จัดอันดับ 5 เทรนด์ตลาดพลังงาน ปี 2020 ที่ผู้ประกอบการ-ธุรกิจองค์กร ควรรู้!

จัดอันดับ 5 เทรนด์ตลาดพลังงาน ปี 2020 ที่ผู้ประกอบการ-ธุรกิจองค์กร ควรรู้!

เทรนด์ตลาดพลังงาน – เว็บไซต์ กฟผ. เผยแพร่บทความน่าสนใจของเว็บไซต์ Renewable Energy World ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่นำเสนอข่าวสารและบทความเกี่ยวเนื่องกับพลังงานหมุนเวียน ความเป็นไปและแนวโน้มในตลาดการค้าพลังงานที่สำคัญ ได้มีการจัดอันดับแนวโน้มหรือเทรนด์ที่น่าจับตามองในอนาคตของตลาดการค้าพลังงาน โดยแบ่งเป็น 5 เรื่อง 5 แนวด้วยกัน ดังนี้

1. การก้าวสู่ตลาดพลังงานหมุนเวียนแบบเรียลไทม์

กระแสที่ไม่มีใครกล้ามองข้ามในตลาดค้าพลังงานตอนนี้ก็คือ พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ที่ถูกมองว่ายั่งยืนกว่าพลังงานจากแหล่งเดิม (เชื้อเพลิงฟอสซิล) ซึ่งมีวันหมดไป ขณะที่พลังงานหมุนเวียนเช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมพลังงานน้ำ สามารถนำมาใช้โดยไม่จำกัดและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก

ตลาดพลังงานหมุนเวียนนั้นกำลังพัฒนาและขยายตัวอย่างรวดเร็ว ระบบการจัดการและซื้อขายจึงต้องปรับเปลี่ยนตามจึงเกิดเทรนด์ของตลาดพลังงานหมุนเวียนแบบเรียลไทม์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นทิศทางหลักในอนาคต

รายงานด้านพลังงานหมุนเวียนปี 2019 ของสำนักงานพลังงานสากล (IEA: International Energy Agency) ระบุว่าตลาดพลังงานหมุนเวียนจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วอีก 50% ภายในปี 2024 การเปลี่ยนขั้วในเวลาอันสั้นจากพลังงานแบบดั้งเดิมไปสู่พลังงานแบบใหม่ที่ยังขาดความสม่ำเสมอหรือแน่นอน เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ เพราะตลาดพลังงานต้องพัฒนาระบบตลาดพลังงานระหว่างวัน (Intraday Market) ให้อยู่ในลักษณะที่ใกล้เคียง สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ในเวลาจริง (Real Time) มากที่สุด จะเห็นว่ามีหลายตลาดที่นำข้อกำหนดระยะเวลาในการตกลงชำระค่าพลังงานระยะสั้น (Short Energy Settlement Period) มาใช้มากขึ้น

ความไม่แน่นอนของผลผลิตคือ จุดอ่อนสำคัญของพลังงานหมุนเวียน เพราะสภาวะธรรมชาติที่อาจควบคุมไม่ได้ในบางครั้งผู้ประกอบการจึงต้องหาวิธีรับมือ เช่นในวันที่มีแสงแดดน้อย โรงผลิตไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์ต้องหาทางชดเชยพลังงานที่ผลิตได้ไม่พอ โดยใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อให้มีการส่งพลังงานอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งทำให้ต้นทุนเพิ่ม ปัจจัยในทำนองนี้นำไปสู่ความผันผวนด้านราคาพลังงานระหว่างวัน ด้วยเหตุนี้ ประเทศออสเตรเลียจึงมีนโยบายสร้างตลาดพลังงานแบบเรียลไทม์ โดยเปลี่ยนระยะเวลากำหนดราคาซื้อขายทันทีของพลังงานไฟฟ้า (Electricity Spot Prices) จากเดิมที่ตั้งราคาทุก 30 นาที เป็นทุก 5 นาที โดยจะมีผลในปี 2021 ออสเตรเลียเชื่อว่าข้อบังคับนี้จะช่วยให้พลังงานหมุนเวียนมีราคาที่ไม่ถูกหรือแพงเกินไปและทำกำไรได้มากขึ้น

