‘นิด้าโพล’ เผยผู้ปกครองอยากให้เปิดเทอมแล้ว ระบุ 50% ไม่เห็นด้วย เรียนออนไลน์

‘นิด้าโพล’ เผยผู้ปกครองอยากให้เปิดเทอม ระบุเรียนออนไลน์ เกือบ 50% ไม่เห็นด้วย

 “นิด้าโพล” ศูนย์สำรวจความคิดเห็น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “เรียนออนไลน์” โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 18-21 พฤษภาคม 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,256 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการเรียนการสอนออนไลน์สำหรับการศึกษาระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่าง ด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0

จากการสำรวจ เมื่อถามถึงการมีบุตร หรือเป็นผู้ปกครองนักเรียนที่กำลังเรียนหนังสือในระดับอนุบาล ประถมศึกษา หรือมัธยมศึกษา ในประเทศไทย พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.87 ระบุว่า มีบุตรหรือเป็นผู้ปกครองนักเรียนที่กำลังเรียนหนังสือ ขณะที่ร้อยละ 47.13 ระบุว่า ไม่มีบุตร หรือเป็นผู้ปกครองนักเรียนที่กำลังเรียนหนังสือ

ขณะที่ ร้อยละ 53.61 ผู้มีบุตรหรือเป็นผู้ปกครองนักเรียนที่กำลังเรียนหนังสือในระดับอนุบาล ประถมศึกษา หรือมัธยมศึกษา ในประเทศไทย มีบุตรหรือเป็นผู้ปกครองนักเรียนที่กำลังเรียนหนังสือในระดับประถมศึกษา รองลงมา ร้อยละ 29.37 ระบุว่า ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 27.26 ระบุว่า ระดับอนุบาล และร้อยละ 14.91 ระบุว่า ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

เมื่อถามผู้ที่มีบุตรหรือเป็นผู้ปกครองนักเรียนที่กำลังเรียนหนังสือในระดับอนุบาล ประถมศึกษา หรือมัธยมศึกษา ในประเทศไทย ถึงบุตรหลานศึกษาในสถานศึกษาของเอกชนหรือของรัฐบาล พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 81.48 ระบุว่า เป็นสถานศึกษาของรัฐบาล ขณะที่ร้อยละ 23.19 ระบุว่า เป็นสถานศึกษาของเอกชน

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อคำสั่งให้เปิดเทอมสำหรับการศึกษาระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 พบว่า ร้อยละ 51.51 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 คงหมดแล้ว และโรงเรียนควรมีมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด เด็กๆ ควรจะสวมหน้ากากอนามัยไปเรียนทุกครั้ง

ขณะที่ร้อยละ 28.27 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ ช่วงระยะเวลาที่จะเปิดเรียน น่าจะปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แล้ว และอยากให้เปิดทีละชั้นเรียนหรือผลัดกันเปิดของแต่ละชั้นเรียนเพื่อความปลอดภัยสำหรับเด็ก

ร้อยละ 9.87 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ อยากให้เปิดเร็วขึ้นกว่านี้ เนื่องจากการปิดเทอมนานทำให้พัฒนาการเด็กช้าลง และจะทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน ร้อยละ 8.28 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะ อยากให้เปิดเรียนเป็นวันที่ 16 มิถุนายน 2563 เนื่องจากวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 นานเกินไป และบางพื้นที่ก็ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แล้ว และร้อยละ 2.07 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการเรียนการสอนออนไลน์สำหรับการศึกษาระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 46.90 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยในทุกระดับ เพราะ เด็กมีความพร้อมด้านอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ไม่เท่ากัน โดยเฉพาะเด็กต่างจังหวัด และบางครอบครัวผู้ปกครองไม่มีเวลาคอยดูแลหรือให้คำแนะนำระหว่างเรียนออนไลน์

รองลงมา ร้อยละ 29.86 ระบุว่า เห็นด้วยในบางระดับ ร้อยละ 22.05 ระบุว่า เห็นด้วยในทุกระดับ เพราะ เด็กจะได้พัฒนาความรู้ระหว่างรอเปิดเทอม ได้ทบทวนเนื้อหาวิชาที่เรียน และทำให้ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดโควิด-19 และร้อยละ 1.19 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ

ซึ่งผู้ที่ระบุว่า เห็นด้วยในการสอนออนไลน์บางระดับ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.47 ระบุว่า ควรสอนออนไลน์ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เพราะมีวุฒิภาวะที่สามารถควบคุมตัวเองให้อยู่ในการเรียนได้ และมีความรับผิดชอบและความสามารถในการใช้อุปกรณ์สื่อสาร สื่อออนไลน์ได้ดี รองลงมา ร้อยละ 60.80 ระบุว่า ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เพราะเด็กมีความรับผิดชอบ มีสมาธิในการเรียนด้วยตัวเองได้ดี และสามารถเรียนรู้เทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว ร้อยละ 21.33 ระบุว่าเป็น ระดับประถมศึกษา เพราะ ควรจัดให้มีการเรียนการสอนออนไลน์ตั้งแต่ประถมศึกษาเป็นต้นไป เนื่องจากเด็กจะมีความเข้าใจมากกว่าระดับอนุบาล และร้อยละ 10.40 ระบุว่าเป็น ระดับอนุบาล เพราะ ช่วงเวลานี้เด็กอยู่ในความดูแลของผู้ปกครองสามารถเรียนออนไลน์ได้

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.84 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.80 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑล และภาคกลาง ร้อยละ 18.23 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.68 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.45 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 48.57 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.43 เป็นเพศหญิง

ตัวอย่างร้อยละ 8.36 มีอายุ 18-25 ปี ร้อยละ 17.12 มีอายุ 26-35 ปี ร้อยละ 22.93 มีอายุ 36-45 ปี ร้อยละ 32.16 มีอายุ 46-59 ปี และร้อยละ 19.43 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 94.03 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.26 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.12 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่นๆ และร้อยละ 1.59 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 20.86 สถานภาพโสด ร้อยละ 74.44 สมรสแล้ว ร้อยละ 2.63 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 2.07 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส

ตัวอย่างร้อยละ 29.94 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 32.80 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.01 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 23.25 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 4.93 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 2.07 ไม่ระบุการศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 9.55 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 14.73 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 19.98 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 13.14 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 19.51 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 17.36 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 3.74 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 1.99 ไม่ระบุอาชีพ

ตัวอย่างร้อยละ 18.55 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 25.96 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 24.52 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 8.68 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 5.18 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 5.49 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 11.62 ไม่ระบุรายได้