6 เรื่องควรรู้! โอกาสรอดของอาชีพ “สถาปนิก” ในยุค “น่าเป็นห่วง”

6 เรื่องควรรู้! โอกาสรอดของอาชีพ “สถาปนิก” ในยุค “น่าเป็นห่วง”

6 เรื่องควรรู้! โอกาสรอดของอาชีพ “สถาปนิก” ในยุค “น่าเป็นห่วง”

สถาปนิก เป็นอาชีพที่ไม่ต่างจากอาชีพอื่นๆ ที่เป็นได้ทั้งพนักงานกินเงินเดือน freelance รับงานอิสระ เปิดบริษัทตัวเอง หรือร่วมงาน project base จะประสบผลสำเร็จในสายอาชีพหรือจะล้มเหลวในยุค Disruption และ COVID-19 นี้ นอกจากสถาบันการศึกษาในฐานะผู้สอน ผู้ให้ความรู้ต้องปรับตัวแล้ว เหนือสิ่งอื่นใดคือจำเป็นต้องปลูกฝังให้ผู้เรียนมีความรู้นอกเหนือจากที่เรียนมา

แล้วความรู้ ที่ควรจะมีติดตัวสำหรับเหล่าว่าที่สถาปนิกในอนาคตควรจะเป็นแบบไหน หรือต้องเพิ่มเติมองค์ความรู้อะไรเพื่อออกไปเผชิญโลกภายนอก จึงอยากแนะนำให้เพิ่มเติมสิ่งเหล่านี้

1.เข้าใจธุรกิจ

สถาปนิกหลายคนมีความสามารถ ฝีมือดี ผลงานเด่น มีความตั้งใจสูง บางคนยิ่งทำยิ่งเจ็บตัว ไม่คุ้มเมื่อเทียบกับความทุ่มเทจนต้องออกมาทำอาชีพเสริมหรือจำใจเปลี่ยนสายงานที่รายได้ดีกว่า ทีนี้ลองคิดวิเคราะห์ต้นทุนการออกแบบว่า ความคิดและเวลาการลงทุน คือ สถานที่ เครื่องมือ และ เงินเดือนพนักงาน ถ้ารู้จักสร้างสมดุลยภาพของ time cost manpower ได้ มีผลงานดีถือว่าเป็นอาชีพที่ผลตอบแทนสูงเลยทีเดียว

2.ทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด

สถาปนิกต้องรู้ทุกเรื่อง แต่จะถนัดทุกด้านเป็นเรื่องยาก มักเลือกทำเฉพาะที่สนใจ ชอบ และใช้เครื่องมือที่ถนัด จึงไม่แปลกที่ไม่อยากทำเรื่องที่ตัวเองไม่ค่อยรู้ไม่ถนัด เช่น เก็บเงินลูกค้า ทำการตลาด บริหารบุคคล งบประมาณ งานเอกสาร เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้จะนำไปสู่ความสำเร็จของอาชีพถ้าทำงานเป็นทีม คนที่ชอบออกแบบก็ออกแบบให้เต็มที่ คนที่เก่งการตลาดก็ให้ทำการตลาดคอย present งาน พวกที่ถนัดงานบริหาร มักชอบวางแผน คอยดูต้นทุนกำไรควบคุมคุณภาพ ให้สัมพันธ์กับเวลา ตามที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งหากแต่ละคน ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก และสนใจจริงๆ จะทำให้ทำงานสนุก ท้าทายตลอดเวลา และมีความสุข ที่สำคัญ ต้องมีเป้าหมายร่วมและมีแนวคิดไปทิศทางเดียวกันจะทำให้ “คนทำธุรกิจออกแบบ” มีความมั่นคงและยั่งยืน

ผศ.ดร.นฤพนธ์ ไชยยศ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

3.เลือกลูกค้าที่ดี

หมายความว่าการออกแบบให้ผลงานดี มีคุณภาพ ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ปัญหาคือลูกค้าที่ไม่มีคุณภาพ ไม่เข้าใจบทบาท ขาดคุณธรรม เอาเปรียบ และเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ถึงตกลงทำสัญญาไปแล้ว กลับใจไปมา ทำไม่ทำ ไม่แน่นอน จึงปิดงานไม่ได้ ไหลไปไม่มีวันจบสิ้น ฉะนั้น ต้องให้เวลา “ศึกษาตัวตนลูกค้า” เช่น ศึกษาที่มาที่ไปลูกค้า ศึกษานิสัยใจคอของเขา เคยเบี้ยวค่าแบบคนอื่นไหม เคยทำโครงการจริงไหม เคยมีปัญหาเรื่องงานกับทีมอื่นบ้างหรือไม่ เรียกว่าควรเรียนรู้การถอยเมื่อเหตุการณ์วิกฤตโดยไม่เสียเครดิต เรียนรู้สร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าเพื่ออนาคตที่ดี

