงการนพรัตน์ทองคำ ของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ขณะนั้นได้นำแนวคิดธุรกิจเพื่อผู้สูงอายุส่งเข้าประกวด หลังจากได้รับรางวัล จึงรวมตัวกับกลุ่มเพื่อนสร้างทีม J-Elder  สานต่อจากโครงการที่ผ่านมา จนตกผลึกไอเดียสร้างแอพพลิเคชั่นหางานให้ผู้สูงอายุ และเข้าแข่งขันที่ Startup Thailand League 2019 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากนั้นได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นให้ใช้งานง่ายขึ้น และเข้าแข่งขันโครงการประกวดนวัตกรรมข้อมูลเปิดภาครัฐ (Thailand Data Innovation Awards 2019, DIA by DGA) ในชื่อทีม J-Elder+ จนคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ปัจจุบันทีมเราได้ต่อยอดผลงานด้วยการสร้างสังคมผู้สูงอายุในวัยเกษียณ  บนแพลตฟอร์มในแอพพลิเคชั่น JElder ซึ่งในแพลตฟอร์มดังกล่าว จะเป็นศูนย์รวมการอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุในหลายๆ ด้าน อาทิ การส่งเสริมการขายของออนไลน์ เป็นต้น ส่วนเงินทุนที่ได้รับจากการเข้าแข่งขันในเวทีต่างๆ จะเก็บสำรองไว้เพื่อพัฒนาและต่อยอดผลงานต่อไป

“อยากฝากถึงน้องๆ ที่กำลังก้าวเข้าสู่ธุรกิจ Startups ยิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจเร็ว จะประสบความสำเร็จเร็ว หากเจออุปสรรคในการทำงาน ให้คิดว่าเป็นบทเรียนที่ท้าทาย อย่างไรก็ตาม น้องๆ ยังมีวิทยาลัย CIBA ที่คอยให้คำปรึกษาและอยู่เบื้องหลังเพื่อให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จในการทำธุรกิจ” นางสาวกัลยรัตน์ กล่าว

นายธีริทธิ์ ศรีคล้าย (มาร์ค) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์   DPU กล่าวว่า ขณะนี้กำลังพยายามก่อตั้งบริษัท K.S.K.Healtec ผลิตและจำหน่ายเครื่องหัดเดินบนลู่วิ่ง ชื่อ Physical Walking ซึ่งเป็นเครื่องช่วยฝึกเดินสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการทำกายภาพบำบัด จุดเด่นของอุปกรณ์ดังกล่าวจะมีสายช่วยพยุงที่รับน้ำหนักผู้ป่วยได้ถึง 250-300 กิโลกรัม มีตัวเก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์การทำกายภาพในครั้งถัดไป นอกจากนี้ยังมีแอพพลิเคชั่นที่ญาติผู้ป่วยสามารถเข้าไปติดตามผลการทำกายภาพบำบัดได้ รวมถึงการนัดทำกายภาพผ่านแอพ เพิ่มความสะดวกลดเวลารอคิว ไอเดียของการทำโปรเจ็กต์นี้มาจากการที่เห็นคุณยายล้ม จึงทำการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับผู้สูงอายุและคนพิการ ได้พบว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จากนั้นจึงตั้งคำถามและตั้งเป้าว่าทำอย่างไรให้คนที่เรารักและผู้สูงอายุมีสุขภาพที่ดีขึ้น จึงได้ออกแบบเครื่องช่วยฝึกเดิน โดยขอคำแนะนำจากนักกายภาพบำบัดชำนาญการ ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ และผลิตเครื่องเวอร์ชั่นแรก เพื่อนำไปแข่งขันในโครงการ CITE Pround ของ DPU  และได้รับรางวัลชนะเลิศ เป็นทุนการศึกษา 100 เปอร์เซ็นต์

“ผมได้พัฒนาเครื่องฝึกเดินอย่างต่อเนื่อง และเข้าร่วมประกวดโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุและผู้พิการ อาทิ โครงการ Wheel Share Journey เป็นต้น เพื่อเก็บประสบการณ์จากคำแนะนำ ของนักกายภาพบำบัด นักออกแบบเครื่องมือแพทย์ และผู้ใช้งานจริง มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังเข้าร่วมโครงการแข่งขัน Startup ทั่วประเทศ เพื่อนำทุนมาก่อตั้งบริษัท การทุ่มเททุกอย่างเพื่อให้ถึงเป้าหมาย มาจากการเปลี่ยน Mindset ที่อยากเรียนจบไปเป็นผู้ประกอบการ เปลี่ยนจากคนหางานเป็นคนสร้างงานให้คนอื่น เพราะผมฝันอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเองก่อนเรียนจบ” นายธีริทธิ์  กล่าว