ส่องการทำงาน นักรบเสื้อกาวน์ “หมอติ๋ง” แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์ ทีมโฆษก ศบค.

ส่องการทำงาน นักรบเสื้อกาวน์ “หมอติ๋ง” แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์ ทีมโฆษก ศบค.

จากวิกฤตสถานการณ์โรค COVID-19 ที่ระบาดไปทั่วโลกนั้น “นักรบเสื้อกาวน์” กลายเป็นที่กล่าวขานถึงความทุ่มเท เสียสละ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางด้านการแพทย์ ในการช่วยเหลือผู้ป่วยให้หายและปลอดภัยจากโรคดังกล่าวอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

เช่นเดียวกับ “หมอติ๋ง” พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ รองผู้อำนวยการ (ด้านบริหาร) กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ศิษย์เก่าวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต รุ่น 6 ที่ได้มีโอกาสร่วมเป็นส่วนหนึ่งในทีมโฆษก ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.

“หมอติ๋ง” เล่าว่า ช่วงที่โรคโควิด-19 เข้ามาในประเทศไทยเมื่อต้นปี 2563 ช่วงนั้นพอมีเคสแรก มีผู้ป่วยยืนยันที่เป็นคนจีนเข้ามาทางสนามบินสุวรรณภูมิ กระทรวงสาธารณสุข จึงนัดประชุมระดับผู้บริหารที่กระทรวงทุกวัน ซึ่งตัวเองได้มีโอกาสเข้าประชุมกับทางทีมของกรมควบคุมโรค และผู้บริหารกระทรวง กระทั่งมีการจัดการเรื่องข้อมูลให้เป็นศูนย์เดียวในการที่จะส่งออกไปยังประชาชน จึงได้มีการจัดตั้ง ศบค. ซึ่งเป็นศูนย์ที่รวบรวมสถานการณ์โรค และข้อมูลในการจัดการดำเนินการโรคทั้งหมดเพื่อแถลงที่เดียว

“เมื่อมีการจัดตั้งศูนย์นี้ขึ้นมา โดยมีท่านนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการศูนย์ ท่านเลือกคุณหมอทวีศิลป์ เป็นโฆษก ซึ่งตัวเราเองเคยร่วมงานกับคุณหมอทวีศิลป์เมื่อปลายปีที่ผ่านมา หลังจากครั้งนั้นได้มีโอกาสเจอท่าน ตามที่ประชุมบริหารเรื่อยๆ คุณหมอทวีศิลป์จึงชวนให้เข้าไปช่วยทีมในเรื่องการจัดการเรียบเรียงข้อมูล” หมอติ๋ง เล่าที่มา

พญ.สุมนี วัชรสินธุ์

สำหรับความยากง่ายในการทำงาน หมอติ๋ง บอกต้องมีการเตรียมข้อมูลในแต่ละวัน ตั้งแต่มี ศบค. โดยสิ่งที่ทีมโฆษกได้รับมอบหมายนั้น ต้องแถลงสถานการณ์ที่ทันต่อเหตุการณ์ทุกวัน และต้องเป็นข้อมูลที่ทันสมัยที่สุด ซึ่งในการที่จะแถลงข้อมูลไม่ได้มีเฉพาะสถานการณ์โรคจากทางกระทรวงสาธารณสุข แต่ต้องรวบรวมมาตรการทั้งหมดที่รัฐบาลจัดทำเพื่อที่จะมานำเสนอด้วย เพราะฉะนั้นส่วนประกอบของข้อมูลที่จะแถลงไม่ใช่แค่โรคแต่จะมีมาตรการ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีประมาณ  8 หน่วยงาน เธอจึงต้องขมวดรวมเป็นเนื้อหาในการแถลงต่อวันให้ทันก่อนเวลาแถลงคือ 11.30 น. เป็นส่วนที่ทำอยู่ทุกวัน นอกจากเรียบเรียงสถานการณ์โรคแล้ว ต้องเรียบเรียงมาตรการต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่และผลที่เกิดขึ้น

“ความยากง่ายในแต่ละวัน คือ เรื่องเวลา ถ้าข้อมูลมาใกล้ๆ ข้อมูลผู้ป่วย ผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่จะตัดยอดในช่วงเที่ยงคืนของวันที่จะแถลง และเราจะได้ชุดข้อมูลประมาณตีสาม-ตีสี่  ก่อนนำข้อมูลชุดนั้นมารวมกับสถานการณ์ของโรคว่า ตอนนี้เราอยู่อันดับที่เท่าไรของโลก เดิมทีก่อนที่จะมีศูนย์ ศบค. ใช้ข้อมูลตัดตอน 7 โมงเช้าของทุกวัน และประชุม 07.30 น. ที่กระทวงสาธารณสุข แต่พอมีศูนย์ ศบค.  จึงต้องนำตัวเลขที่ใกล้ที่สุดคือเวลา 10.30 น. ดังนั้น ต้องหาข้อมูลตรงนี้มาใส่ให้ทัน และมาตรการทั้งหมดต้องปรับเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งข้อมูลจะมาจากการที่ทำร่วมกันหลายหน่วยงาน เมื่อแถลงไปแล้วจะต้องมีความชัดเจนถูกต้อง กราฟไหนที่แสดงไปแล้วประชาชนดูรู้เรื่อง หน้าที่ของเราคือ การสกรีนข้อมูลให้คุณหมอทวีศิลป์ จริงๆ คือ คุณหมอทวีศิลป์ท่านเก่งอยู่แล้ว บางทีเรายังมีสกรีนหลุด ท่านก็จับได้ และแก้ไขทันตลอด” หมอติ๋ง เล่าก่อนยิ้มกว้าง