4.เงินไม่ใช่ดัชนีชี้วัดกำไรขาดทุนเสมอไป

ทุกธุรกิจอยู่ได้จาก “กำไร” คำนวณจากรายได้ลบต้นทุน สำหรับงานออกแบบ กำไรอาจเป็นได้ทั้งเงินและไม่ใช่เงิน เช่น สถาปนิกชุมชนที่ทำเพื่อสังคม งานอนุรักษ์ งานพื้นถิ่น สำหรับสถาปนิกใหม่อาจต้องสร้างผลงานสร้างชื่อเสียงก่อน ฉะนั้น ก่อนที่จะเสนอราคา จำเป็นต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าเป้าหมายคืออะไร คำนวณต้นทุน เครดิต เราบวกค่าดำเนินการ balance กับกำไร ควรได้ผลตอบแทนในรูปแบบไหน คุ้มไหม

5.ใครคือคนอนุมัติ

สำคัญกว่าค่าแบบ คือ ผลงานนั้น ควรต้องถูกนำไปสร้างจริง บ่อยครั้งสถาปนิกออกแบบสวย ตอบโจทย์การใช้งานได้ดี แต่กลับไม่เคยถูกนำมาสร้างจริงเลย เพราะไม่รู้ว่าใครคือคนอนุมัติ อาจเป็น เจ้าของ คนคุมเงิน หุ้นส่วน ซินแส ภรรยา เลขาฯ ที่ปรึกษา ฯลฯ ซึ่งอาจเป็นคนละคนกับลูกค้าตัวจริง สิ่งที่คุณต้องทำก็คือ คุณต้องพยายามสร้างระบบความคิดใหม่ แต่ละขั้นตอนการนำเสนอต้องได้คำตอบ Yes จากลูกค้าเท่านั้น ให้ลูกค้า follow ไอเดียที่วางไว้ ถ้าสามารถออกแบบครอบคลุมทุกความต้องการก็จะสามารถลดความเสี่ยงการ reject แบบได้ สถาปนิกส่วนใหญ่ focus ออกแบบเกินไปแต่ไม่ได้ให้ความสำคัญว่าใครคือคนอนุมัติโครงการ

สุดท้าย

6.การตลาด

แม้ว่าผลงานมีคุณภาพ บริหารและบริการได้ดี มีระบบที่ลงตัว แต่ไม่สามารถหาลูกค้าได้ คือ ไม่รู้จักการทำการตลาดนั่นเอง ปัจจุบันลูกค้าใช้เวลาส่วนใหญ่ online นั่นหมายความว่าต้องเรียนรู้วิธีการตลาดเชิงรุกแบบไม่ขายตรง ให้ข้อคิดดีๆ การสร้างสังคม online ในการแบ่งปันองค์ความรู้ ให้ไอเดียแชร์ประสบการณ์การออกแบบ เปลี่ยนจากการตลาด offline ไปเป็น online อาชีพนี้ก็จะก้าวไปข้างหน้าได้ไม่ยากเลย

ที่จริงแล้ว 6 สิ่งที่ควรเรียนรู้เพิ่มเติมดังกล่าวมาแล้วนั้น เป็นเรื่องที่หลายคนทราบดีอยู่แล้ว เพียงแต่คราวนี้คงต้องเน้นรู้ให้จริงทุกข้อ ทำให้ได้ ที่สำคัญ นำไปใช้ให้ครบทุกด้าน และทั้งหมดนี้ในฐานะผู้สอน ผู้ให้ความรู้แก่นักศึกษาสายอาชีพสถาปัตยกรรมจึงต้องนำมาฝังให้กับนักศึกษาด้วย เพราะเราจะไม่ใช่แค่คนออกแบบบ้านอาคารอีกต่อไป แต่เราจะเป็นคนออกแบบที่ครบเครื่องเบ็ดเสร็จ และสามารถเอาตัวรอดในยุคที่น่าเป็นห่วงขณะนี้ได้