พยาบาลหัวใจนักพัฒนา! “ระตะนะ ศรีวรกุล” ประธานเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ปราจีนฯ

พยาบาลหัวใจนักพัฒนา! “ระตะนะ ศรีวรกุล” ประธานเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ปราจีนฯ

แม้หันหลังให้กับชีวิตราชการกับตำแหน่งสุดท้าย พยาบาลวิชาชีพ ประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนนทรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี มานานพอสมควรแล้ว แต่ “หมอนะ” ยังไม่หยุดทำงานด้านสุขภาพเพื่อชุมชนแม้แต่วันเดียว ประสบการณ์ที่เก็บเกี่ยวจากการทำงานในโรงพยาบาลเกือบ 30 ปี ถูกนำมาปรับใช้กับชีวิตจริง ที่ต้องสัมผัสกับธรรมชาติและผู้คน ทำให้รู้ว่า ชีวิตรอดในวิถีปัจจุบัน จะต้องทำได้และไปต่ออย่างไร ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน ทั้งด้านสุขภาพ รายได้ อันเป็นความหมายของชีวิต

คุณระตะนะ ศรีวรกุล หรือที่ชาวบ้านเรียกกันจนติดปากว่า “หมอนะ”  เกิดและเติบโต ที่ ต.นนทรี           อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี บอกเล่าเรื่องราว ก่อนจะเข้าสู่วิถีเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มรูปแบบมา 17 ปี ว่า จริงๆ แล้วตัวเองอยู่ในวิถีอินทรีย์มาตั้งแต่เด็ก หมายถึงวิถีชีวิตปกติของคนสมัยก่อน รุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายของเรา ทำนาสืบต่อกันมา แบกปุ๋ยขี้วัว ขี้ควาย ขี้เป็ด ขี้ไก่ ไปใส่นา ได้ผลผลิตมาก็แบ่งกินแบ่งขาย

ต่อมาทางราชการก็มาตั้งสหกรณ์เกษตร เขาเอาปุ๋ย เอายาฆ่าปู มาใส่นา ทั้งปู ทั้งปลา ตายกันเกลื่อน ต่อมาเลยกลายเป็นวิถีของชาวนา ใช้สารเคมีกันเยอะมากขึ้น ทำให้ปลูกข้าวยังไงก็ไม่ได้ข้าว ขาดทุน ต่อมาทุกคนเลยทิ้งนารกร้างว่างเปล่าเป็นสิบๆ ปี บ้างก็เป็นที่ของ “เจ๊ก” (คนจีนที่ชาวบ้านเรียก) ไม่ได้มีเจตนาพักดินเพื่อเปลี่ยนแปลงการเพาะปลูก แต่เพราะทำนาแล้วไม่ได้ข้าว สมัยก่อนบ้านไหนส่งลูกเรียน หรือไปลงทุนทำอะไร ไปกู้เงินจากเจ๊ก เจ๊กใจดีให้เงินมา พอทำนา นวดข้าวเสร็จ เจ๊ก มารอเอาข้าวไป เหลือแค่กินปีละ 20-30 ถังมันไม่พอ ข้าวไม่ได้ขึ้นยุ้งเลย ส่งแต่ดอกให้เจ๊ก ต้นยังอยู่เหมือนเดิม เจ๊กรวยๆ ส่วนใหญ่เป็นพวกเจ้าของโรงสี เป็นแบบนี้ ชั่วนาตาปี พอเป็นหนี้เยอะๆ สุดท้ายเขายึดที่เราเพราะไม่มีเงินไปจ่ายเขา ที่ชาวบ้านหลุดไปเยอะ