ในสหรัฐอเมริกาก็มีตลาดพลังงานหลายเจ้าที่เริ่มใช้ระบบตลาดแบบเรียลไทม์ เช่น กลุ่ม California Independent System Operator (CISO) ที่ผลิตและดูแลการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าในรัฐแคลิฟอร์เนียก็มีแผนจะเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตแบบ 100% การใช้ระบบตลาดแบบเรียลไทม์จะช่วยให้สมาชิกกลุ่มสามารถรับมือความผันผวนที่มีอยู่สูงในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ดีขึ้น

ทางด้านยุโรป โดยเฉพาะกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) นั้น มีการซื้อขายไฟฟ้าข้ามเขตแดนกันตลอดเวลา ระบบพลังงานของแต่ละประเทศที่เชื่อมโยงถึงกันจึงเพิ่มขึ้นตลอด และทางอียูก็มีแผนจะเปลี่ยนกำลังการผลิตให้เป็นพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องพัฒนาระบบการซื้อขายที่รองรับความซับซ้อนผันผวนของการใช้พลังงานแบบใหม่นี้ได้ ซึ่งหนีไม่พ้นระบบตลาดพลังงานแบบเรียลไทม์นั่นเอง

2. การค้าผ่านระบบอัลกอริทึมและโปรแกรมต่างๆ

เมื่อตลาดพลังงานก้าวไปสู่ระบบตลาดแบบเรียลไทม์ สิ่งที่ตามมาก็คือ ข้อมูลจำนวนมหาศาลหรือ Big Data และการใช้ระบบอัลกอริทึม เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลแล้วนำมาใช้ในการตัดสินใจซื้อขาย จากระบบเดิมที่มีข้อมูลการเพิ่มต้นทุน (Increment) เพียง 24 รอบต่อวัน และการกำหนดราคา (Cost Settlement) เป็นรายชั่วโมง เมื่อตลาดเข้าสู่ระบบเรียลไทม์ ข้อมูลจะเพิ่มขึ้นจนเมื่อถึงที่สุดแล้ว ก็จะกลายเป็นการเพิ่มต้นทุน 288 รอบต่อวัน และการกำหนดราคาทุก 5 นาที (ปริมาณข้อมูลเพิ่มขึ้น 1,100%)

ระบบอัลกอริทึมจะช่วยรับมือในสถานการณ์เช่นนี้ และช่วยให้ผู้ค้าพลังงานทำกำไรได้ดีขึ้น รวมถึงช่วยลดต้นทุนทรัพยากรมนุษย์ (Human Capital) ที่เกิดขึ้นแบบ 24 ชั่วโมงต่อวัน ตลาดพลังงานในยุโรปกำลังเป็นผู้นำในการประยุกต์ใช้ระบบใหม่ ๆ เหล่านี้ บรรดาผู้ค้าพลังงานจะตั้งค่าตัวแปรต่างๆ เช่น ฐานราคาต่ำสุดและเพดานราคาสูงสุดในการซื้อขาย แล้วใช้ระบบคิดคำนวณตามที่ตั้งโปรแกรมไว้ออกมาเป็นกลยุทธ์การขาย การตั้งออร์เดอร์การซื้อขายเปลี่ยนถ่ายพลังงาน ฯลฯ แล้วส่งผ่านข้อมูลเหล่านั้นด้วยซอฟต์แวร์ในกลุ่ม ETRM (Energy Trade and Risk Management) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่คำนวณและบริหารจัดการความเสี่ยงในการซื้อขายพลังงานไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง

ในไทยก็มีผู้ริเริ่มใช้ระบบอัลกอริทึมเข้ามาบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้า ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการทดลองติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดกำลังและปริมาณการผลิตไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ จากผู้ผลิตและอุปกรณ์ตรวจวัดการใช้พลังงานของผู้ใช้ไฟฟ้า

โดยจับคู่ระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าตามช่วงเวลา แล้วนำข้อมูลมาบริหารจัดการด้วยระบบอัลกอริทึมโดยมีเป้าหมายเพื่อลดปริมาณการใช้กำลังไฟฟ้าฐานให้น้อยที่สุด แต่ยังคงมีเสถียรภาพและคุณภาพไว้ ระบบนี้จะรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมการใช้พลังงานของผู้ใช้ทุกราย จากนั้นระบบจะเริ่มเรียนรู้และทำนายพฤติกรรมผู้บริโภคได้ตามลักษณะของตัวแปรต่างๆ เช่น เวลา สภาพอากาศ จำนวนกิจกรรม เพื่อจับคู่ผู้ใช้และผู้ผลิตที่เหมาะสมในรูปแบบของการค้าพลังงานเสรี รวมถึงคำนวณค่าไฟฟ้าในแต่ละช่วงวันให้สอดคล้องกับกิจกรรมของผู้ใช้ไฟฟ้าหรือนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนเพื่อประหยัดพลังงานในหน่วยงานได้อีกด้วย