และว่า คุณหมอทวีศิลป์ ท่านเป็นจิตแพทย์ ส่วนตัวเธอ เป็นหมอที่ดูแลทางด้านโรคไม่ติดต่อ แต่เนื่องจากพื้นฐานความเป็นหมอ จึงต้องทำความเข้าใจในการสื่อสารว่า จะสื่อสารออกไปอย่างไรให้เข้าใจง่ายและถูกต้อง ความยากอีกอย่าง ก็คือ ต้องจัดการกับข้อมูลให้เสร็จภายในเวลา 11.30 น. และเป็นข้อมูลที่ต้องไม่ช้ากว่าสื่อ

เมื่อถามถึงความประทับใจที่ได้เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในทีม ศบค. หมอติ๋ง บอกว่า

“เรื่องแรก คือ ประทับใจคุณหมอทวีศิลป์ค่ะ นอกจากเรื่องวิชาการ เรื่องการสื่อสารให้กระชับ เข้าใจง่าย และสอดแทรกเรื่องราวต่างๆ ที่สำคัญในเวลาจำกัด แล้วคือคุณหมอทวีศิลป์เป็นคนดีค่ะ  ซึ่งนอกจากตัวเองแล้วทีมงานทุกคนคอนเฟิร์มค่ะว่าดีจริง เป็นคนดีสำคัญกว่าทุกสิ่ง เหมือนที่พระเคยเทศน์สอนไว้นะคะ ส่วนเรื่องที่สองคือ การทำงานนอกระบบสาธารณสุขในเรื่องของสื่อครั้งนี้ เป็นความประทับใจคือเราได้มีโอกาสที่ได้ไปทำงานกับนอกวงการบ้าง ได้รู้ว่าเขามีระบบในการทำงานอย่างไร มีการจัดการแบบไหน เนื่องจากทีมที่ไปอยู่เป็นรายการสด ก่อนหน้านี้ส่วนตัวเคยไปรายการบันทึกเทปซึ่งสามารถเตรียมตัวได้  แต่เมื่อเป็นรายการสดทุกคนพร้อมที่จะช่วยกันหมด ได้ทำงานร่วมกับกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งนอกจากจะเป็นคนที่อยู่ในระดับปฏิบัติการแล้ว ยังมีระดับผู้อำนวยการ สำนัก และอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ รองอธิบดี ซึ่งคนกลุ่มนี้จะทำงานไว พอร้องขออะไรจะช่วยทันที เป็นมืออาชีพจริงๆ สามารถทำให้งานดำเนินไปอย่างราบรื่น ทำให้ได้รับรู้ในโลกอื่นๆ ที่ไม่ใช่โลกทางการแพทย์มากขึ้น”

 

หมอติ๋ง ยังย้อนประวัติส่วนตัวให้รู้จักกันมากขึ้นด้วยว่า เป็นแพทย์ จากมหาวิทยาลัยรังสิต  รุ่น 6 จบมาแล้วกว่า 20 ปี ช่วงนั้นที่เรียนเป็นรุ่นแรกๆ ที่คนจบยังไม่มาก ข้อดีของการเรียนรุ่นแรกๆ คือ พอคนน้อยแล้วงานหนักทำให้มีความอดทนกับการทำงานหนัก ต้องขอบคุณมหาวิทยาลัยและอาจารย์ ที่เปิดโอกาสให้เราได้เรียนหมอ และจบมาได้มีโอกาสรับใช้สังคม

“ตั้งแต่เรียนจบมาก็เป็นหมอรักษาคนไข้มาโดยตลอด จนกระทั่งก่อนหน้าที่จะเข้ามาทำงานในกระทรวงสาธารณสุข หมอได้ไปทำงานอยู่ในโรงพยาบาล ในแผนกเวชบำบัดวิกฤต ดูแลคนไข้ไอซียู หลังจากทำงานในโรงพยาบาลมาระยะหนึ่งจึงเข้ามาอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งงานในกระทรวงแตกต่างกับงานในโรงพยาบาล จะเป็นงานที่เป็นนโยบายส่วนใหญ่ ไม่ได้เป็นงานเซอร์วิส แต่ไม่ว่าจะเป็นงานในโรงพยาบาลหรือในกระทรวง ก็ได้ดูแลประชาชน ได้รับใช้สังคม ได้ทำเพื่อคนอื่นมากกว่าตัวเอง” หมอติ๋ง บอกอย่างนั้น