ติวเตอร์หนุ่ม ใช้หลักเปรียบเทียบ – ให้ความรู้ “ตู้ปันสุข = ตู้กับข้าว” ลดปัญหาคนกวาดของ

ติวเตอร์หนุ่ม ใช้หลักเปรียบเทียบ - ให้ความรู้
ติวเตอร์หนุ่ม ใช้หลักเปรียบเทียบ - ให้ความรู้ "ตู้ปันสุข = ตู้กับข้าว" ลดปัญหาคนกวาดของ

ติวเตอร์หนุ่ม ใช้หลักเปรียบเทียบ – ให้ความรู้ “ตู้ปันสุข = ตู้กับข้าว” ลดปัญหาคนกวาดของ

ตู้กับข้าว – ยังคงเป็นกระแสมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับ “ตู้ปันสุข” ที่ล่าสุด มีข่าวว่ากลุ่มคนบางส่วน ที่ไม่เข้าใจถึงหลักการที่แท้จริงของการทำตู้ปันสุข พากันไปกวาดของในตู้ช่วยเหลือนี้จนหมด ไม่เหลือแบ่งให้ผู้เดือดร้อนรายอื่นๆ จนกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ของชาวโซเชียล

“เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” ได้พูดคุยกับ คุณไอซ์ปรเมธ อุดมสินานนท์ อายุ 39 ปี ติวเตอร์สถาบันกวดวิชาพี่จุฬา บขส.สุรินทร์ และนักวิชาการอิสระ อีกหนึ่งในกลุ่มคนที่สานต่อการตั้งตู้ปันสุข เขาเล่าให้ฟังว่า ตู้ปันสุข มีที่มาจาก กลุ่ม “อิฐน้อย” ซึ่งเป็นกลุ่มคนต้นคิดและได้ตั้งตู้ในกรุงเทพฯ เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ที่ตกงานหรือได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้

คุณไอซ์-ปรเมธ อุดมสินานนท์ อายุ 39 ปี ติวเตอร์สถาบันกวดวิชาพี่จุฬา บขส.สุรินทร์ และนักวิชาการอิสระ

“ผมเปิดโรงเรียนสอนติววิชาครับ แต่ต้องปิดลงชั่วคราวตามมาตรการปิดพื้นที่ ก็เลยได้รับผลกระทบจากโควิดเหมือนกันเพราะก็ปิดมาได้ 2 เดือนแล้ว ภาระค่าเช่าตึกมันก็ยังมี เงินเก็บเราก็น้อยลงทุกวัน หันมาทำขนมขายมันก็ยังมีรายได้เข้ามาบ้าง ก็เข้าใจดีเลยว่าการไม่มีเงินจะกิน มันเป็นยังไง เลยอยากช่วยเหลือ ตอนแรกว่าจะทำบะหมี่ไปแจกแหละ แต่พอเห็นโพสต์เกี่ยวกับตู้ปันสุขในกลุ่มเฟซ ตู้ปันสุขในสุรินทร์ ก็คิดว่าตู้นี่มันดีกว่า ทำง่ายและเร็วกว่า ก็เลยตัดสินใจกำเงินพันห้า ไปซื้อตู้กับข้าวแล้วมาตั้งวันรุ่งขึ้นเลย แล้วก็บอกกล่าว กระจายข่าวให้เพื่อนๆ ในกลุ่ม” คุณไอซ์ เล่า

แน่นอนว่าการนำของมาแจกให้ฟรีโดยให้หยิบเอง ย่อมมีการเอารัดเอาเปรียบกันเกิดขึ้น คุณไอซ์ เล่าว่า ตนก็มียืนดูเหมือนกันว่าทำไมเขาถึงทำแบบนั้น และด้วยความที่เป็นนักการศึกษาที่ทำงานกับคน จึงคิดว่าต้องทำให้คนเกิดความเข้าใจถึงหลักการที่แท้จริงของการทำตู้ปันสุข

ครอบครัวตกงาน แต่ที่บ้านยังพอมีกิน ที่ผันตัวจากผู้รับมาเป็นผู้ให้

“คือตู้ปันสุข มันเป็นแนวคิดของต่างประเทศ ที่บ้านเรายังไม่เคยมี มันเลยเป็นนวัตกรรมทางความคิดที่คนยังไม่เคยรู้กัน และด้วยความที่วัฒนธรรมบ้านเรา การทำบุญแจกของ ก็จะเอามากองๆ ไว้แล้วก็รุมหยิบรุมแจก คนที่เขารับแจกก็กลัวของจะหมด ซึ่งตู้ปันสุขหลักมันไม่ใช่แบบนั้น ก็เลยคิดว่า โอเค เราต้องให้ความรู้ ทำให้เขาเข้าใจ และปรับพฤติกรรมกันก่อน” คุณไอซ์ ว่ามาอย่างนั้น

โดยมีหลักการง่ายๆ ของตู้ปันสุข นั่นคือ “ตู้กับข้าวของชุมชน” ซึ่งตู้กับข้าวนั้นไม่เหมือนกับโรงครัว หรือโรงทาน ที่เวลาคนเข้ามาแล้วจะกอบโกยไปกินให้หมดเพียงอย่างเดียว แต่ตู้กับข้าว จะเป็นตู้ที่มีสิ่งของอยู่ตลอดเวลา เมื่อหิวก็สามารถเปิดกินได้ และเมื่อกินไม่หมดก็เอาของมาเก็บไว้ในที่เดิม และเมื่อกินอิ่มแล้วก็ให้พอ

คุณป้าท่านหนึ่งที่ตกงานจากพิษ COVID-19 ผันตัวจากผู้รับ มาเป็นผู้ให้

“จริงๆ การทำแบบนี้มันมีปัญหาหมดทุกตู้แหละ แต่ส่วนตัวผมคิดว่า จะโทษคนที่โกยของไปหมด มันก็ไม่ได้ เพราะคนเรายังยึดติดกับการเทกระจาด กลัวของหมดนั่นนี่ สิ่งสำคัญคือ เราต้องรู้ว่าคนที่จะมาเอาของ เขาเป็นคนกลุ่มไหน เขาไม่เข้าใจก็ให้ความรู้เขาไป และเชิญชวนให้เขามาช่วยกันรักษาตู้ ทำให้ยั่งยืนขึ้น ตู้กับข้าวมันจะไม่มีค่า ถ้ามันไม่มีกับข้าว ฉะนั้น ตู้มันจะไม่เกลี้ยง ถ้าคนเข้าใจว่าหลักจริงๆ แล้ว มันคือแบบไหน พอเขาเข้าใจแล้ว จากที่เคยเป็นผู้รับ ก็จะเปลี่ยนมาเป็นผู้ให้ จากผู้ให้ก็จะเป็นผู้พิทักษ์ ที่คอยดูและให้ความรู้คนอื่นๆ ตู้มันก็จะยั่งยืน มันไม่มีคำว่าไม่เหมาะหรอก แค่เราต้องปรับพฤติกรรมและเข้าใจเนื้อแท้ของมันเสียก่อน พอเข้าใจแล้วมันก็จะมีประโยชน์ขึ้น ตู้ปันสุขมันเป็นสิ่งที่ดีสำหรับคนที่ไม่มีจะกินจริงๆ ก็อยากให้ทุกคนเข้าใจและมาช่วยแบ่งปันเรื่องราวน่ารักๆ และมาช่วยกันทำ” คุณไอซ์ กล่าวทิ้งท้าย

หญิงลูกจ้างรายวัน ที่เคยมารับข้าวสาร มานั่งช่วยกรอกข้าวสารให้คนอื่นๆ
คุณลุงที่ทำอาชีพเก็บของเก่าขาย ผู้รับ ที่ผันตัวมาเป็น ผู้พิทักษ์