คนสตูล ปรับตัวสู้โควิด ต้องอยู่รอดได้ ด้วยแนวคิด “ผู้ประกอบการสีเขียว”

คนสตูล ปรับตัวสู้โควิด ต้องอยู่รอดได้ ด้วยแนวคิด “ผู้ประกอบการสีเขียว”

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คงปฏิเสธไม่ได้ว่าประชากรทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า หลายสิ่งหยุดชะงัก ประชาชนขาดรายได้ ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องอาชีพและการดำเนินชีวิต หนึ่งในคำถามที่น่าสนใจ แล้วเราจะมีวิธีการปรับตัวให้อยู่รอดในช่วงวิกฤตนี้ได้อย่างไร?

คำตอบของคำถามนี้ได้ถูกสะท้อนผ่าน โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเกษตรอินทรีย์เพื่อยกระดับสู่ ผู้ประกอบการสีเขียว สํานักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขาจังหวัดสตูล ที่ได้มีการปรับตัวร่วมกันของกลุ่มเป้าหมายทั้ง 150 คน และคณะทำงานในการร่วมกันนำผลผลิตที่ผลิตได้ เช่น ขิง ตะไคร้ เห็ดฟาง มาใช้ให้เกิดประโยชน์ พร้อมทั้งสร้างรายได้ให้กับกลุ่มเป้าหมายด้วยเช่นกัน ซึ่งโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนโดยทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

คุณนิธิมา บินตำมะหงง เล่าว่า เป้าหมายของโครงการนี้ คือ การสร้าง “ผู้ประกอบการสีเขียว” ที่มีความซื่อสัตย์ และรับผิดชอบต่อทั้งตนเองและส่วนรวม ในการผลิตสินค้าอย่างสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค รวมทั้งการไม่เอารัดเอาเปรียบในด้านการค้า และแม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่กระบวนการผลิตของกลุ่มเป้าหมายยังคงดำเนินต่อไปได้ ทุกคนยังคงยึดในการทำเกษตรอินทรีย์ และใส่ใจในกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลผลิตเหล่านี้จะถูกรับซื้อจากพ่อค้าแม่ค้าในชุมชนอย่างต่อเนื่อง

ด้วยเหตุนี้ เมื่อผลผลิตของกลุ่มเป้าหมายยังคงดำเนินการอย่างปลอดภัย กลุ่มเป้าหมายและคณะทำงานมีปรับตัวร่วมกัน ติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานผ่านระบบออนไลน์ หารือและประชุมอยู่บ่อยครั้ง นำมาซึ่งแนวคิดการทำเมนูอาหารอย่าง ข้าวยำ และแหนมเห็ดฟาง ออกจำหน่ายในราคา 30-35 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาจริงที่ขายกันที่ 50 บาท รวมทั้งยังนำไปแบ่งปันให้กับผู้ที่ขาดรายได้จากสถานการณ์โควิด โดยเมนูข้าวยำนั้น จะมีทั้งข้าวยำปลาแห้ง ข้าวยำแหนมเห็ดฟาง เป็นต้น ซึ่งวัตถุดิบในการทำเมนูอาหารเหล่านี้ จะรับซื้อมาจากกลุ่มเป้าหมายในโครงการ โดยรายได้ทั้งหมดจะถูกแบ่งให้กับกลุ่มเป้าหมายที่เข้ามาช่วยกันทำอาหาร

คุณราศักดิ์  เสรีรักษ์ หนึ่งในกลุ่มเป้าหมายและคณะทำงาน ซึ่งได้นำความรู้เรื่องการเป็นผู้ประกอบการสีเขียวไปต่อยอดในไร่ของตนเอง เขาเลือกที่จะยอมเหนื่อยเพิ่มขึ้นในการถางหญ้า เนื่องจากใช้ปุ๋ยชีวภาพ น้ำหมัก ยกเลิกการใช้สารเคมี เพื่อแลกกับการมีผลผลิตที่สะอาด นั่นคือ ผลผลิตที่ปลอดสารเคมี  สามารถนำผลผลิตไปขายให้กับโครงการทั้ง ขิง ข่า ตะไคร้ ช่วยให้เขามีรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤตครั้งนี้ประมาณ 1,000-2,000 บาท ซึ่งต่างจากเดิมที่ต้องรอถึง 6 เดือนจึงจะนำมาขายได้ และนั่นไม่ใช่เพียงแค่เขาคนเดียวเท่านั้น กลุ่มเป้าหมายคนอื่นก็นำผลผลิตไปขายให้กับโครงการด้วยเช่นกัน เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร นอกจากนี้ เขายังได้นำปลาแห้ง จากกลุ่มเป้าหมายคนอื่นๆ ไปขายในชุมชนเพื่อช่วยสร้างรายได้ให้อีกด้วย

โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ เพื่อยกระดับสู่ผู้ประกอบการสีเขียว ได้ดำเนินโครงการระยะแรกผ่านไปแล้ว โดยอยู่ในช่วงการนำเอาเทคโนโลยีคิวอาร์โค้ดมาปรับใช้กับกลุ่มเป้าหมาย โดยในอนาคตผู้บริโภคที่สนใจผลผลิตต่างๆ จากโครงการจะสามารถเข้าถึงตัวเกษตรกร หรือผู้ผลิตสินค้านั้นๆ เพื่อติดต่อซื้อสินค้าจากผู้ผลิตได้โดยตรงผ่านคิวอาร์โค้ด เพื่อลดช่องว่างของพ่อค้าคนกลางที่มักจะเข้ามากดราคาสินค้า

นอกจากนี้ทางโครงการ ยังวางแผนที่จะทำให้ผลผลิตของกลุ่มเป้าหมายได้รับมาตรฐานรับรองสินค้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค และเพื่อเพิ่มคุณค่าของผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับการเป็นผู้ประกอบการสีเขียว โดยจะมี 2 หลักสูตรคือ เกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม คือ การให้ผู้ผลิต ผู้บริโภค ส่วนราชการ การศึกษา เข้ามาพัฒนาร่วมหลักสูตรนี้เพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการยอมรับสินค้า ซึ่งเบื้องต้น กลุ่มเป้าหมายจะต้องไม่ใช้สารเคมีในการทำเกษตร และ หลักสูตรฮาลาลตอยยีบัน ซึ่งต้องมีกระบวนการผลิตตามข้อบัญญัติของศาสนาอิสลาม ปราศจากสิ่งต้องห้าม และมีคุณค่าทางอาหาร โดย 2 หลักสูตรนี้จะเชื่อมโยงเข้ากับวิถีชีวิตของกลุ่มเป้าหมายในแง่การทำเกษตรอย่างยั่งยืน มีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้บริโภค รวมทั้งยังมีกระบวนการผลิตที่สอดคล้องกับจิตวิญญาณและยึดโยงกับหลักศาสนา โดยจะเริ่มอบรมกันในโครงการระยะต่อไป