“ปิ่นโตดี่ดี๋” ธุรกิจต่อลมหายใจยุคโควิด ของพนักงานสายการบิน

“ปิ่นโตดี่ดี๋” ธุรกิจต่อลมหายใจยุคโควิด ของพนักงานสายการบิน

เป็นอีกหนึ่งสาวแกร่ง และเก่งอีกคนที่ไม่ว่าจะเจอวิกฤตไหนก็ไม่เคยยอมแพ้ ที่สำคัญยังใช้พลังบวกของตัวเองสร้างธุรกิจใหม่เป็นรายได้อีกทาง คุณทอปัด สุบรรณรักษ์ วัย 38 ปี ในอีกบทบาทหนึ่ง เธอคือเจ้าของธุรกิจ “Pinto.Dede (ปิ่นโตดี่ดี๋)” ร้านขายอาหารดีลิเวอรี่ ที่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่นาน

คุณทอปัด บอกกับเส้นทางเศรษฐีออนไลน์ว่า ธุรกิจแอร์ไลน์ได้รับผลกระทบเป็นอันดับต้นๆ และเป็นครั้งแรกที่กระทบต่อรายได้ของพนักงานทุกคน ไม่เว้นแม้แต่ตัวเธอเอง จากรับงานคอนซัลต์หารายได้ กลายเป็นธุรกิจร้านอาหารปิ่นโตดี่ดี๋ที่ใช้เวลาคิดและลงมือทำในเวลาเพียงไม่กี่วัน ชวนสามี และน้องๆ แอร์โฮสเตสมาช่วยกันทำ

“ช่วงแรกที่รายได้ลดลง เราเริ่มรับงานคอนซัลต์ หรืองานที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน เป็นสิ่งที่ถนัดและอยากทำมานาน เพียงแต่ว่ายังไม่มีแรงผลักดันให้เริ่มทำ มีลูกค้า 2-3 ราย พอเป็นรายได้มาทดแทนส่วนที่หายไป แต่พอเข้าเดือนเมษายน สายการบินหยุดบิน 100% เงินเดือนลดลง 30% ลูกค้าคอนซัลต์ก็หายไปครึ่งหนึ่ง เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เหมือนกัน เราตัดสินใจเปิดธุรกิจปิ่นโตดี่ดี๋ขึ้น ด้วยสามีเป็นคนทำอาหารอร่อย บ่อยครั้งที่เราชวนเพื่อนๆ ผู้ใหญ่ที่รู้จัก และพี่ๆ ดารามาทานข้าวที่บ้าน หลายคนบอกอร่อยและแนะนำให้ทำขาย”

ไม่เพียงแค่คุณทอปัดกับสามีเท่านั้นที่ช่วยกันทำ เธอยังชวนแอร์โฮสเตสที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมาร่วมงานด้วย

“น้องแอร์โฮสเตสที่เราชวนมา ชื่อ มิลค์-วนัสม์ณา วิริยะชัยกิจ ติดตามการทำงานของน้องมาตลอด เห็นเขาโพสต์ในกรุ๊ปลูกเรือว่ารับทำบัญชี และให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ เลยชวนมาทำระบบหลังบ้านให้ร้านปิ่นโตดี่ดี๋ ตอนนี้น้องช่วยทำทุกอย่างเหมือนเป็นเจ้าของอีกคนหนึ่ง น้องเป็นคนละเอียดและเก่งมากๆ เราให้เกียรติกัน สิ่งไหนที่น้องบอกว่าต้นทุนสูง เราจะฟัง” คุณทอปัด เล่า

วันแรกรับออร์เดอร์แค่ 20 ชุด-ส่งอาหารให้ดารารีวิว 

สำหรับเมนูอาหารของ ปิ่นโตดี่ดี๋ คุณทอปัด ระบุว่า เป็นอาหารไทยสูตรคุณยาย หาทานยาก เมนูขายดีคือ ข้าวคลุกกะปิ กับแกงเขียวหวาน หรือเมนูข้าวหน้าปูลานบิน ข้าวผัดปลาทู ฯลฯ ดูเหมือนง่ายแต่ไม่ค่อยมีใครทำ รสชาติอร่อยไม่ใช่แบบร้านอาหาร แต่อร่อยแบบครัวบ้านย่าบ้านยาย คัดสรรวัตถุดิบคุณภาพดีจากชุมชน ราคาอาหารเริ่มต้น 159-289 บาท จัดส่งด้วยทีมดีลิเวอรี่ของร้าน คิดค่าส่งตามระยะทาง แต่ถูกกว่าแอพดีลิเวอรี่ทั้งหลาย

