“โป้ง โมเดิร์นด็อก” เอาดีธุรกิจเกษตร ทำปุ๋ยไส้เดือน ออร์เดอร์ล้น ผลิตแทบไม่ทัน

“โป้ง โมเดิร์นด็อก” เอาดีธุรกิจเกษตร ทำปุ๋ยไส้เดือน ออร์เดอร์ล้นผลิตแทบไม่ทัน

มือกลองวงโมเดิร์นด็อก “โป้ง-ปวีณ สุวรรณชีพ” เอาดีด้านเกษตร ลุยทำธุรกิจฟาร์มเลี้ยงไส้เดือน เลี้ยงเอง ส่งเอง สร้างแบรนด์ปุ๋ยอินทรีย์ “คืนดิน” กระแสการตอบรับดีเกินคาด ลูกค้าสั่งจองเเทบจะผลิตไม่ทัน 

โดย โป้ง-ปวีณ สุวรรณชีพ ระบุผ่านเฟซบุ๊กคืนดินว่า  ไม่ได้มีพื้นฐานการเกษตรเลยแม้แต่นิดเดียว เรื่องของเรื่องเริ่มต้นปี 2018 ด้วยความที่เป็นคนขี้เสียดาย เนื่องจากบ้านที่อยู่มีต้นไม้ใหญ่หลายต้น พออยากจะมีสวนสวยๆ มันก็ต้องคอยดูแล จัดการ ตัดแต่งเก็บกวาดใบไม้กิ่งแก่ที่หักแห้งร่วงลงมาที่พื้นและสนามหญ้า ในสัปดาห์หนึ่งจะต้องใช้ถุงขยะใบใหญ่ๆ เพื่อใส่ใบไม้แห้งพวกนี้ไปทิ้งเยอะมากๆ นี่ยังไม่นับรวมขยะครัวเรือนอีกเน่าเหม็นอีกจำนวนหนึ่ง เลยเริ่มๆ มองหาวิธีที่จะมาจัดการกับขยะพวกนี้ด้วยตัวเอง จะได้ไม่ต้องซื้อถุงขยะอีกต่อไป

ทำการบ้านอยู่พักใหญ่ มันก็พอเห็นหลายหนทางที่จะสามารถลดปริมาณขยะได้ ถ้าลอง Search ว่า “กำจัดขยะ” จะมีผลลัพธ์และวิธีการออกมาให้เลือกมากมายหลายแบบ

วิธีที่โผล่มาแรกๆ เหมือนจะง่ายสุดเลย คือใช้เงินเข้าฟาด เครื่องกำจัดขยะยี่ห้อต่างๆ ลอยเด้งขึ้นมาเยอะแยะไปหมด ดูแล้วก็สะดวกจริงๆ แค่เปิดฝา เทๆๆ ขยะทุกอย่างเข้าเครื่อง อีกวันสองวันได้เป็นปุ๋ยดำๆ ออกมาเลย แต่ราคาเครื่องก็อยู่ที่ตัวเลข 5 หลักโน่น พอทำการบ้านต่อไปก็พบว่าเครื่องพวกนี้ไม่สามารถจัดการกับปริมาณและชนิดของขยะที่เรามีได้ทั้งหมด (อาจจะได้ แต่คงต้องซื้อ 10 เครื่อง) แถมยังต้องมีการซื้อตัวหัวเชื้อมาเติมเป็นระยะเพื่อให้ระบบของเครื่องทำงานได้อย่างสมบูรณ์ กดเครื่องคิดเลขดูแล้วเอาเงินซื้อเครื่องไปซื้อถุงขยะสัปดาห์ละ 3 ถุงได้อีก 110 ปี!!!

อีกวิธีคือการเอาขยะไปหมัก ผลที่ได้จากการหมักก็คือปุ๋ยหมัก วิธีหมักมีทั้งแบบกลับกอง (ต้องคลุกเคล้าผสมกันบ่อยๆ) และไม่กลับกอง (ไม่ต้องคลุก แต่ต้องดูแลความชื้น) ด้วยความขี้เกียจก็เลือกวิธีแบบที่ทำงานน้อยสุด เททีเดียวจบ ไปทำการบ้านเพิ่มก็พอจะรู้ถึงปัจจัยสำคัญของการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุ มีส่วนประกอบสำคัญคือสัดส่วนของธาตุคาร์บอนและไนโตรเจน (C/N Ratio) ในขยะ ความชื้น อากาศ และจุลินทรีย์ ถ้าทุกอย่างที่พูดมาลงตัวเหมาะสม สองสามสัปดาห์ก็ได้ปุ๋ยเลย

ซื้อถังใบใหญ่มาทำบ่อหมักแบบที่ตำราเขาว่าไว้ จากทฤษฏีเล่าให้ฟังดูง่ายๆ คาร์บอนก็พวกของสีน้ำตาล ใบไม้แห้ง เศษกิ่งไม้เล็กๆ ฟาง ไนโตรเจนก็พวกของสีเขียวใบไม้สด ขยะครัวเรือน เศษผักผลไม้ เทๆ ใส่ผสมกันไป อัตราส่วน 2:1 โดยน้ำหนัก (อันนี้ก็มีหลายตำราอีก ไม่รู้จะเชื่อใครดี) ผ่านไปสองสัปดาห์เปิดถังมาจะนึกภาพเป็นดินดำๆ ปรากฏ…เหม็นหึ่ง หนอนยั้วเยี้ยเต็มทั้งถัง ได้…เอาใหม่อีกถัง…ใส่คาร์บอนเพิ่ม หมักทิ้งไว้นานขึ้น อีกเดือนเปิดมาทุกอย่างแทบจะอยู่ในสภาพเดิม ไม่มีอะไรย่อยสลายเลย ลองอยู่หลายแบบหลายเดือน จนหมดถังไปไม่รู้กี่ใบ กลายเป็นว่ามีขยะเพิ่มขึ้นมาอีกเยอะ ก็เลยพับโครงการถังหมักไป

จนวันหนึ่งเปิด Youtube ไปเจอคำว่า Vermicomposting เข้าไปดู แรกๆ รู้สึกขยะแขยงมาก อะไรวะนั่น ยุบยับไปหมด นั่งดูไปเรื่อยๆๆๆๆ เอ๊ะ ดูเหมือนวิธีนี้ไม่ต้องทำอะไรเลยนะ ลงทุนหลักร้อย ไม่ต้องดูแลมากมาย เหมือนจะตอบโจทย์ที่ตั้งไว้ ว่าแล้วก็ล้างถังหมักขยะทั้งหมดรอไว้เลย

เเละดูเหมือนว่า ไส้เดือน ดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่ดีสุดในตอนนั้น

ทำไมต้อง “ไส้เดือน” 01 (Intro)ก่อนอื่นต้องขอออกตัวไว้นิดนึงก่อนครับว่าตัวผมไม่ได้มีพื้นฐานการเกษตรเลยแม้แต่นิดเดียว…

โพสต์โดย คืนดิน เมื่อ วันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน 2020