3. การขยายตัวของการค้าเสรีในตลาดพลังงานโลก

เป็นที่ยอมรับกันว่า สหรัฐอเมริกา คือ มาตรฐานระดับโลกของตลาดพลังงานแบบเสรีเปิดกว้างกลุ่มประเทศอียูก็พยายามไปให้ถึงจุดนั้น แต่การผูกขาดด้านการค้าพลังงานที่มีมายาวนานในประเทศสมาชิกบางประเทศคือ อุปสรรคสำคัญ อย่างไรก็ตาม เมื่อแนวโน้มพลังงานเปลี่ยนไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนทั่วทั้งภูมิภาคทำให้เป้าหมายของตลาดเป็นไปในทิศทางเดียวกัน กระทั่งประเทศที่เคยแข็งขืนก็ไม่สามารถต้านกระแสแห่งอนาคตได้ และจำเป็นต้องพึ่งพาตลาดค้าพลังงานระหว่างประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีแต่จะเพิ่มขึ้น

ในประเทศญี่ปุ่น หลังจากเหตุสลดใจที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะเมื่อ 9 ปีก่อน ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนด้านพลังงาน ญี่ปุ่นต้องกลับไปพึ่งพาพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล จึงเริ่มคิดถึงตลาดการค้าพลังงานแบบเสรีซึ่งเปิดโอกาสให้เอกชนรายย่อยมาร่วมลงทุนและเริ่มกระบวนการผลักดันอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2016 ทางการญี่ปุ่นได้มีมาตรการสร้างแรงจูงใจให้เอกชนมาลงทุนในโครงการใหม่ทางด้านพลังงานหมุนเวียน เช่น โครงการทุ่งกังหันลมนอกชายฝั่ง เพื่อผลิตพลังงานอย่างต่อเนื่อง

อันที่จริงทางฝั่งเอเชียนั้น ไม่ได้มีแต่ญี่ปุ่นที่หันไปหาการค้าเสรีในตลาดพลังงานแต่ยังมีเกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทยเราเองที่ให้ความสนใจตลาดพลังงานเสรีเช่นกัน หลายประเทศรวมทั้งไทยมีนโยบายส่งเสริมให้เอกชนลงทุนด้านพลังงานรูปแบบใหม่ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม เพื่อรองรับความต้องการพลังงานที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า

4. การเติบโตของ Prosumer แห่งตลาดพลังงาน

ปัจจุบัน จำนวนของ Prosumer หรือที่เราอาจเรียกว่าเป็น ‘ผู้บริโภคมืออาชีพ’ ในตลาดต่าง ๆ ทั่วโลกนั้นเพิ่มขึ้นทุกวันผู้บริโภคประเภทนี้มีความรู้ในสินค้าที่ตัวเองซื้อเป็นอย่างดี หลายครั้งที่พวกเขามีบทบาทในการผลิตสินค้า หรือกลายเป็นผู้ร่วมผลิต ในตลาดพลังงานก็ไม่ต่างกันเมื่ออุปกรณ์ในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเริ่มมีราคาถูกลง รวมถึงมีขนาดเล็กลง เช่น แผงโซลาร์เซลล์ ผู้บริโภครายย่อยที่มีกำลังทรัพย์มากพอก็สนใจที่จะมีแหล่งผลิตพลังงานขนาดเล็กเป็นของตัวเองในบางประเทศ มีแนวคิดสนับสนุนให้ตามบ้านเรือน อาคารหลายแห่งติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ จุดประสงค์แรกเริ่มอาจเป็นการทดลองผลิตไฟฟ้าใช้เองเพื่อลดค่าใช้จ่ายต่อมาก็มีผลพลอยได้เมื่อผู้บริโภครายย่อยเหล่านี้ สามารถผลิตไฟฟ้าได้เกินความต้องการและขายคืนให้ผู้ค้าหลักได้

