เปิดตัว “ชุด PPE รุ่น เราสู้” ฝีมือคนไทย เตรียมจัดส่งล็อตแรก ภายใน พ.ค.นี้

เปิดตัว “ชุด PPE รุ่น เราสู้” ฝีมือคนไทย เตรียมจัดส่งล็อตแรก ภายใน พ.ค.นี้

ชุด PPE รุ่น เราสู้ – นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีและน่าภูมิใจที่ขณะนี้ประเทศไทยสามารถสร้างนวัตกรรมชุด PPE (Isolation Gown) รุ่น “เราสู้” ขึ้นมาใช้ได้เอง เป็นความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน

ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, องค์การเภสัชกรรม, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ผู้ประกอบการภาคเอกชน 13 แห่ง จากเดิมในช่วงแรกของการระบาดมีความกดดันอย่างมาก ใช้ความพยายามทุกด้านเพื่อจัดหาชุด PPE อุปกรณ์ป้องกันทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ ให้เพียงพอเพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ผู้บริหารทุกคนในกระทรวงสาธารณสุข ใจสู้ มีความเป็นเอกภาพ จึงหาวิธีบริหารจัดการให้ผ่านอุปสรรคทุกอย่างให้ได้ เดิมคาดการณ์ว่าจะต้องใช้ชุด PPE ถึง 20 ล้านชุดเพื่อรับมือการระบาดของโควิด-19 มาวันนี้สามารถผลิตชุด PPE รุ่น “เราสู้” ขึ้นมาเอง ประหยัดงบประมาณในการจัดซื้อจากต่างประเทศได้ถึง 10,000 ล้านบาท เงินที่ประหยัดได้เทียบกับการมีงบประมาณที่จะนำไปสร้างโรงงานผลิตวัคซีน อีกทั้งชุดที่ผลิตขึ้นใช้ซ้ำได้ถึง 20 ครั้ง ถ้าผลิต 10,000 ชุดจะทดแทนการใช้จำนวน 200,000 ชุดจากการนำเข้า จึงขอให้มั่นใจเพราะผ่านการรับรองมาตรฐานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ อย. แล้ว

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นวัตกรรมนี้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือกันเพื่อก้าวข้ามอุปสรรคในการผลิตชุด PPE และยังสะท้อนให้เห็นความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมการแพทย์ในประเทศไทย ที่เป็นก้าวแรกสู่การเริ่มต้นผลิตอุปกรณ์การแพทย์ที่มีมาตรฐาน ใช้เอง และมีความพร้อมรองรับการใช้งานได้อย่างเพียงพอ ส่งผลให้ขวัญและกำลังใจในการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ด่านหน้าดีขึ้นไปด้วย การสู้ศึกโควิด-19 มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า ชุด PPE (Isolation Gown) รุ่น “เราสู้” มีการทดสอบมาตรฐาน 3 เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย 1. เนื้อผ้า ต้องทนแรงดันน้ำได้ในระดับ 2  ระบายอากาศได้ดีและกันน้ำได้ด้วย ซึ่งได้ทดสอบจนผ่านมาตรฐาน 2. ตะเข็บรอยต่อ ซึ่งได้ทดสอบหลากหลายรูปแบบจนผ่านมาตรฐาน และ 3. การซักฆ่าเชื้อทำความสะอาดและใช้ซ้ำให้ได้ 20 ครั้ง จนมาวันนี้ อภ.ได้ลงจัดจ้าง 13 บริษัท ดำเนินการผลิตและจัดส่งจำนวน 44,000 ชุดภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ในราคาชุดละ 500 บาท เมื่อคิดเฉลี่ยการใช้งานต่อชุดใช้ได้ 20 ครั้ง เฉลี่ยค่าใช้จ่ายต่อครั้งอยู่ที่ 25 บาท หากซื้อจากต่างประเทศเฉลี่ยการใช้ต่อครั้ง 100 บาท นอกจากจะลดการใช้แล้วยังช่วยลดปริมาณขยะ เงินไม่รั่วไหลไปต่างประเทศและยังช่วยให้เกิดการจ้างงานในประเทศตามมาอีกด้วย

 

ที่มา สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข