ช่างภาพหนุ่ม ชวนสร้าง “พื้นที่แห่งการให้” ช่วยคนตกงาน ที่นับวันมีแต่จะมากขึ้น

ช่างภาพหนุ่ม ชวนสร้าง “พื้นที่แห่งการให้” ช่วยคนตกงาน ที่นับวันมีแต่จะมากขึ้น 

จากสถานการณ์โควิด-19 ที่สร้างผลกระทบกับคนทั่วโลก ประเทศไทยเอง ก็เช่นกัน หลายหน่วยงานระดมทุนเพื่อช่วยเหลือกันในภาวะวิกฤต ทั้งความช่วยเหลือเบื้องต้นเช่นการแจกข้าวปลาอาหาร หน้ากากอนามัย อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น

และ คุณวสันต์ วณิชชากร ช่างภาพมืออาชีพ มากประสบการณ์  นับเป็นอีกหนึ่ง “ฟันเฟือง” เล็กๆ ที่ทุ่มเทสุดตัว  ในบทบาทเรื่องนี้  ที่ผ่านมาเขาพยายามระดมทุนจากเพื่อนในเฟซบุ๊กและผู้ติดตามได้มากกว่า 5  แสนบาทนำไปซื้อ หน้ากาก N95 3,000 อัน ชุด PPE และ ชุดหมี  30 ชุด บริจาคให้ 99 โรงพยาบาลกับอีก 1 ศูนย์ดับไฟป่า และยังเหลือเงินอีกราว 7 หมื่นบาท ไว้สนับสนุนโรงทานและช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด

คุณวสันต์ วณิชชากร ช่างภาพมืออาชีพ

คุณวสันต์ เล่าให้ฟังว่า ช่วงเวลาที่จัดหาของนั้น ตนได้ทำการสั่งจองและจ่ายมัดจำสินค้าจำเป็นไปล่วงหน้า แต่ต่อมากลับมีหนังสือจากผู้ประกอบการบางรายชี้แจงมาว่า รัฐบาลประกาศห้ามนำเข้าหน้ากากอนามัย N95 และชุด PPE ป้องกันเชื้อไวรัสโควิด 19 รวมทั้งเครื่องวัดไข้ และเครื่องช่วยหายใจ ทำให้ผู้ประกอบการหลายแห่งกักตุนสินค้า อัพราคาขึ้นหลายเท่า

“มีหลายที่ หลอกให้รอ นัดแล้วไม่ส่งมอบของทั้งที่ต้องขับรถข้ามจังหวัด แต่ยังดีว่า สามารถหาของได้ครบตามจำนวนเงินที่ได้รับบริจาคมา จนสามารถทยอยส่งของให้กับโรงพยาบาลที่ร้องขอมา ”คุณวสันต์ บอกอย่างนั้น

นอกจากนี้ เขายังใช้ช่องทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ในการให้เพื่อนและผู้ติดตาม “ฝากร้าน” เพื่อจำหน่ายสินค้าที่จำเป็นในช่วงที่ทุกคนต้องทำมาหากิน โดยได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก โดย คุณวสันต์ บอกว่า แม้จะเป็นช่องทางเล็ก ๆ เมื่อเทียบกับสื่อหลัก และผู้ที่มีชื่อเสียงที่มีผู้ติดตามหลายล้านคนก็ตาม แต่ในยามที่ทุกคนเดือดร้อน ต้องช่วยกัน ขออนุโมทนาบุญกับผู้ร่วมบริจาคทุกคน ที่ได้มาร่วมด้วยช่วยกันในครั้งนี้

นอกจากนี้ คุณวสันต์ ยังได้เชิญชวนทุกพื้นที่ ทุกอำเภอ ทุกหมู่บ้าน ชุมชนช่วยกันคิด ช่วยกันต่อยอด ช่วยกันสร้าง Giving area หรือ “พื้นที่แห่งการให้” เพื่อเตรียมตัวรองรับ วิกฤตที่จะเกิดขึ้นเกี่ยวกับปากท้องของประชาชน คนที่ตกงานถูกเลิกจ้าง คนหาเช้ากินค่ำ คนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งนับวันจะมากและหนักขึ้นเรื่อยๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

สำหรับแนวคิดการสร้าง “พื้นที่แห่งการให้” นี้ คุณวสันต์ บอกว่า ก่อนหน้านี้ สมเด็จพระสังฆราช เคยทรงพระบัญชาไว้ว่า ให้วัดที่มีควาตั้งโรงทานให้เป็นพื้นที่ช่วยคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด หรืออาจเป็นโรงเรียนในชุมชน ซึ่งแต่ละชุมชน จะมีวัดและโรงเรียนในพื้นที่อยู่แล้ว วัดมีโรงทาน ส่วนโรงเรียนมีโรงอาหาร โดยมีฝ่ายบริหาร จิตอาสาหรือเจ้าหน้าที่ ครู อสม. เข้ามาร่วมวางแผน จัดการในการดำเนินงาน การทำอาหาร จัดระเบียบ คัดกรอง จัดคิว จัดระยะห่างเข้าแถวในรับแจกอาหาร แล้วนำกลับไปทานบ้าน อาหารอาจได้จากผู้ใจบุญที่นำมาช่วยคนละเล็กละน้อย หรือให้ทุนมา

“ช่วงแรกอาจจะน้อยแต่หากว่าได้รับการประชาสัมพันธ์ออกไป คิดว่าในแต่ละวัน จะมีผู้ใจบุญที่มองเห็นความเดือดร้อนของผู้ที่ได้รับผลกระทบจะเข้ามาร่วมช่วย ร่วมมือ ร่วมใจกัน เพราะคนไทยไม่เคยทิ้งกัน ไม่ว่าวิกฤตการณ์ในครั้งไหนที่ผ่านมา อยากให้เราช่วยกันคิดต่อยอด เพื่อดูแลคน ดูแลพื้นที่ของตัวเอง” คุณวสันต์ ทิ้งท้าย