ม.พะเยาสั่งข้าวปีละ 20 ตัน ใช้ในสถาบัน แนะหน่วยงานรัฐ-เอกชนซื้อจากชาวนาโดยตรง

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2559 ศ.พิเศษ ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา(มพ.) กล่าวว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์ราคาข้าวตกต่ำที่สุดในรอบหลายปี ทำให้ชาวนาทั่วประเทศได้รับความเดือนร้อนอย่างหนัก ปัญหาราคาข้าวที่เกิดขึ้นมีจุดเริ่มต้นของปัญหาตั้งแต่ต้นทางการเพาะปลูกถึงหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งข้าวล้นตลาดในช่วงเวลาหนึ่ง ปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้ทำความร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวอินทรีย์แม่จุน ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มกันของชาวนาในพื้นที่ อ.จุน จ.พะเยา ซึ่งปลูกข้าวหอมมะลิ 105 ในพื้นที่กว่า  100  ไร่  ทาง มพ.ได้รับซื้อข้าวปีละกว่า 20 ตัน กก.ละ 40 บาท เพื่อนำไปประกอบอาหารให้บุคลากร นิสิตและผู้ใช้บริการของ มพ.

ศ.พิเศษ ดร.มณฑล กล่าวต่อว่า ทั้งนี้สามารถมั่นใจได้อย่างเต็มที่ในคุณภาพและความปลอดภัยของข้าวดังกล่าว ว่าไม่มีสารเคมีปนเปื้อน ซึ่ง มพ.มีบุคลากรและนิสิตรวมถึงผู้ที่มารับบริการในสถาบันจำนวนมากหลายหมื่นคน ดังนั้นการที่มหาวิทยาลัยได้เข้าไปรับซื้อข้าวจากชาวนาโดยตรง ทั้งการติดต่อตรงกับครอบครัวชาวนาหรือผ่านตัวแทนกลุ่มชาวนาที่รวมกลุ่มกันในท้องถิ่น เป็นการสร้างระบบและกลไกในการรักษาเสถียรภาพของราคาข้าวให้เหมาะสมต่อผู้บริโภคและเป็นธรรมต่อชาวนา

ศ.พิเศษ ดร.มณฑล กล่าวอีกว่า หากมหาวิทยาลัย และหน่วยงานรัฐหรือเอกชนทั่วทั้งประเทศ กำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจนขององค์กรและผลักดันให้สามารถช่วยรับซื้อข้าวโดยตรงจากกลุ่มชาวนาในท้องถิ่น ก็จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบและกลไกการกำหนดราคาข้าวที่เป็นธรรมและได้ข้าวคุณภาพ ที่สำคัญคือจุดเริ่มต้นของระบบการผลิตข้าวคุณภาพดี ราคาดี  คือการเริ่มต้นระบบการผลิตที่กำหนดขนาดการเพาะปลูกตามความต้องการของผู้รับซื้อได้ล่วงหน้า จึงทำให้เกิดความมั่นใจที่จะพัฒนาคุณภาพและระบบการผลิตข้าวให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะความต้องการข้าวอินทรีย์ที่มีเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก ซึ่งทั้งหมดนี้คือการพัฒนาทั้งคุณภาพข้าว คุณภาพระบบการเพาะปลูกและคุณภาพชีวิตชาวนาอย่างยั่งยืน  ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่มุ่งสร้างรากฐานของประเทศให้เข้มแข็งแล้วจึงขยายผลสู่ภายนอก

“เราเห็นสัญญาณและแนวโน้มของปัญหาที่ได้เริ่มขึ้นมาก่อนหน้านี้ จึงได้เข้าไปช่วยเหลือรับซื้อข้าวจากชาวนาโดยตรงในราคาที่เป็นธรรม และสนับสนุนการรวมกลุ่มกันของชาวนาผู้ปลูกข้าวในท้องถิ่นให้เป็นวิสาหกิจชุมชมที่เข้มแข็ง รวมทั้งมีความร่วมมือเพื่อสร้างความมั่นใจการรับซื้อข้าวอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เพื่อเป็นการรับประกันรายได้ระยะยาวให้ชาวนา เพื่อแสดงน้ำใจในการช่วยเหลือกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับชาวนาในท้องถิ่น และส่งเสริมให้นักวิจัยมุ่งเน้นการลงพื้นที่ค้นหาโจทย์วิจัยที่เป็นปัญหาของชาวนา เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ตรงประเด็นด้วย” ศ.พิเศษ ดร.มณฑล กล่าว

 

ที่มา มติชนออนไลน์