กรมชลประทาน วาง 5 มาตรการบริหารน้ำฤดูฝน จัดสรรน้ำปลูกข้าวนาปี 16.79 ล้านไร่

กรมชลประทาน วาง 5 มาตรการบริหารน้ำฤดูฝน จัดสรรน้ำปลูกข้าวนาปี 16.79 ล้านไร่ วอนรอฟังกรมอุตุฯ ส่งสัญญาเข้าฤดูฝน จึงเริ่มเพาะปลูกข้าวนาปี

กรมชลประทาน – ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า มาตรการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนปี 2563 เพื่อให้ปริมาณน้ำมีเพียงพอสำหรับการใช้ตลอดฤดูฝนและเก็บกักไว้ใช้ในหน้าแล้งปี 2563/64 แบ่งเป็น 5 มาตรการ คือ

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน

1. การจัดสรรน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศให้เพียงพอตลอดทั้งปี

 2. ส่งเสริมการปลูกพืชฤดูฝนให้ใช้น้ำฝนเป็นหลักและใช้น้ำชลประทานเสริมกรณีฝนทิ้งช่วง

3. บริหารจัดการน้ำท่าให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยระบบชลประทาน

4. กักเก็บน้ำในเขื่อนให้มากที่สุด ไม่ให้ต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักน้ำต่ำสุด ตามช่วงเวลา เพื่อความมั่นคงด้านอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ

5. วางแผนป้องกันและบรรเทาอุทกภัย

​โดยแผนการจัดสรรน้ำและการปลูกพืชในฤดูฝนปี 2563 กรมชลประทานได้วางแผนบริหารจัดการน้ำต้นทุนและความต้องการน้ำในการเพาะปลูกทั่วประเทศไว้ปริมาณ 31,351.50 ล้าน ลบ.ม. เพื่อเพาะปลูก 27.61 ล้านไร่ แบ่งเป็นการทำนาปี 16.79 ล้านไร่ เพาะปลูกพืชไร่พืชผัก 0.54 ล้านไร่ และพืชอื่น 10.29 ล้านไร่

ทั้งนี้ เป็นการใช้น้ำในการเพาะปลูกในลุ่มเจ้าพระยา 11,664.94 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการเพาะปลูกทั้งหมด 10.57 ล้านไร่ แบ่งเป็นการทำนาปี 8.1 ล้านไร่ เพาะปลูกพืชไร่พืชผัก 0.13 ล้านไร่ พืชอื่น 2.34 ล้านไร่ และลุ่มน้ำแม่กลอง 4,768.89 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการเพาะปลูกทั้งหมด 2.42 ล้านไร่ แบ่งเป็น การทำนาปี 0.90 ล้านไร่  เพาะปลูกพืชไร่พืชผัก 0.22 ล้านไร่ และพืชอื่น 1.30 ล้านไร่

สำหรับข้อแนะนำในการเพาะปลูกข้าวนาปีในเขตชลประทาน แนะนำให้ปลูก มื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน ประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน พ.ค. 63 และเมื่อมีปริมาณฝนตกอย่างสม่ำเสมอในพื้นที่ เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการเติบโตของต้นข้าว การเพาะปลูกในฤดูฝนให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ควรใช้น้ำชลประทานเสริมหากเกิดกรณีฝนทิ้งช่วง หรือปริมาณฝนตกน้อยกว่าการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา โดยในภาคเหนือ จำนวน 17 จังหวัด คาดว่าจะมีการทำนาปีประมาณ 5.13 ล้านไร่ รวมทุ่งบางระกำในที่ดอน

ส่วนภาคกลางและภาคตะวันตกจำนวน 16 จังหวัด คาดว่าจะมีการทำนาปีประมาณ 5.86 ล้านไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 20 จังหวัด คาดว่าจะมีการทำนาปีประมาณ 3.48 ล้านไร่ และภาคตะวันออกจำนวน 8 จังหวัด คาดว่าจะมีการทำนาปีประมาณ 1.34 ล้านไร่

ขณะที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีจำนวน 8 จังหวัด คาดว่าจะมีการทำนาปีประมาณ 0.96 ล้านไร่ ให้เริ่มปลูกข้าวได้ตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค. 63 และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีจำนวน 6 จังหวัด คาดว่าจะมีการทำนาปีประมาณ 0.03 ล้านไร่ ได้มีการแนะนำให้ปลูกข้าวไปแล้วตั้งแต่ต้นเดือน ส.ค. 63

ดร.ทองเปลว กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ลุ่มเจ้าพระยาปีนี้มีน้ำต้นทุนน้อยไม่เพียงพอส่งน้ำให้ 12 ทุ่งเจ้าพระยาตอนล่างครอบคลุมพื้นที่ 1.145 ล้านไร่ ประกอบด้วยทุ่งฝั่งตะวันออก

1. ทุ่งเชียงราก

2. ทุ่งท่าวุ้ง

3. ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก

4. ทุ่งบางกุ่ม

5. ทุ่งบางกุ้ง

6. โครงการชลประทานรังสิตใต้

ส่วนทุ่งฝั่งตะวันตก  

7. ทุ่งบางบาล-บ้านแบน

8.ทุ่ป่าโมก

9. ทุ่ผักไห่

10. ทุ่งเจ้าเจ็ด

11. โครงการฯ โพธิ์พระยา

12. โครงการฯ พระยาบรรลือ  

“ปีนี้จึงจำเป็นต้องทำนาเหลื่อมเวลาเหมือนปี 2562 โดยการทำนาปีปีนี้ให้เริ่มทำนาเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งจะมีฝนสม่ำเสมอ และมีน้ำในพื้นที่เพียงพอต่อการเตรียมแปลงปลูกข้าว เพื่อให้ใช้น้ำฝนในการทำนาปีเป็นหลัก แต่น้ำในเขื่อนของกรมชลประทาน จะเสริมกรณีฝนทิ้งช่วง และหากชาวนาทำตามคำแนะนำของกรมชลประทานและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อเกิดความเสียหายต่อข้าวในนา ทั้งจากฝนแล้งหรือน้ำท่วม ภาครัฐจะจ่ายค่าชดเชยให้ตามระเบียบของทางการต่อไป”

ส่วนโครงการบางระกำโมเดล ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมายในเขตชลประทาน ในจังหวัดพิษณุโลกและสุโขทัย 2.65 แสนไร่ เมื่อต้นเดือน มี.ค. เริ่มมีการประชาสัมพันธ์การเตรียมเพาะปลูกข้าวนาปี, 15 มี.ค. 63 เริ่มส่งน้ำเข้าระบบชลประทาน, 1 เม.ย. 63 เริ่มเพาะปลูกข้าว31 ก.ค. 63 สิ้นสุดการส่งน้ำ, 1-15 ส.ค. 63 เป็นช่วงที่ต้องเก็บเกี่ยวหลังจากเก็บเกี่ยวเสร็จ และระหว่าง 15 ส.ค. 63-31 ต.ค. 63 เตรียมพื้นที่รองรับน้ำหลากปริมาณ 400 ล้าน ลบ.ม.