กรมอนามัย เผย โควิด-19 ทำขยะล้น 6,300 ตันต่อวัน

กรมอนามัย เผย โควิด-19 ทำขยะล้น 6,300 ตันต่อวัน เร่งร่วมมือบริษัทบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม รณรงค์ลดใช้พลาสติก

เว็บไซต์ กรมอนามัย เผยแพร่ข่าว กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับบริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินโครงการ “กินอยู่ปลอดภัย” เพื่อรณรงค์ให้ผู้ประกอบการร้านอาหารและประชาชนตระหนักถึงความปลอดภัยของอาหาร การปนเปื้อนในอาหาร
และใช้บรรจุภัณฑ์อาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ไม่ใช้โฟม ถุง หรือกล่องบรรจุภัณฑ์พลาสติก ที่อาจเสี่ยงให้เกิดสารปนเปื้อนในอาหารเพื่อลดปริมาณขยะหลังพบช่วงโควิด-19 มีขยะเพิ่ม 6,300 ตันต่อวัน โดยแพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินโครงการ “กินอยู่ปลอดภัย” ระหว่าง กรมอนามัย ร่วมกับ บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) ณ ห้องประชุมสมบูรณ์ วัชโรทัย อาคาร 1 ชั้น 2 กรมอนามัย ว่า จากมาตรการผ่อนปรนสถานประกอบกิจการประเภทต่างๆ ของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือ ศบค. หนึ่งในนั้นคือสถานประกอบการประเภทร้านอาหาร รถเข็น หาบเร่ แผงลอย ที่ต้องคุมเข้มด้านความสะอาด ปลอดภัย และปฏิบัติตามแนวทางมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย
เพราะสถานที่จำหน่ายอาหารดังกล่าวเป็นสถานที่ที่มีคนมาจากหลากหลายพื้นที่และมีความเสี่ยงการปนเปื้อนเชื้อโรค โดยที่ผ่านมา ตามมาตรการของ ศบค. นั้น กำหนดให้ร้านอาหารต่างๆ จำหน่ายอาหารแบบซื้อกลับบ้านเพื่อป้องกันการรวมตัวและลดความแออัด ซึ่งพบว่าสถานที่จำหน่ายอาหารรูปแบบดีลิเวอรี่ในช่วงนี้ ส่งผลให้เกิดปริมาณขยะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะขยะพลาสติก เช่น กล่องพลาสติกใส่อาหาร ช้อน ส้อม แก้ว หลอดดูด มีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็น 6,300 ตันต่อวัน เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ประมาณ 1,500 ตันต่อวัน
“กรมอนามัยจึงขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการร้านอาหารกำจัดขยะให้ถูกวิธี และปรับเปลี่ยนจากภาชนะใส่อาหารประเภทพลาสติก มาใช้ผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ เช่น ปิ่นโต เพื่อลดปริมาณขยะ หรือทดแทนด้วยผลิตภัณฑ์ที่ทำจากธรรมชาติ เช่น ชานอ้อย มันสำปะหลัง และพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ โดยเลือกผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากในประเทศ หรือต่างประเทศสำหรับใช้กับอาหาร ส่วนผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่นำมาบรรจุอาหาร เช่น ชานอ้อย มันสำปะหลัง และพลาสติกชีวภาพนั้น เป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาใช้บรรจุอาหารเพียงครั้งเดียวไม่สามารถใช้ซ้ำได้ แต่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินโครงการ “กินอยู่ปลอดภัย” ระหว่าง กรมอนามัย ร่วมกับ บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน)
ทางด้าน นายแพทย์วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภาชีวะเกรซ กล่าวว่า เนื่องจากบริษัทเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ภาชีวะจากเยื่อพืชธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่เคลือบพลาสติก ปลอดภัย และสามารถย่อยสลายด้วยการฝังกลบดินได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในระยะเวลา 45 วัน ที่ตอบโจทย์เรื่องความปลอดภัยทั้งต่อสุขภาพและต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินโครงการ “กินอยู่ปลอดภัย” ระหว่างกรมอนามัย กับ บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) ในครั้งนี้ ถือเป็นการรณรงค์ให้ผู้ประกอบการร้านอาหารและประชาชนตระหนักถึงความปลอดภัยของอาหาร การปนเปื้อนในอาหาร และใช้บรรจุภัณฑ์อาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ เช่น การไม่ใช้โฟม ถุง หรือกล่องบรรจุภัณฑ์พลาสติก ที่อาจเสี่ยงให้เกิดสารปนเปื้อนในอาหาร รวมทั้งส่งเสริมความรู้ แก่ผู้ประกอบการร้านอาหารและประชาชนในการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีการแยกขยะที่ถูกต้อง เพื่อไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมตามมาในระยะยาว