ปิดทองหลังพระฯ ดันทุเรียน 3 จว.ใต้ ส่งออกจีนสร้างรายได้ปีนี้ 160 ล้าน

ทุเรียนใต้ได้ฤกษ์บุกตลาดจีน ปิดทองหลังพระฯ ทำโครงการทุเรียนคุณภาพ ดันเกษตรกร 3 จว.ใต้ปลูกทุเรียนเกรดสูง ดึงซีพีช่วยหนุนส่งขายจีน สร้างรายได้กว่า 160 ล้าน

นับว่าเป็นเรื่องโชคดีที่แม้ว่ายังอยู่ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ทุเรียนไทยก็ยังสามารถส่งออกไปขายยังต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นผู้รับซื้อหลักได้ รวมถึงทุเรียนใน 3 จังหวัดภาคใต้ คือ ยะลา นราธิวาส และปัตตานี ซึ่งจะเริ่มมีผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมิถุนายนนี้

ทั้งนี้ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตรให้มีคุณภาพตามศาสตร์พระราชาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือโครงการทุเรียนคุณภาพ โดยการให้ความรู้กับเกษตรกรตลอดกระบวนการ ตั้งแต่ดูแลต้นจนถึงการเก็บผลผลิตเพื่อจำหน่าย ให้ทุเรียนมีคุณภาพมาตรฐานส่งออกไปยังประเทศจีน สร้างรูปแบบการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ สามารถพึ่งพาตนเองได้

นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า จังหวัดได้ร่วมกับปิดทองหลังพระฯ ทำโครงการทุเรียนคุณภาพ มาตั้งแต่ปี 2561 โดยปีนี้มีเกษตรกรใน 3 จังหวัดภาคใต้เข้าร่วมโครงการ 625 ราย คิดเป็นจำนวนทุเรียน 29,201 ต้น คาดการณ์ผลผลิตทุเรียนประมาณ 1,778 ตัน ตลาดส่งออกหลักคือ ประเทศจีน คาดว่าปีนี้จะมีรายได้ประมาณ 160 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเท่าตัว จากปี 2562 ที่มีเพียง 80 ล้านบาท

“หากมีการขยายการดำเนินโครงการฯ นี้ออกไปให้กว้างขวาง และได้ทุเรียนคุณภาพเพิ่มขึ้น ปัญหาความยากจนซึ่งประชาชน 3 จังหวัดชายแดนใต้ จะได้รับการแก้ไขอีกส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน”

 

หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่า ปี 2561 ที่เริ่มโครงการ มีเกษตรกรเข้าร่วมเพียง 18 ราย และเพิ่มเป็น 625 รายในปีนี้ เพราะเกษตรกรผู้ปลูกมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาทุเรียนให้มีคุณภาพ เชื่อมั่นว่า ถ้ามีการดูแลให้ดีขึ้น ต่อไปทุเรียนใต้จะเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ทั้งนี้ ปี 2564 ตั้งเป้าหมายเพิ่มเป็น 2 เท่าของปี 2563

นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมละพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่า เกษตรกรที่ทำสัญญาเข้าร่วมโครงการจะต้องปฏิบัติ 10 ขั้นตอนในการดูแล บริหารจัดการการปลูกตั้งแต่ต้นจนถึงการเก็บผลผลิตเพื่อให้ได้ทุเรียนตรงตามมาตรฐานที่กำหนด โดยจะมีอาสาทุเรียนเป็นกลไกขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ ทั้งให้คำปรึกษา แนะนำในทุกขั้นตอนการผลิตให้กับเกษตรกร และสถาบันฯ จะให้ยืมแบบไม่มีดอกเบี้ยสำหรับการลงทุนอุปกรณ์จำเป็นในการเพาะปลูก ซึ่งเกษตรกรจะทยอยชำระคืนเมื่อขายผลผลิตได้

นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพี) กล่าวว่า ซีพีได้เข้าร่วมสนับสนุนโครงการทุเรียนคุณภาพ โดยจะดูแลด้านการตลาด พร้อมกับรับซื้อจากเกษตรกรในราคาสูงกว่าท้องตลาด 10-15 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ ทางปิดทองหลังพระฯ จะเป็นผู้รวบรวมผลผลิต หลังจากนั้นจะส่งไปยังศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าของซีพีที่จังหวัดชุมพร เพื่อให้ซีพีรับช่วงต่อ ส่งไปยังมาบตาพุด เพื่อส่งออกไปยังประเทศจีน โดยจะนำไปจำหน่ายให้กับผู้บริโภคชาวจีนในห้างโลตัส และเครือข่ายของซีพีในประเทศจีนต่อไป