สัญญาณดี! ครึ่งปีหลัง จ้างแรงงานเพิ่ม – เด็กจบใหม่มีเฮ ถูกว่าจ้างมากกว่า

สัญญาณดี! ครึ่งปีหลัง จ้างแรงงานเพิ่ม – เด็กจบใหม่มีเฮ ถูกว่าจ้างมากกว่า พร้อมเปิด 5 สายงานสุดรุ่ง

จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) เปิดผลสำรวจผู้ประกอบการและคนทำงาน ถึงผลกระทบการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ครอบคลุมคนทำงาน 1,400 คน ผู้ประกอบการ 400 ราย พบว่า 25 เปอร์เซ็นต์ ของคนทำงานได้รับผลกระทบโดยตรง ส่วน 9 เปอร์เซ็นต์ ถูกเลิกจ้าง และ 16 เปอร์เซ็นต์ ถูกหยุดงานแต่ยังคงสถานะลูกจ้าง

ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ พนักงานอยู่ในกลุ่มเงินเดือนต่ำกว่า 16,000 บาท มีลักษณะงานเป็นสัญญาจ้าง อายุมากกว่า 45 ปี และทำงานให้กับองค์กรที่มีพนักงานน้อยกว่า 50 คน พร้อมชี้ดัชนีความไม่มีความสุขเพิ่มขึ้น 3 เท่าเมื่อต้องเปลี่ยนมาทำงานที่บ้าน อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการกว่า 88 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าการจ้างงานในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 จะกลับมา

คุณพรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า คนทำงาน 1 ใน 4 ได้รับผลกระทบโดยตรงต่อสถานะการทำงาน แต่อีก 6 เดือนข้างหน้า พบสัญญาณเชิงบวกในการจ้างงานจากฝั่งผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น

จากการสำรวจ พบว่า กว่า 25 เปอร์เซ็นต์ ของคนทำงานได้รับผลกระทบ โดยผลกระทบมีระดับความรุนแรงมีดังนี้ 9 เปอร์เซ็นต์ ถูกเลิกจ้าง 16 เปอร์เซ็นต์ ถูกหยุดงานแต่ยังคงสถานะลูกจ้าง ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือพนักงานอยู่ในกลุ่มเงินเดือนต่ำกว่า 16,000 บาท มีลักษณะงานเป็นสัญญาจ้าง อายุมากกว่า 45 ปี และทำงานให้กับองค์กรที่มีพนักงานน้อยกว่า 50 คน

นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังเผยให้เห็นว่าคนทำงานที่ยังคงทำงานอยู่ก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวเช่นกัน โดย 48 เปอร์เซ็นต์ ต้องทำงานที่บ้าน (Work From Home) 45 เปอร์เซ็นต์ ได้รับผลกระทบเชิงโครงสร้างรายได้ ในจำนวนนี้ 27 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้โบนัส 20 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีการปรับเงินเดือน และ 14 เปอร์เซ็นต์ ถูกลดเงินเดือน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกลดเงินเดือนระหว่าง 11-20 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้

นอกจากนี้ จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) ยังได้สำรวจ “ดัชนีความสุขในการทำงานของแรงงานไทย” โดยก่อนการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 พบอยู่ที่ 85 เปอร์เซ็นต์ และในช่วงของการระบาดลดลงเหลือเพียง 59 เปอร์เซ็นต์ พร้อมพบว่าดัชนีความไม่มีความสุขเพิ่มขึ้น 3 เท่าเมื่อต้องเปลี่ยนมาทำงานที่บ้าน และ 46 เปอร์เซ็นต์ ของคนทำงานระบุว่าชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังพบว่า พนักงานในสายงานโฆษณา งานประชาสัมพันธ์ รวมถึงสายงานการตลาดดิจิตอล งานอีคอมเมิร์ซ และงานโซเชียลมีเดีย เป็นกลุ่มสายงานที่ทำงานต่อวันเป็นระยะเวลานานขึ้นเมื่อต้องทำงานอยู่ที่บ้านอีกด้วย

คุณพรลัดดา กล่าวต่อ ในขณะที่สถานการณ์การจ้างงานในฝั่งของผู้ประกอบการที่มีในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะต้องเผชิญกับความท้าทาย ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ปรับแผนดำเนินงานในการรับมือ โดยพบว่า 52 เปอร์เซ็นต์ ส่งเสริมให้พนักงานทำงานที่บ้าน 47 เปอร์เซ็นต์ ปรับนโยบายการจ้างงาน ซึ่งในจำนวนนายจ้างที่ได้ปรับนโยบายการจ้างงานพบว่า 39 เปอร์เซ็นต์ หยุดการรับพนักงานใหม่ และ 12 เปอร์เซ็นต์ ลดจำนวนพนักงาน

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการกว่า 37 เปอร์เซ็นต์ จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเงินเดือนและค่าตอบแทน อาทิ 21 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีการปรับเงินเดือน 20 เปอร์เซ็นต์ พิจารณามาตรการลดเงินเดือน และ 18 เปอร์เซ็นต์ จะงดการจ่ายโบนัส

อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจยังเห็นสัญญาณเชิงบวกในการจ้างงานจากผู้ประกอบการที่สะท้อนในการสำรวจดังกล่าว สำหรับช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 88 เปอร์เซ็นต์ มีแนวโน้มการจ้างงานอีกครั้งใน 6 เดือนข้างหน้า โดยพบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

  • ผู้ประกอบการกว่า 33 เปอร์เซ็นต์ ชี้ว่า อยากจะจ้างงานผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โควิด-19 เพื่อช่วยเหลือประเทศ
  • ผู้ประกอบการกว่า 53 เปอร์เซ็นต์ มีแนวโน้มที่จะว่าจ้างเด็กจบใหม่เพื่อทำงานในตำแหน่งระดับพนักงานทั่วไป

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลข้างต้น พบว่า ผู้ประกอบการมีแนวโน้มจ้างงานมากที่สุดใน 5 สายงานใน 6 เดือนข้างหน้า ได้แก่ 1.งานไอที 2.งานการตลาด/งานประชาสัมพันธ์ 3.งานขาย/งานบริการลูกค้า/งานพัฒนาธุรกิจ 4.งานต้อนรับ/งานในร้านอาหารและบริการเครื่องดื่ม และ 5.งานจัดซื้อ