เน็ตความเร็วสูงหมู่บ้านอืด! นับหนึ่งใหม่…หวั่นศก.ดิจิทัลติดหล่ม

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (บอร์ดดีอี) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเดินหน้าโครงการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชุมชนทั่วประเทศ หรือโครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านอย่างจริงจัง รวมถึงการที่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ลงมาดูแลโครงการนี้ด้วยตัวเอง ก็ถือเป็นการส่งสัญญาณว่ารัฐบาลเริ่มลุกขึ้นมาเอาจริงกับโครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน หลังโครงการนี้ต้องล่าช้ามาแรมปี

สำหรับโครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน มีความสำคัญตรงที่การเป็นยุทธศาสตร์หลักของนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่มุ่งหวังจะลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนในประเทศ และการให้ประชาชนได้ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยดำเนินชีวิต จนถึงสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มผู้อาศัยอยู่ที่ห่างไกลและกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) แต่ใช้กลไกด้านดิจิทัลต่างๆ อาทิ การเผยแพร่ข้อมูล หรือแอพพลิเคชั่น ช่วยสนับสนุนประชาชนตามต้องการได้ จะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเตอร์เน็ตที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศไทย ที่มีอยู่ราว 75,000 หมู่บ้านเสียก่อน จึงจะดำเนินการตามแผนงานได้ ซึ่งในจำนวนนี้พบว่ายังมีอีกราว 40,000 หมู่บ้าน ที่ยังไม่มีโครงข่ายอินเตอร์เน็ตเข้าถึง โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ชนบทและพื้นที่ชายขอบ

แรกเริ่มการวางโครงข่ายอินเตอร์เน็ตไปยังทุกหมู่บ้าน เกิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้ใช้เงินส่วนหนึ่งที่ได้จากการประมูล 4 จี บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 15,000 ล้านบาท มาใช้ลงทุน มีบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการวางโครงข่ายทั้งหมด ซึ่งงบประมาณจำนวนดังกล่าวยังถือเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณมากที่สุดตั้งแต่ตั้งกระทรวงไอซีทีเรื่อยมาจนถึงเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงดีอีด้วยเช่นกัน

จากการให้สัมภาษณ์ของ นายอุตตม สาวนายน ที่อยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีเวลานั้น โครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านมีแผนดำเนินงาน (โรดแมป) จะเริ่มวางโครงข่ายในเดือนมีนาคม ใช้เวลาดำเนินงาน 1 ปี แล้วเสร็จในปี 2560 จากนั้นจะใส่เครื่องมือต่างๆ ลงไป เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ตามวัตถุประสงค์ของนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล

อย่างไรก็ดี เกือบครบรอบ 1 ปี โครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านก็มีอันต้องเลื่อนกำหนดเวลาดำเนินการทุกครั้งที่นายอุตตมให้สัมภาษณ์ และยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด โดยเฉพาะเรื่องของหลักเกณฑ์การประมูล (ทีโออาร์) ที่พบว่าบางส่วนกำหนดสเปกที่สูงเกินไปบ้าง และบางส่วนกำหนดสเปกที่ล้าสมัยเกินไป จนยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่ลงตัวร่วมกับทีโอทีได้

เน็ตหมู่บ้านสร้างรอยร้าว

นอกจากนี้ในเรื่องของทีโออาร์โครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านยังกลายเป็นปมที่สร้างความร้าวฉานภายในกระทรวงไอซีทีในอดีตและกระทรวงดีอีในปัจจุบัน จากการที่นางทรงพร โกมลสุรเดช เมื่อครั้งอยู่ในตำแหน่งปลัดกระทรวงไอซีที มอบหมาย น.ส.มาลี วงศาโรจน์ อดีตรองปลัดกระทรวงไอซีที แต่ในการดำเนินงานก็พบว่าโครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านติดขัดปัญหาหลายด้าน จน น.ส.มาลีต้องขอลาออกจากการเป็นรองปลัดกระทรวงไอซีทีในขณะนั้น

เรื่อยมาจนถึงเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นางทรงพรได้มอบหมายให้ นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผู้ตรวจราชการกระทรวงดีอี แต่นางวรรณพรกลับไม่ยอมรับหน้าที่ดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าการทำหน้าที่ประธานทีโออาร์โครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านต้องเป็นหน้าที่ปลัดกระทรวง จึงเกิดการโต้เถียงกันไปมาในที่ประชุม ส่งผลให้นางทรงพรมีคำสั่งด่วนปลดนางวรรณพรจากตำแหน่งรักษาการเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ความขัดแย้งภายในกระทรวงที่ส่วนหนึ่งมาจากเรื่องการดำเนินโครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน ภายหลังยังกลายมาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่อาจส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 สั่งปลดนางทรงพรออกจากตำแหน่งปลัดกระทรวงดีอี และตั้ง น.ส.วิไลลักษณ์ ชุลีวัฒนกุล ขึ้นมาทำหน้าที่ปลัดกระทรวงดีอีแทน

แบ่งงานทีโอที-กสทช.

สำหรับความคืบหน้าล่าสุด โครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ดดีอีมีมติให้กระทรวงดีอีลงทุนวางโครงข่ายอินเตอร์เน็ตในโครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านจำนวน 24,700 หมู่บ้าน ภายใต้วงเงิน 15,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 19,652 แห่ง ให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้ลงทุน โดยในส่วนการดำเนินงานภายใต้กระทรวงดีอี 24,700 แห่ง

ที่ประชุมเห็นชอบให้กระทรวงโอนเงินให้ทีโอที โดยการดำเนินการของทีโอทีจะต้องเริ่มดำเนินการได้ภายในเดือนธันวาคม และคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณ 80-85% ภายในปี 2560 ที่เหลือจะเสร็จต้นปี 2561

ทีโอทีไม่ได้ประโยชน์

พล.อ.อ.ประจินระบุว่า หลังจากนี้จะเรียกทีโอทีมารับทราบนโยบายและมอบหมายให้ทีโอทีไปจัดทำทีโออาร์ โดยอาจเปิดประมูลบางส่วน หรือจัดซื้อจัดจ้างบางส่วน ซึ่งทางกระทรวงจะส่งผู้กำกับดูแลเข้าไปตรวจสอบทุกกระบวนการ และในแต่ละขั้นตอนทีโอทีต้องเสนอมาให้กระทรวงเห็นชอบด้วย ซึ่งทางกระทรวงจะดูทีโออาร์ของทีโอทีว่าสอดคล้องกับนโยบายหรือไม่ ราคาเหมาะสมหรือไม่และมีทีมกำกับดูแลไปดูแลทุกขั้นตอน

“การปรับกระบวนการทำงานใหม่ทำให้เรามั่นใจว่าโครงการจะสำเร็จได้มากกว่า 90% ส่วนการที่โอนเงินไปให้ทีโอทีทำนั้นในด้านความโปร่งใสทางกระทรวงจะเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนมาร่วมตรวจสอบ และเชื่อว่าทีโอทีจะเข้าใจว่าเป็นการทำเพื่อประโยชน์ประชาชน ดังนั้นการจะนำไปหาผลประโยชน์คงไม่มี เพราะทีโอทีไม่ได้ประโยชน์อะไรจากโครงการ”

ทีโอทียังหวั่นไม่ตรงทีโออาร์

ด้าน นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที กล่าวว่า ในเรื่องของทีโออาร์ ทางทีโอทีจะขอนัดหมายเข้าพบทางปลัดกระทรวงดีอี เพื่อขอความชัดเจนในการดำเนินโครงการ แม้ทางกระทรวงดีอีจะมีคำสั่งให้เริ่มดำเนินการได้ไม่ต้องรอทีโออาร์แล้วก็ตาม แต่เนื่องจากการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ตัวอุปกรณ์จะตีตราและถือเป็นทรัพย์สินของกระทรวงดีอีในทางกฎหมาย ฉะนั้นในการสั่งซื้ออุปกรณ์หากภายหลังอุปกรณ์ที่สั่งซื้อไม่ตรงกับทีโออาร์ ก็อาจทำให้ทีโอทีมีปัญหาในอนาคตได้ แต่หากในการเจรจาพบว่าสเปกยังคงเดิมจากที่เคยเจรจากันไปก่อนหน้านี้รวมทั้ง 2 หน่วยงานมีความเข้าใจที่ตรงกันแน่นอนแล้ว ก็สามารถดำเนินโครงการได้ทันที แต่หากปรับเปลี่ยนก็หวังว่าจะเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก

สำหรับโครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านที่ พล.อ.อ.ประจินจะให้เริ่มในเดือนธันวาคม เบื้องต้นทางทีโอทีเห็นว่าจะยังเริ่มดำเนินโครงการไม่ทันในวันดังกล่าว เนื่องจากกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการสั่งทำอุปกรณ์ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 เดือน ในการดำเนินการ หลังจากนั้นจึงจะสามารถเริ่มวางโครงข่ายอย่างจริงจัง คาดว่าใช้เวลาอีก 10 เดือน จึงจะแล้วเสร็จ หรือเฉลี่ยเดือนละ 2,000 หมู่บ้าน ซึ่งทีโอทีเชื่อว่าน่าจะทันตามกำหนดของกระทรวงดีอีที่ให้ติดตั้งครบทุกจุดใน 1 ปี หลังเริ่มดำเนินการ

กสทช.แถมศูนย์คอมพ์พร้อมโครงข่าย

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ในส่วนที่ กสทช.ต้องรับผิดชอบติดตั้งโครงข่ายอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านจำนวนทั้งสิ้น 19,652 หมู่บ้าน จะเป็นการใช้งบจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุนยูเอสโอ) โดยโรดแมปจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.พื้นที่ชายขอบจำนวน 3,920 หมู่บ้าน ในเดือนมกราคม 2560 จะสำรวจพื้นที่พร้อมกำหนดเทคโนโลยีในการวางโครงข่ายเสร็จสิ้น จากนั้นมีนาคม 2560 เปิดประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้าง มิถุนายน 2560 ลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง และเปิดใช้งานครบทั้ง 3,920 หมู่บ้าน ธันวาคม 2560 2.พื้นที่ชนบท จำนวน 15,732 หมู่บ้าน มกราคม-เมษายน 2560 สำรวจพื้นที่พร้อมกำหนดเทคโนโลยีที่ใช้งาน ขณะที่พฤษภาคม-กันยายน 2560 เปิดประกวดราคาจนถึงแล้วเสร็จกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และเปิดใช้ครบทุก 15,732 หมู่บ้าน พฤษภาคม 2561

เลขาธิการ กสทช.กล่าวด้วยว่า คุณสมบัติพื้นฐานที่ กสทช.กำหนด อินเตอร์เน็ตจะต้องมีความเร็วใช้งานไม่น้อยกว่า 30/10 เมกะบิต รวมทั้งในส่วนผู้ที่ชนะการประกวดราคาจะต้องรับผิดชอบในการจัดหาคอมพิวเตอร์พร้อม

รับผิดชอบค่าบำรุงรักษาเป็นเวลา 3 ปี เนื่องจาก กสทช.มีแผนจะจัดตั้งศูนย์ยูโซ่เน็ตทุกชุมชนที่ กสทช.วางโครงข่ายไปถึง เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้งาน เข้าถึง และเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนอินเตอร์เน็ตที่ใช้ในบ้านเรือนประชาชน จะเปิดให้บริษัทเอกชนที่สนใจเช่าโครงข่ายเพื่อให้บริการ แต่ กสทช.จะเป็นผู้กำหนดราคาค่าใช้บริการ เพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค โดยในส่วนเงินรายได้ที่เกิดขึ้นจากการให้เช่าใช้โครงข่ายทั้งหมดจะนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน เพราะถือว่าโครงข่ายอินเตอร์เน็ตในโครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านเป็นทรัพย์สินของรัฐ เบื้องต้น กสทช.คาดว่าจะใช้เงินดำเนินโครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านในส่วนของ กสทช.ไม่เกิน 20,000 ล้านบาท

จากนี้คงต้องมาลุ้นกันว่าจะเดินหน้าโครงการอย่างจริงๆ จังๆ ตามแผนได้หรือไม่ ซ้ำรอยเดิมเมื่อไหร่ เศรษฐกิจดิจิทัลที่คาดหวังไว้อาจติดแหง็กอยู่กับที่ก็เป็นได้!!

 

 

ที่มา มติชน