“แต่พ่อแม่เราขยัน ฉลาด ทันคน พ่อเป็นนักพัฒนาในหมู่บ้าน ทำเกษตรมีลูก 8 คน ส่งลูกเรียนทุกคน 6 คนเรียนในโรงเรียนปกติ อีกสองคนเรียนเย็บผ้า งานวิชาชีพไป แต่เราไม่ได้มีเงินนะ บางวันทั้งครอบครัวมีเงินอยู่ 2 บาท เราอยู่กันได้ สมัยที่พ่อแม่ทำนา ก็ช่วยดำนา เกี่ยวข้าว นวดข้าว  มีข้าวกิน เรามีผัก มีปลา พอตั้งหม้อข้าวไว้ ทุกคนตำเครื่องรอ พ่อแบกแหไปทอด ได้ปลามาเอามาต้ม เอามาทำอาหาร แม้ไม่มีเงิน แต่ไม่อดอยาก และด้วยความที่ คนรอบๆ บ้านเราเป็น พี่ๆ น้องๆ ไม่มีข้าวก็ไปยืมข้าวเขามา พอมีก็เอาไปใช้ วิถีเป็นแบบนี้ ทำให้เราซึมซับเรื่องราวต่างๆ ของการให้ การแบ่งปัน เวลามีงานศพที่วัดจะไปช่วยงาน มีอะไรก็ไปช่วย มีดอกไม้ มะละกอ มีผัก ไปให้ ทำกับข้าวเลี้ยงคน” หมอนะ ย้อนความหลังให้ฟัง

สำหรับ หมอนะ นั้น จบการศึกษาเริ่มต้นเพียงประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนในชุมชน พ่อแม่ไม่ให้เรียนต่อ ด้วยเพราะความเชื่อของคนหัวเก่าจะไม่ให้ลูกสาวเรียน เพราะเรียนไปก็มีผัว มีตัวอย่างให้เห็นจากลูกข้าราชการที่มักจะได้เรียนก็ไปมีผัวอย่างที่พ่อแม่กลัวจริงๆ จึงต้องอยู่บ้านถึง 3 ปี ในระหว่างนั้น ช่วยพ่อแม่ทำงาน เก็บผัก ตักน้ำ เลี้ยงน้อง ทำไร่ ทำนา และหัดเขียนอ่าน ตัวเองเป็นคนถนัดซ้าย ก็พยายามเขียนมือขวา ด้วยหวังว่าสักวันเมื่อได้เรียนจะได้ไม่ต้องปรับตัว (สมัยก่อนใครเขียนมือซ้ายจะโดนตีมือ)

และแล้ววันหนึ่ง ขณะกำลังแกะนุ่น เพื่อนำไปยัดหมอน  ได้โอกาสขอพ่อซี่งกำลังปั่นนุ่นว่า อยากเรียนหนังสือ ครูที่โรงเรียนก็เทียวมาบอกกับพ่อว่าเราเรียนเก่ง ขยัน น่าจะส่งให้เรียน พ่อยอมให้เรียน จึงเข้าเรียนศึกษาผู้ใหญ่ ระดับ 3 ( ป.5 – ป.7) เรียนวิชาหลัก 6 วิชา จากนั้นก็ไปต่อ ม.ศ.1 ที่โรงเรียนวัดพระยาธรรม ซึ่งเป็น โรงเรียนราษฎร์ (เอกชน) ที่ อ.กบินทร์บุรี เพราะเราจบศึกษาผู้ใหญ่มาเลย กลัวสอบเข้าโรงเรียนรัฐไม่ได้  พอปรับตัวได้จนจบ ม.ศ.2 ลาออกแล้วมาต่อ ม.ศ.3 ที่กบินทร์วิทยา ซึ่งเป็น โรงเรียนประจำอำเภอ พอ ม.ศ.4 ไปเรียนที่ โรงเรียนหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตามพี่สาวที่ย้ายไปอยู่กับสามีที่เป็นทหารที่ค่ายธนรัตน์  และย้ายกลับมาเรียน ม.ศ.5 ที่โรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง จ.ปราจีนบุรี และสอบเข้าเรียนพยาบาลที่ วิทยาลัยพยาบาลสุราษฎร์ธานี