ในตลาดพลังงานของไทยก็มีการผลักดันให้เกิดการค้าพลังงานเสรีโดย Prosumer ซึ่งทาง กฟผ. ให้ความหมายว่าเป็น Production by Consumer หรือการผลิตไฟฟ้าโดยผู้บริโภค โครงการนี้ยินยอมให้บ้านเรือนหลังใดที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์สามารถขายไฟฟ้าส่วนที่ผลิตแล้วเหลือใช้ให้บ้านใกล้เรือนเคียงได้

แต่ในทางปฏิบัติจริงก็ยังมีปัญหาทางเทคนิคที่ต้องแก้ไข เช่น ผลกระทบจากความไม่สม่ำเสมอของกระแสพลังงานที่ผลิตได้ที่มีต่อระบบกริดไฟฟ้า ปัญหาเรื่องการจัดเก็บพลังงาน นอกจากนี้ ยังต้องปรับเปลี่ยนระบบไฟฟ้าโดยรวมให้มีความยืดหยุ่นเพื่อรองรับกลุ่ม Prosumer รวมถึงระบบที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น ระบบการซื้อขาย ระบบการบริหารจัดการผู้ใช้ไฟฟ้า เพื่อรองรับการค้าพลังงานในลักษณะดังกล่าว ซึ่งเป็นแนวโน้มที่หลีกเลี่ยงได้ยากในอนาคต

20200623 ART01 04

5. ความก้าวหน้าในการจัดเก็บและสำรองพลังงาน

หนึ่งในปัญหาใหญ่ของโครงการพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นโครงการเล็กหรือใหญ่ก็คือปัญหาเรื่องราคาและประสิทธิภาพของแบตเตอรี หรืออุปกรณ์เก็บสำรองพลังงานนักวิจัยพยายามคิดค้นว่าจะทำอย่างไรให้แบตเตอรีเก็บพลังงานเหล่านี้มีขนาดเล็ก แต่สามารถเก็บบรรจุพลังงานได้จำนวนมาก โดยที่ราคาไม่สูงเกินไป

เมื่อใดที่แก้ปัญหานี้ได้ ตลาดพลังงานหมุนเวียนก็จะยิ่งเติบโต เพราะอุปกรณ์สำรองพลังงานเหล่านี้จะช่วยเสริมความมั่นคงทางพลังงานให้ระบบกริดไฟฟ้าหรือระบบเครือข่ายการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน ปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีของแบตเตอรีสามารถสำรองไฟฟ้าให้ระบบกริดขนาดเล็กระดับไมโคร โดยเป็นแหล่งไฟฟ้าสำรองในช่วงพีคหรือช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดและเป็นแหล่งเก็บพลังงานส่วนเกินในช่วงที่มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าต่ำ

ต้องขอบคุณแนวโน้มความต้องการแบตเตอรีที่มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น ทำให้ตัวแบตเตอรีได้รับการพัฒนาให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้นในราคาไม่สูงนัก ตอนนี้จึงมีผู้ผลิตหลายรายสามารถติดตั้งแบตเตอรี่เก็บสำรองพลังงานในระดับเมกะวัตต์คู่กับระบบกริดที่ใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าได้ และทำให้ระบบไฟฟ้ามีความเสถียรมากขึ้น

สำนักงานพลังงานสากลประมาณการไว้ว่า ภายในปี 2050 จะสามารถพัฒนาการติดตั้งแบตเตอรี่ที่ใช้สำรองพลังงานในระบบกริดไฟฟ้าได้สูงสุดถึง 40 กิกะวัตต์ และเนื่องจากมีแนวโน้มว่า โรงผลิตพลังงานใหม่ๆ จะถูกสร้างขึ้นโดยคำนึงถึงความสามารถในการเก็บสำรองพลังงานควบคู่ไปด้วย ราคาของอุปกรณ์เหล่านี้ ย่อมมีโอกาสจะลดลง ส่งผลให้ผู้ผลิตพลังงานและผู้บริโภคสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีสำรองพลังงานใหม่ๆ ได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ปัจจัยที่หลากหลายและข้อมูลที่หลั่งไหลเข้ามาตามแบบฉบับธุรกิจในยุค Big Data ทำให้ผู้ค้าในตลาดพลังงานต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วนและมองหามาตรการที่ฉับไว นวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับทิศทางตลาดในอนาคต