กสอ.เร่งมาตรการฟื้นฟู หนุน 4 กลุ่มเป้าหมาย ครอบคลุม SMEs

กสอ.เร่งมาตรการฟื้นฟู หนุน 4 กลุ่มเป้าหมาย ครอบคลุม SMEs เกษตรอุตสาหกรรม-ชุมชน เตรียมปั้นสู่ผู้ประกอบการใหม่ สร้างอาชีพให้คนตกงานกว่า 2,500 คน

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามที่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แสดงความห่วงใยถึงพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงได้มอบหมายทุกหน่วยงานของกระทรวงอุตสาหกรรม หาแนวทางการฟื้นฟูผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและประชาชนให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน

ดังนั้น กสอ. จึงเร่งขับเคลื่อนมาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อช่วยเหลือ 4 กลุ่มเป้าหมาย ภายใต้แนวคิดของการส่งเสริมแบบ “ปรับตัวให้ถูกทางอย่างยั่งยืน” ด้วยการผันงบประมาณจากงบปกติกว่า 150 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูผู้ประกอบการ อย่างเร่งด่วนให้ดีพร้อม ภายในระเวลา 90 วัน ได้แก่

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
  • ผู้ประกอบการและบุคลากรภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งในด้านการสร้างรายได้ประชาชาติ (GDP) การสร้างการจ้างงาน รวมถึงเป็นกลไกสำคัญของกระบวนการผลิต โดยมุ่งพัฒนาเอสเอ็มอี (SMEs) ให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถ และยกระดับความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งงพัฒนาองค์ความรู้ที่จำเป็นในยุคความปกติแบบใหม่ (New Normal) ผ่านกิจกรรมและโครงการ อาทิ การให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกแก่เอสเอ็มอี (SMEs) สู้วิกฤติโควิด จากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อบริหารจัดการธุรกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุด การจัดทำแผนช่วยขับเคลื่อนองค์กรอย่างมีศักยภาพ ทั้งในภาวะวิกฤตและภาวะปกติ ซึ่งคาดว่าจะสามารถฟื้นฟูผู้ประกอบการกว่า 4,000 กิจการ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 448 ล้านบาท 
  • ชุมชนและวิสาหกิจชุมชน โดยการพัฒนาชุมชน/วิสาหกิจชุมชนในท้องถิ่น ด้วยการเชื่อมโยงเทคโนโลยีกับการท่องเที่ยว ส่งเสริมการใช้เครื่องจักรและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพการประกอบการให้แก่ชุมชนท้องถิ่นให้ได้มาตรฐานและมีขีดความสามารถในการแข่งขันผ่านการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวภายใน 1 วัน
    (
    1 Day Trip ) กระตุ้นการท่องเที่ยวในชุมชน การพัฒนาแพลตฟอร์มโลจิสติกส์และการบริหารคลังสินค้า พัฒนาทักษะให้กับวิสาหกิจชุมชนและหาช่องทาง
    ในการประกอบกิจการ ผ่านกิจกรรมจัดทำแผนพัฒนาธุรกิจชุมชน ร่วมกับทีมนักศึกษา เพื่อยกระดับชุมชนให้มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพเพิ่มขึ้นและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน โดยการนำองค์ความรู้ นวัตกรรม ทุนทางวัฒนธรรม มาผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษามาพัฒนาชุมชน ซึ่งคาดว่าจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ให้กับวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงกว่า
    11 ชุมชน เพิ่มรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์และการท่องเที่ยว เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า  87 ล้านบาท

•   เกษตรกรและธุรกิจเกษตร ด้วยการพัฒนาทักษะการบริหารจัดการอุตสาหกรรม (Industrialization) ลดความเสี่ยงในการประกอบอาชีพเชิงเดี่ยว ยกระดับชุมชน และสร้างรายได้ในท้องถิ่น ยกระดับเกษตรกรสู่การเป็นเกษตรอุตสาหกรรม รวมทั้งพัฒนาทักษะการค้าออนไลน์ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าและสร้างรายได้ให้กับภาคการเกษตร ผ่านกิจกรรมและโครงการ อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ใหม่ด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยีสมัยใหม่ การขยายผลงานวิจัย ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ต่อยอดสู่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงในเชิงพาณิชย์ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรแปรรูปที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยกำหนดเป้าหมายการพัฒนาธุรกิจเกษตร 100 กิจการ 100 ผลิตภัณฑ์ คาดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ลดต้นทุนการผลิตของ SMEs ยอดขายและรายได้เพิ่มขึ้นรวมกว่า 78 ล้านบาท