“จริงๆไม่ชอบพยาบาล  ชอบเกษตรแต่สอบไม่ติด พอสอบได้พยาบาล จะไม่เรียน และขอพ่อไปเรียนม.รามฯ  แต่พ่อไม่ยอม บอกว่าจะไม่ส่งถ้าไม่เรียนพยาบาล เลยต้องจำใจเรียน พอเรียนไปก็ชอบ ได้เห็นชีวิต และได้ดูแลคน ดูแล ชาวบ้าน คนยากคนจน พอเทอมสุดท้ายไม่อยากเรียน อยากรีบออกมาช่วยคน พอจบออกมาก็สมัครเป็นพยาบาลที่ โรงพยาบาลตาพระยา (2525-2528) และย้ายมาที่ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว ที่เราย้ายเป็นขยัก  เพราะมีเป้าหมายว่า จริงๆ แล้วชีวิตคนเรา สุดท้ายต้องกลับบ้าน มาตายบ้าน การย้ายการทำงาน ไม่ใช่ย้ายทีเดียวกลับบ้านเลย พออยู่ที่ตาพระยาได้ 10 ปี จึงย้ายมาที่โรงพยาบาลกบินทร์บุรีเป็นสิบปี ก่อนจะย้ายมาประจำที่ รพ.สต.ในปี 2546 จนถึงปี 2561 เรามาถึงก็ทำนา จำได้ว่า เราไถนาวันแรก 10 มิถุนายน 2546 เป็นคนแรกที่กลับมาทำนา ได้ข้าวเยอะมาก อาจจะเพราะว่า พักที่ไปนาน ดินเลยฟื้นตัว จากนั้นคนทยอยทำนาตามเรากัน ได้ข้าวดี เป็นข้าวอินทรีย์ที่ได้ราคา” หมอนะ เล่าอย่างนั้น

หมอนะ บอกด้วยว่า การเป็นพยาบาลควบคู่ไปกับการเป็นนักพัฒนา บางคนเลยเรียกเธอว่าเป็นเอ็นจีโอ ซึ่งก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะรู้ดีว่าทำเพื่อบ้านเมืองเรา ตั้งแต่เป็นประธานสภาชุมชน ประธานสหกรณ์เกษตรอินทรีย์ จ.ปราจีนุบรี ทำงานสมัชชาจังหวัดปราจีนบุรี  เป็นกรรมการศูนย์พัฒนาการเมือง ทำเรื่องลุ่มน้ำ ทำนโยบายสาธารณะ และที่ทำมาโดยตลอด คือ เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ถ้าตั้งใจทำอะไร มันดีตั้งแต่วันแรกที่ทำ อย่างการฟื้นฟูดิน วันแรกก็ดีแล้ว วันที่ไม่ใช้สารเคมีดินจะดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ต้องเริ่ม แต่ถ้าเอาแต่คอยว่าเมื่อไหร่จะดี มันจะไม่ดี  ถ้าทำวิถีธรรมชาติ ทำกิน ขายในหมู่บ้านคนเชื่อและศรัทธา เขาก็ซื้อ แต่เมื่อไหร่ที่ต้องนำพาพี่น้องเอาสินค้าออกนอกหมู่บ้านนอกชุมชน ต้องมีมาตรฐาน เพราะคนเหล่านั้น ไม่ใช่คนในชุมชน ไม่ใช่พี่น้องเรา ไม่ใช่คนรู้จักที่จะเชื่อใจเรา โลกนี้เชื่อถือคนโดยมีมาตรฐานรองรับ

ดังนั้น เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ บ้านนนทรี จึงก่อตั้งขึ้น เพราะเพื่อนเครือข่าย สนามไชยเขต จ.ฉะเชิงเทรา เป็นผู้ริเริ่มยุทธศาสตร์ด้านอาหาร ที่ต้องรับผิดขอบขับเคลื่อนความมั่นคงทางอาหารภาคตะวันออก แรกทีเดียวเรารวมตัวกันตั้งเป็นเกลุ่มเกษตรอินทรีย์ เริ่มจาก 10 กว่าคน ตอนนี้มี 30 คน ส่วนใหญ่สูงอายุ ที่เกษียณราชการ ออกจากงาน ไม่มีอะไรทำ พอมาปลูกผักเกษตรอินทรีย์ ก็มีเพื่อน มีเศรษฐกิจครัวเรือน มีรายได้ มีอาหารกินที่ปลอดภัย ทุกคนมีความสุข มีชีวิตชีวา เหมือนได้เริ่มต้นใหม่ จากเดิม เหมือนรอวันตาย พอได้ดูแลกัน ช่วยเหลือกัน แบ่งปัน มีเมล็ดพันธุ์ ต้นพันธุ์ เอาไปปลูกแล้วเก็บมาขาย หลายปีเข้าก็จะกลายเป็นผักพื้นบ้าน อายุยืนเพราะเก็บแล้วก็ปลูกใหม่ ปลูกครั้งเดียว เก็บขายได้ตลอด ทั้งปี ทุกปี มันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จุดแข็งที่นี่คือ ผักพื้นบ้าน เหมาะกับผู้สูงวัยที่ไม่มีแรงไปปลูกใหม่ เหมือนคนหนุ่มสาว แล้วยังไปหาผักในป่ามาขายได้ด้วย ราคาก็อยู่ได้ ในระดับพอใจ ผักทุกอย่าง มีขายในตลาดเขียว พอช่วงโควิด ตลาดเขียวปิด ก็มาขายในตลาดออนไลน์ มีลูกค้าหลักคือ โรงครัวอภัยภูเบศร มีการทำเอ็มโอยูกันอย่างเป็นทางการ และเลมอนฟาร์ม พอโควิดคลี่คลาย ก็เลยมีตลาดออนไลน์เพิ่มมาโดยอัตโนมัติอีกหนึ่งช่องทาง

