สธ. ชวนผู้หายป่วยจากโควิด-19 บริจาคเลือด เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาวัคซีน

สธ.ชวนผู้หายป่วยจากโควิด19 บริจาคเลือด เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาวัคซีน
บริจาคเลือด

สธ. ชวนผู้หายป่วยจากโควิด-19 บริจาคเลือด เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาวัคซีน

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วัคซีนคือ สิ่งที่ทั่วโลกพยายามสร้างมาเป็นเครื่องมือต่อสู้กับโควิด-19 ซึ่งไทยก็พยายามวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 เช่นกัน และมีความคืบหน้าเป็นลำดับ ได้ผ่านการทดลองในสัตว์ระยะแรกไปแล้ว และกำลังทดลองในสัตว์ระยะ 2

ก่อนจะเริ่มทดลองในคนช่วงปลายปีนี้ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่วัคซีนเท่านั้น แต่กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังพยายามร่วมกันที่จะวิจัยทุกทางเพื่อให้ได้ข้อมูลเพิ่มทางเลือกในการต่อสู้กับโควิด-19 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เดินหน้าวิจัยภาวะภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยโควิด-19 และผู้ที่มีความเสี่ยงในคนไทย

นาย สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

โดยเชิญชวนผู้หายป่วยจากโควิด-19 ในไทยที่มีกว่า 3,000 คน รวมถึงผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยหายแล้วให้มาช่วยกันบริจาคเลือดเพื่อศึกษาพลาสมา หาว่าผู้ติดเชื้อแล้วร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติหรือไม่ ถ้าสร้างแล้วจะมีผลเมื่อไหร่ อยู่นานแค่ไหน ซึ่งคำตอบทั้งหมดจะเป็นประโยชน์ในวงการแพทย์สำหรับการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั้งเพื่อคนไทยและคนทั่วโลกต่อไป

รศ.นพ.ปกรัฐ หังสสูต หัวหน้าหน่วยไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ภูมิคุ้มกัน คือสิ่งที่ดีสุดในการที่สู้กับโรคต่างๆ ซึ่งปกติภูมิคุ้มกันสร้างได้ด้วย 2 วิธี คือ การฉีดวัคซีน กับวิธีให้ร่างกายติดเชื้อแล้วสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นเอง

แต่ในการให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเองนั้นเชื้อแต่ละตัวร่างกายจะให้ผลที่แตกต่างกัน เชื้อบางตัวอาจสร้างได้แค่ภูมิคุ้นเคย คือ เป็นตัวยืนยันว่าเคยป่วยแต่ไม่ช่วยปกป้องร่างกายจากการติดเชื้อและป่วยซ้ำ เชื้อบางตัวร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้แต่อยู่ไม่นานต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิซ้ำๆ

เช่นเดียวกับวัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่ที่ต้องฉีดกระตุ้นทุกปี ผิดกับหัดเยอรมัน หากเคยติดหรือเคยฉีดวัคซีนแล้วร่ายกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาแล้วภูมินี้จะช่วยปกป้องไปได้ตลอดชีวิต การศึกษาพลาสมาของผู้หายป่วยโควิด-19 และผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยแต่ยังแข็งแรงได้ ก็ทราบว่า ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันไวรัสโคโรนา 2019 หรือแค่สร้างภูมิคุ้นเคย หากเป็นภูมิคุ้มกันจะให้ผลอย่างไร อยู่นานแค่ไหน แค่ไม่กี่เดือน หรือจะอยู่ถาวรตลอดชีวิต

ซึ่งคำตอบทั้งหมดจะช่วยให้รู้กลไกร่างกายต่อโรค นำสู่การพัฒนาวัคซีนสู้โควิด-19 ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการวิจัยพัฒนากว่า 100 ชนิด ซึ่งจะสมบูรณ์ได้หากได้คำตอบนี้ ซึ่งจะได้คำตอบภายใน 1 ปี

ด้าน นายทองสุข ทองราช แท็กซี่ที่ติดโควิด-19 ในประเทศไทยคนแรก ที่หายป่วยและเข้าร่วมบริจาคเลือดเพื่อการวิจัยครั้งนี้แล้วถึง 7 ครั้ง ได้นำทีมผู้หายป่วยจากโควิด-19 ที่ร่วมบริจาคเลือดอีก 4 คน ทั้งนักศึกษาไทยชาวนครศรีธรรมราชคนแรกที่กลับจากอิหร่าน ผู้ป่วยรายที่ 4 ซึ่งกลับมากับคณะที่รัฐบาลนำเครื่องบินไปรับมาจากเมืองอู่ฮั่น หนึ่งในผู้ติดเชื้อจากเวทีมวยลุมพินี ที่พร้อมใจกันมาเปิดประสบการณ์สิ่งที่ได้จากการบริจาคเลือด

ข้อมูลบริจาคจะเป็นความลับเว้นแต่ผู้บริจาคจะเปิดเผยตัว จึงไม่ต้องกลัวเรื่องผลกระทบในการดำเนินชีวิต ซึ่งการบริจาคเลือดครั้งนี้ ไม่ใช่แค่ช่วยให้ไทยชนะ แต่ยังจะช่วยทั่วโลกด้วยการเรียนรู้ จึงขอชวนผู้หายป่วยและคนใกล้ชิดมาร่วมกันบริจาคเลือด โดยผู้สนใจสามารถติดต่อบริจาคเลือดได้โดยตรงกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์