เรา(ต้อง)ไม่ทิ้งกัน! แพทย์แผนไทย วอนจัดสรรตำแหน่งให้ด้วย ชี้เสียสละไม่แพ้กัน

เรา(ต้อง)ไม่ทิ้งกัน! แพทย์แผนไทย วอนจัดสรรตำแหน่งให้ด้วย ชี้เสียสละไม่แพ้กัน

จากกรณี คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 อนุมัติบรรจุข้าราชการ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจบุคลากรสาธารณสุข สู้ “โควิด-19” ในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 24 สายงาน และนักศึกษาที่จบใหม่อีก 5 สายงาน รวม 45,684 ตำแหน่ง

จากมติดังกล่าว เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรตำแหน่ง เนื่องจากมีบุคลากรที่ตกสำรวจไม่ได้เสนอเข้าร่วมการอนุมัติในครั้งนี้ หนึ่งในนั้นคือ แพทย์แผนไทย ซึ่งมีจำนวนกว่า 3,000 คน จึงทำให้เกิดการเรียกร้องของแพทย์แผนไทยทั้งประเทศ ต่อการจัดสรรตำแหน่งในครั้งนี้

ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร ประธานยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร กล่าวว่า ล่าสุดทราบว่าผู้บริหารในกระทรวงหลายฝ่าย ได้ร่วมกันหารือและหาแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดสรรการบรรจุตำแหน่งข้าราชการ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ รวมถึงแพทย์แผนไทยที่เดิมได้หล่นไปจากการนำเสนอ ครม.  โดยส่วนตัวที่ได้มีการทำงานด้านสมุนไพร เห็นว่า ในสถานการณ์วิกฤต โควิด-19 บุคลากรทุกสายงานล้วนมีความสำคัญด้วยกันทั้งหมด หากจะมีการพิจารณาถึงความเสียสละ ความเสี่ยง หรือในเชิงการปฏิบัติหน้าที่แล้ว บุคลากรที่ต้องสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ การวินิจฉัย คัดกรองโรค แพทย์แผนไทยเองก็มีบทบาท ที่ร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่กับพี่น้องกระทรวงสาธารณสุข เช่นกัน

ซึ่งการทำงานในบทบาทวิชาชีพแพทย์แผนไทย ในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ ไม่แตกต่างอะไรกับการออกศึกสมัยโบราณที่ต้องเผชิญกับโรคระบาดของโรคห่า ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก สมัยนั้นเราไม่มีแม้อุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย มีเพียงองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยและตัวยาสมุนไพรที่หาได้ในบ้าน  เช่นเดียวกับในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่เราไม่มียาเฉพาะในการรักษา โควิด-19 หลายโรงพยาบาลเล็งเห็นแล้วว่า การพึ่งตนเอง โดยการใช้สมุนไพรพื้นบ้านยังคงเป็นคำตอบที่พึ่งได้

หากจะถามว่าแพทย์แผนไทย ทำอะไรได้บ้าง มีบทบาทอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้ หากมองในมิติของการทำงานสามารถแบ่งได้เป็น  1. แพทย์แผนไทยเป็นส่วนที่เติมเต็มส่วนที่ขาดในระบบสุขภาพได้ สามารถเป็นส่วนเสริมกำลังในการให้บริการผู้ป่วย คัดกรองเชื้อด่านหน้า เพื่อให้กระจายกำลังบุคลากรไปยังจุดอื่นที่สำคัญต่อได้  2. เป็นส่วนสนับสนุนองค์ความรู้ที่เรามีความเชี่ยวชาญ เพื่อประโยชน์ต่อผู้ป่วย และประชาชน รวมถึง บุคลากรในโรงพยาบาลได้ เช่น ตัวอย่างที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้มีการพัฒนาสูตรยาสมุนไพร ที่มีข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์และเป็นประโยชน์ต่อสถานการณ์ที่ต้องสู้กับเชื้อไวรัส ทำเป็นอาหารและเครื่องดื่ม แจกจ่ายให้ประชาชน ผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อ และเจ้าหน้าที่ได้ใช้เพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน ให้ความรู้ประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ ให้สามารถพึ่งตนเองได้ด้วยสมุนไพรใกล้ตัวในยามวิกฤตฉุกเฉิน หรือที่ โรงพยาบาลสังคม จ.หนองคาย ได้เริ่มมีการจ่ายตำรับยามหาพิกัดตรีผลา ให้กับเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย เพื่อเป็นการช่วยป้องกันและลดโอกาสการติดเชื้อ และเตรียมยาตำรับสมุนไพรบำรุงปอดไว้รองรับผู้ป่วยอีกด้วย ทั้งนี้ยังคงมีอีกหลายสถานพยาบาลที่องค์ความรู้ทางวิชาชีพแพทย์แผนไทยได้เข้าไปร่วมมีบทบาทและสนับสนุนการทำงานสู้โควิด-19

ดร.สุภาภรณ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ในอนาคต หากการระบาดเพิ่มจำนวนมากขึ้น วัตถุดิบหรือตัวยาแผนปัจจุบันที่จะสามารถรักษาไม่เพียงพอ จะทำอย่างไร และหากประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นต้นทางในการส่งวัตถุดิบการผลิตยาให้ประเทศไทยไม่ส่งมาให้ เนื่องจากต้องใช้ดูแลประชากรในประเทศของเขาที่มีมากเป็นอันดับสองของโลก ในวันนั้นประเทศไทยจะทำอย่างไร หากเราขาดความมั่นคงทางยา วันนี้เราโชคดีที่มีภูมิปัญญาไทย มีองค์ความรู้สั่งสมมานาน มีการใช้ยาสมุนไพร เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ถ้าในอนาคตเราไม่มียาจริงๆ เรายังพึ่งตนเองได้ด้วยการใช้องค์ความรู้และตัวยาที่เรามี การส่งเสริมให้มีแพทย์แผนไทยในระบบ หรือการบรรจุข้าราชการตำแหน่งแพทย์แผนไทยในวาระสำคัญเช่นนี้ อนาคตเราจะสามารถสร้างฐานที่เข้มแข็งเช่นเดียวกับจีนได้ ในยามวิกฤตสามารถบูรณาการความรู้ของศาสตร์ดั้งเดิมและตะวันตก เพื่อให้เกิดประโยชน์และความมั่นคงทางสุขภาพ ความมั่นคงทางยาของประเทศได้

“หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการพิจารณาจัดสรรตำแหน่งข้าราชการให้กับแพทย์แผนไทยในครั้งนี้ จะเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงให้กับประเทศได้ อีกทั้งยังช่วยสร้างความมั่นใจและความมั่นคงกับบุคลากรที่กำลังร่วมเสียสละเพื่อสู้สงครามเชื้อไวรัสตอนนี้” ดร.สุภาภรณ์ กล่าว