  • ประชาชน แรงงาน และบัณฑิตจบใหม่ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดอัตราการว่างงาน จากการปิดกิจการ การเลิกจ้าง รวมถึงสร้างโอกาสทางอาชีพให้แก่กลุ่มเป้าหมาย ด้วยการปรับ-เพิ่ม-สร้างทักษะใหม่ (Reskill-Upskill-New Skill) สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพอิสระ เพื่อเป็นทางเลือกในการทำธุรกิจ รองรับแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชน ลดปัญหาความแออัดของชุมชนเมืองในระยะยาว ผ่านกิจกรรมและโครงการ อาทิ การจัดทำองค์ความรู้เรื่องรูปแบบธุรกิจชุมชนที่มีศักยภาพในประกอบการ การอบรมออนไลน์ (Online) หัวข้อพัฒนาการประกอบการธุรกิจชุมชน พร้อมกันนี้ กสอ. จะเร่งพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ และต้นแบบตัวอย่างการประกอบธุรกิจ เพื่อเสริมศักยภาพในทักษะที่อยู่ในความต้องการ ณ ปัจจุบัน อาทิ ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างอุตสาหกรรม หรือ ทักษะในเชิงวิชาชีพ โดยจะพัฒนาทักษะการบริการจัดการ เพื่อเพิ่มโอกาสสำหรับคนว่างงาน โดยอาศัยความพร้อมในด้านต่าง ๆ จากท้องถิ่น วิสาหกิจชุมชน ผนวกเข้ากับองค์ความรู้ที่แต่ละคนสำเร็จการศึกษา คาดว่าจะสามารถพัฒนาไปสู่การมีงานทำได้กว่า 6,000 คน และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 185 ล้านบาท

            นอกจากนี้สำหรับ “คนว่างงาน” ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในช่วงที่ผ่าน กสอ. ได้มีการพัฒนาโครงการพิเศษเพื่อสร้างโอกาสเป็นผู้ประกอบการ โดยจัดอบรมออนไลน์การประกอบธุรกิจ การเขียนแบบจำลองธุรกิจออนไลน์ และแผนทดสอบการตลาด ซึ่งกำหนดคนเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 2,500 คน และยังคาดว่าไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ของที่อบรม ซึ่งจะสามารถพัฒนาเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ได้ทันที คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 75 ล้านบาท โดยธุรกิจที่คาดว่าจะสามารถพัฒนาเป็นผู้ประกอบการได้ อาทิ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ หุ่นยนต์ โลจิสติกส์ ดิจิทัล การแพทย์และสาธารณสุข แฟชั่น เกษตรแปรรูป ฯลฯ

อย่างไรก็ดี มาตรการฟื้นฟูจะนำพาภาคอุตสาหกรรมให้ผ่านพ้นภาวะวิกฤต เสริมภูมิคุ้มกันที่จำเป็นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยคาดว่าจะสามารถสร้างมูลทางเศรษฐกิจกว่า 800 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยการขับเคลื่อนและกระตุ้น GDP ในกลุ่มเอสเอ็มอีของประเทศ ภายในระยะ 90 วัน และนอกจากมาตรการเร่งด่วนดังกล่าว กสอ. ยังได้เตรียมนำเสนอมาตรการฟื้นฟูในระยะยาวจาก พรก.เงินกู้ฯ เพื่อเสริมแกร่งให้กับผู้ประกอบการอย่างเต็มความสามารถต่อไป นายณัฐพล กล่าว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อ “ปั้น ปรุง เปลี่ยน เอสเอ็มอีให้ดีพร้อม (DIProm)” เคียงข้างผู้ประกอบการสู่ความเป็นปกติใหม่ (New Normal) ได้ที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2202 202-4414 ถึง 18 หรือติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ www.facebook.com/dipindustry และ www.dip.go.th