ก.เกษตรฯจัดพิธีถวายสักการะและแสดงความอาลัย เพื่อน้อมรำลึกเนื่องใน’วันพระบิดาแห่งฝนหลวง’

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังพิธีถวายสักการะและแสดงความอาลัย เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องใน “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” ประจำปี 2559 จัดระหว่างวันที่ 14-16 พฤศจิกายน 2559 ที่อาคารบี ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะว่า เมื่อปี 2498 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเสด็จฯเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทรงพบเห็นราษฎรขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร พระองค์จึงมีพระราชดำริเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2498 จะดัดแปรสภาพอากาศเพื่อทำให้เกิดฝนตก เนื่องจากทรงเห็นว่าประเทศไทยอยู่ในภูมิภาคเขตร้อน อยู่ในอิทธิพลของมรสุมทวีปเอเชีย โดยเฉพาะมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งสภาพอากาศมีความเหมาะสมที่จะดัดแปรทำให้เกิดฝนตกได้ นับแต่นั้นเป็นต้นมา พระองค์ทรงศึกษาค้นคว้าวิจัยทางเอกสาร ทั้งด้านวิชาการอุตุนิยมวิทยาและการดัดแปรสภาพอากาศ จนมั่นพระทัย ก่อนที่จะพระราชทานโครงการฝนหลวงให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำไปทดลองจนประสบผลสำเร็จในปี 2512

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติกำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” เนื่องจากถือเป็นวันที่มีความสำคัญยิ่งสำหรับคนไทยทุกคน เพราะไม่เพียงแต่ทุกคนต้องน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะ “องค์พระบิดาแห่งฝนหลวง” เท่านั้น แต่ยังเป็นวันที่โลกต้องจารึกเอาไว้ถึงการกำเนิดของ “เทคโนโลยีฝนหลวง” นวัตกรรมอันยิ่งใหญ่ที่สามารถเอาชนะภัยธรรมชาติได้ ทำให้คนไทยและประชาชนอีกหลายประเทศรอดพ้นจากวิกฤตขาดแคลนน้ำมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล รองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้จัดงาน “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” ขึ้น เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งนับได้เป็นเวลา 61 ปีแล้วที่โครงการพระราชดำริฝนหลวงถือกำเนิดขึ้นเพื่อบรรเทาความทุกข์ยากของประชาชนจากภัยแล้ง สร้างคุณูปการทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงด้านน้ำให้แก่ประเทศไทย รวมทั้งได้รับการจดสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยทั้งในและต่างประเทศ กระทั่งมีหลายประเทศมาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำเทคนิคและวิธีการที่ทรงคิดค้นไปใช้แก้ปัญหาภัยแล้งในบ้านเมืองของตนเอง โครงการพระราชดำริฝนหลวงจึงเป็นนวัตกรรมที่เกิดจากพระอัจฉริยภาพและเปี่ยมไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

นายสุรสีห์กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมภายในงาน มีการจัดนิทรรศการเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ภายใต้แนวคิด “ธ สถิตในดวงใจตราบนิรันดร์” ประกอบด้วยนิทรรศการ “ธ สถิตในดวงใจตราบนิรันดร์” โดยใช้เทคโนโลยีภาพเพลงเล่าเรื่องตั้งแต่การเกิดพระราชดำริฝนหลวงจนถึงปัจจุบัน นิทรรศการ “9 นวัตกรรมแห่งพระอัจฉริยภาพ” และ “วัสสานปรกณัม ตำนานแห่งฝน” เป็นต้น และงานตลาดนัดข้าวอินทรีย์แท้ โดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกข้าวแปลงใหญ่ ตำบลคอรุม และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกข้าวจากเพชรบูรณ์ สุรินทร์ อุบลราชธานี พระนครศรีอยุธยา ฯลฯ มาร่วมกันจัดจำหน่ายในราคาชาวนาเริ่มต้นที่กิโลกรัมละ 20 บาท

“อีกทั้งจัดข้าวฝนหลวงนาทีทอง ราคากิโลกรัมละ 10 บาท รวมทั้งนำสินค้าการเกษตรทั้งผัก ผลไม้ อาหารสดและแปรรูป มาจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไปในราคาประหยัด รวมทั้งมีกิจกรรมเสริมสร้างอาชีพ อาทิ การสาธิตทำอาหารเมนูสุขภาพ การอบรมออกแบบหีบห่อผลิตภัณฑ์ให้น่าสนใจและเทคนิคการเพนต์เดคูพาจ ดำเนินการสอนโดยอาจารย์และผู้มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะด้วย”

 

 

ที่มา มติชน