“อาหารทุกจาน สามีพี่เป็นคนทำ ทำขายวันแรกเปิดรับออร์เดอร์แค่ 20 ชุด ลูกค้ากลุ่มแรกเป็นพี่ๆ ที่รู้จัก หรือคนที่เคยมาทานอาหารที่บ้านเรา เขามาช่วยอุดหนุนด้วยเมตตา แต่ความเมตตาไม่ใช่ความยั่งยืน เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้ดี ทำให้อร่อย คนถึงมาซื้อซ้ำ ทุกวันนี้ออร์เดอร์ขั้นต่ำประมาณ 40 ชุด เคยรับมากที่สุด 90 ชุดต่อวัน ช่วงกลางคืนเราจะช่วยกันเตรียมวัตถุดิบ ตื่นแต่เช้าแล้วลงมือทำตามขั้นตอนที่วางไว้ ตอนนี้ระบบเข้าที่แล้ว เพราะได้ทีมงานที่เก่งและดี ฉะนั้นมีพ่อครัวคนเดียวจึงทำทัน อีกอย่างเราอยู่กันเป็นครอบครัว โควิดทำให้เรามีครอบครัวเพิ่ม ถ้าสายการบินยังบินปกติแทบจะไม่ได้เจอกันเลย”

แน่นอนว่า ปิ่นโตดี่ดี๋ เป็นแบรนด์น้องใหม่ คุณทอปัดบอกถึงวิธีการสื่อสารแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักคือ ส่งอาหารให้ดาราช่วยรีวิว  “ดาราที่ส่งอาหารให้รีวิว มีทั้งคุณกาละแมร์ คุณมดดำ คุณลีเดียและแมทธิว คุณแพนเค้ก ฯลฯ ทุกคนลงโปรโมตให้ คนจะตามมาซื้อ ถ้ากินเมนูแรกตามดาราแล้วอร่อย คนจะสั่งเมนูสองเพิ่ม นั่นแสดงว่าสินค้าเราดีจริงอร่อยจริง จากวันแรกที่มีแต่คนรู้จักมาอุดหนุน วันนี้กลายเป็นคนนอกร้อยละ 90 ส่วนใหญ่สั่งมาจากไลน์แอด”

กำไรน้อย ไม่เป็นไร ถือเป็นค่าวิชา 

เพราะธุรกิจอาหารดีลิเวอรี่เกิดขึ้นจำนวนมากในช่วงโควิด คุณทอปัดจึงไม่คาดหวังกับกระแสตอบรับ เธอบอกว่า ทำเพราะอยากทำอะไรที่สนุกและมีประโยชน์ กำไรไม่ใช่เป้าหมายของปิ่นโตดี่ดี๋ แต่การอยู่ได้และมีเงินเลี้ยงตัวเองเลี้ยงคนในธุรกิจนี้คือเป้าหมาย อย่างเดือนที่ผ่านมาเธอบอกว่ากำไรน้อยมาก เพราะต้องลงทุนซื้ออุปกรณ์ครัว อุปกรณ์ทำความสะอาด รวมทั้งส่งให้ดารารีวิว จึงถือเป็นค่าวิชา และเป็นช่วงแห่งการเรียนรู้

“มีความสุขมาก สามีถามทุกวัน ตัวเขาเองก็มีความสุขได้เป็นฮีโร่ เป็นผู้นำครอบครัวในการหารายได้ ส่วนพี่ได้นำพลังงานที่เหลือมาทำคอนซัลต์ มาขายข้าว ทำให้ตัวเองเก่งขึ้น ฉลาดขึ้น และช่วยเหลือคนได้ ทั้งธุรกิจฝั่งคอนซัลต์ และการขายข้าวเราไม่ได้ทำสองคนกับสามี ยังมีน้องๆ แอร์โฮสเตสที่เข้ามาช่วยงาน เกิดเป็นรายได้ช่วงนี้”

คุณทอปัด บอกอีกว่า ทำงานมาตลอด 15 ปี รับเงินเดือนจากบริษัทแหล่งเดียวมาตลอด นี่เป็นครั้งแรกที่ได้เงินจากอาชีพอื่นนอกจากงานประจำ

“ชีวิตปกติ เราจะใช้แรงกับการปลูกผัก ทำความสะอาดบ้าน ออกกำลัง ถึงเวลาทำงานเราใช้สมอง แต่การขายอาหารต้องใช้สองอย่างพร้อมกัน สมองใช้คิดเลข ออร์เดอร์เท่านี้ใช้วัตถุดิบเท่าไหร่ ส่วนแรง ต้องใช้ยกของแพ็กอาหาร วิกฤตนี้เราได้เรียนรู้ที่จะไม่เสียโอกาส แน่นอนว่ามันมีปัญหาอยู่ มีความเสี่ยงอยู่ แต่เราจะไม่วิ่งหนี ต้องคิดหาทางออกให้เจอ อะไรบ้างที่เราอยากทำก่อนเกิดวิกฤต คือ เราอยากมีอาชีพอื่น ทำงานคอนซัลต์ ขายข้าว ซึ่งโควิดทำให้เราลงมือทำ และก็ทำได้ดีด้วย” คุณทอปัด สาวแกร่ง ทิ้งท้าย

สนใจเข้าไปสั่งอาหารได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Pinto.Dede