“การทำเกษตรอินทรีย์ ถ้าไม่มีตลาดมีปัญหามาก แต่ถ้ามีตลาด จะรู้ว่าจะปลูกอะไรเท่าไหร่  ใช้ตลาดนำ ไม่ใช่อยากปลูกอะไรก็ปลูก ผลผลิตที่เหลือจะมีปัญหา” หมอนะ บอก

และว่า  สำหรับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ หมอนะ บอกว่าไม่ได้เข้มงวดมาก เข้าปีแรกจะปรับเปลี่ยน ปีที่ 2 ผ่านมาตรฐานแบบกลุ่ม คือ ดูแลกันเอง และมีการมาตรวจแปลงว่าเราใช้สารเคมีอะไรหรือเปล่า มีการปนเปื้อนไหม ส่วนเรื่องแนวกันชน ทิศทางน้ำเอาสารเคมีมาไหม ถ้าแปลงเหนือเราเป็นเกษตรอินทรีย์ไมมีปัญหาอะไร แต่ถ้ามี ต้องตรวจต้องปรับปรุงกัน ความร่วมมือในชุมชนสำคัญมาก เพราะการจะเติบโต เครือข่ายมีส่วนสำคัญ ความร่วมมือร่วมใจจึงเป็นปัจจัยหลัก อย่างที่บอกว่า อยู่ที่เป้าหมาย ถ้าเราเน้นอาหารปลอดภัย เริ่มจากที่บ้านเรา ปลูกขายในชุมชน แต่ถ้าจะขายคนนอกก็ต้องมีมาตรฐานรองรับ

“เกษตรอินทรีย์นนทรี ดำเนินมาเกือบ 20 ปี แล้ว คนแก่เขียนหนังสือไม่ได้ ก็หัดเขียนจนทำได้ เพราะต้องเป็นคนลงทะเบียนขายเองว่า มีผักมากี่กิโล ผักชนิดไหน เพื่อสอบทานกลับ เรามีลูกหลานมาช่วยด้วย วันๆ หนึ่งจะได้ผักหลากหลายชนิด ผู้ประสานจากกระทรวงทรัพย์ฯ ของจังหวัด มาช่วยเชื่อมโยง ประชุมออนไลน์ ในช่วงโควิด และรถของเลมอนฟาร์มจะมารับผักสัปดาห์ละ 3 วัน และส่งโรงครัวอภัยภูเบศรสัปดาห์ละ 2 วัน และขายในตลาดเขียว และตลาดออนไลน์ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นวิถีที่มั่นคงอยู่ได้ และมีความยั่งยืนในระบบความมั่นคงทางอาหารของประเทศ ซึ่งเราเชื่อว่า ถ้าไม่ติดสถานการณ์โควิด เราจะส่งผักไปขายได้ทั่วประเทศ จังหวัด ปราจีนบุรี มีความพร้อมเป็นครัวของโลกสูง และมีศักยภาพที่จะเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในอันดับต้นๆ ของประเทศอีกด้วย” หมอนะ กล่าวอย่างมั่นใจ